posttoday

อียูขู่จำกัดการส่งออกวัคซีนให้ประเทศนอกกลุ่ม

27 มกราคม 2564

อียูระส่ำหลังผู้ผลิตวัคซีนส่งของช้า ขู่จำกัดการส่งออกวัคซีนไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก

สเตลลา คีเรียคีเดส คณะกรรมาธิการยุโรปด้านสาธารณสุขเผยว่า สหภาพยุโรป (อียู) อาจจำกัดการส่งออกวัคซีนต้าน Covid-19 ไปยังประเทศอื่นที่อยู่นอกกลุ่ม อาทิ อังกฤษ หลังจากสองผู้ผลิตวัคซีนอย่างแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และไฟเซอร์ (Pfizer) ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามที่ตกลงกับอียู ทำให้การฉีดวัคซีนของสหภาพยุโรปไม่เป็นไปตามแผนเดิม

“ในอนาคต ทุกบริษัทที่ผลิตวัคซีนต้านCovid-19 ในสหภาพยุโรปต้องแจ้งล่วงหน้าว่าจะส่งออกวัคซีนไปยังประเทศที่สามเมื่อใด ยกเว้นการส่งออกเพื่อเหตุผลด้านมนุษยธรรม” คีเรียคิเดสระบุในทวิตเตอร์

ด้าน อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเผยระหว่างการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ว่า “ยุโรปลงทุนหลายพันล้านยูโรเพื่อช่วยในการพัฒนาวัคซีน และตอนนี้บริษัทต้องส่งมอบวัคซีนแล้ว พวกเขาต้องรักษาคำพูด”

การกดดันผู้ผลิตวัคซีนเกิดขึ้นขณะที่ยุโรปกำลังเผชิญปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศอื่น อาทิ อังกฤษและสหรัฐ ทั้งยังพบปัญหาเพิ่มหลังจากแอสตราเซเนกาแจ้งเมื่อวันศุกร์ว่าจะส่งวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด และอาจส่งได้น้อยกว่าที่ตกลกันไว้ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาบริษัท ไฟเซอร์ ของสหรัฐแจ้งกับทางอียูเช่นกันว่า จะส่งวัคซีนให้อียูน้อยกว่าจำนวนที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากต้องปรับปรุงโรงงานผลิตที่ตั้งอยู่ในประเทศเบลเยียม

ความล่าช้าจากทั้งสองบริษัทอาจทำให้แผนการฟื้นตัวจากโรคระบาดของอียูช้ากว่าที่กำหนด จึงสร้างความไม่พอใจแก่คณะกรรมาธิการยุโรปจนเกิดการกดดันและจำกัดการส่งออกวัคซีนดังกล่าว

นอกจากนี้เรื่องราวยังบานปลายไปถึงเยอรมนี เมื่อ เยนส์ ชปาห์น รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีเสนอให้จำกัดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในอียูเช่นกัน โดยย้ำว่าการจำกัดการส่งออกไม่เกี่ยวกับการวางตำแหน่งให้ “อียูต้องมาก่อน” แต่เกี่ยวกับการทำให้แน่ใจว่ายุโรปจะได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรม

“ในความคิดฉันมันสมเหตุสมผลที่จำกัดการส่งออก ซึ่งหมายความว่าวัคซีนที่ออกจากยุโรปมีใบรับรอง เราจะได้รู้ว่ากำลังผลิตอะไร อะไรกำลังจะออกจากยุโรป และออกไปไหน เพื่อให้มีการกระจายอย่างเป็นธรรม” ชปาห์นเผยกับสถานีโทรทัสน์ ZDF ของเยอรมนี

ด้าน บูรัค คาซาซ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ของสหรัฐมองว่า การล่าช้า 1-2 สัปดาห์ไม่ใช่เรื่องใหญ่ “แต่ถึงอย่างนั้นผมก็เข้าใจว่าการล่าช้าย่อมหมายถึงชีวิต”

Photo by JOHN THYS / POOL / AFP