posttoday

ออสเตรเลียขยี้กูเกิลโหนข่าวจนรวยถึงเวลาต้องจ่ายเงิน

26 มกราคม 2564

ย้อนไทม์ไลน์สำคัญเกิดอะไรขึ้นกับกูเกิล-ออสเตรเลีย และจะส่งผลอย่างไรต่อโลก

1. ทุกวันนี้สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักข่าวของออสเตรเลียกำลังประสบปัญหาในการอยู่รอด โดยสื่อสิ่งพิมพ์ของออสเตรเลียมีรายได้จากโฆษณาลดลงถึง 75% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ขณะที่กูเกิลเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่มีรายได้ค่าโฆษณาจำนวนมาก โดยเงินค่าโฆษณาออนไลน์ในออสเตรเลียตกเป็นของกูเกิลและเฟซบุ๊กไปแล้วประมาณ 81%

2. โดยในปีที่แล้วกูเกิลทำรายได้ในออสเตรเลียถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐแต่จ่ายภาษีให้กับออสเตรเลียประมาณ 45 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

3. การศึกษาในปี 2019 พบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมางานสื่อสารมวลชนในออสเตรเลียหายไปประมาณ 3,000 ตำแหน่ง ขณะที่กูเกิลรวมถึงเฟซบุ๊กได้กอบโกยรายได้จากสื่อเหล่านั้นโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ สำหรับเนื้อหาข่าว

3. ส่งผลให้เมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 จอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของออสเตรเลียแถลงว่าจะเรียกเก็บค่าเนื้อหาข่าวที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลรวมถึงเฟซบุ๊กนำไปเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งจะออกเป็นกฎหมายในอีกไม่ช้าเพื่อความยุติธรรมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันรวมถึงคุ้มครองผู้บริโภค โดยกูเกิลและเฟซบุ๊กจะต้องเจรจาเรื่องค่าใช้จ่ายกับสำนักข่าวออสเตรเลียก่อนที่จะนำเนื้อหาข่าวนั้นๆ ไปเผยแพร่

4. หลังจากนั้นไม่นานหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission - ACCC) ก็ได้ออกร่างกฎหมายซึ่งเป็น "กฎการเจรจาส่วนแบ่งค่าเนื้อหากับสำนักข่าว" โดยร่างกฎหมายดังกล่าวถูกนำขึ้นพิจารณาในรัฐสภาออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคม ขณะที่รัฐบาลอีกหลายประเทศก็กำลังตระหนักถึงการเรียกเก็บเงินจากบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ข้ามชาติในประเทศอยู่เช่นกัน เพื่อความเป็นธรรมต่อบริษัทในประเทศเอง

5. กูเกิลได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่าทางบริษัทไม่เห็นด้วยกับกฎดังกล่าว เนื่องจากกูเกิลเองก็ได้มีการแบ่งรายได้กับสำนักข่าวอยู่แล้วโดยกูเกิลยืนยันว่าได้เป็นพันธมิตรกับสำนักข่าวในออสเตรเลียหลายแห่งและมีข้อตกลงมูลค่ารวมมหาศาล กูเกิลยังช่วยให้เว็บไซต์ของสำนักข่าวมีผู้ชมรวมหลายพันครั้งต่อปี และกล่าวว่ารัฐบาลออสเตรเลียควรส่งเสริมความร่วมมือเช่นนี้มากกว่าการออกกฎหมายที่ไม่มีเหตุผล

6. อย่างไรก็ตามหากรัฐสภาออสเตรเลียมีมติผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวกูเกิลจะต้องเจรจาจ่ายเงินค่าเนื้อหาที่นำไปลงบนแพลตฟอร์มของตนให้กับสำนักข่าวเจ้าของเนื้อหานั้นๆ โดยรัฐบาลกลางของออสเตรเลียจะทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและตัดสินใจเกี่ยวกับการจ่ายเงิน

7. ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรออสเตรเลียออกกฎหมายกำหนดให้สื่อออนไลน์ต้องจ่ายเงินค่าเนื้อหาดังกล่าว ขณะที่ยังไม่มีการลงมติจากวุฒิสภาเนื่องจากกำลังดำเนินการอภิปรายร่างกฎหมาย

8. ในเดือนมกราคมกูเกิลยังคงปฏิเสธที่จะจ่ายค่าเนื้อหาให้กับสำนักข่าวออสเตรเลียและได้ทดลองปิดกั้นเว็บไซต์ของสำนักข่าวออสเตรเลียหลายแห่งในผู้ใช้บริการจากออสเตรเลีย 1% เพื่อประเมินผลกระทบด้านข้อมูลข่าวสารและกล่าวว่าจุยุติการทดลองในเดือนกุมภาพันธ์

9. ด้านฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้กูเกิลยุติการปิดกั้นทั้งหมดและจ่ายค่าเนื้อหาให้กับสำนักข่าวออสเตรเลียในการนำเนื้อหาเหล่านั้นไปเผยแพร่ลงบนแพลตฟอร์มของกูเกิล

10. เมล ซิลวา ผู้บริหารบริษัทกูเกิลประจำประเทศออสเตรเลียกล่าวว่าหากรัฐบาลยังคงยืนยันที่จะบังคับให้ทางบริษัทต้องจ่ายเงินค่าเนื้อหา กูเกิลอาจไม่มีทางเลือกอื่นและจำเป็นที่จะต้องยุติการให้บริการในออสเตรเลีย

11. ขณะที่ด้านนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ไม่กลัวคำขู่ของกูเกิลแต่อย่างใด และยืนยันว่าจะผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวต่อไปให้ผ่านในรัฐสภาภายในปีนี้และมีผลบังคับใช้จริงในที่สุด

12. ซึ่งหากสามารถทำได้ออสเตรเลียจะเป็นประเทศผู้นำของโลกที่สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ผลิตเนื้อหาสื่อต่างๆ ในประเทศและผลักดันให้ประเทศอื่นๆ ดำเนินนโยบายใกล้เคียงกัน เพื่อเปิดทางให้บริษัทสื่อสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่เสียไปจากการปล่อยให้เนื้อหาของตนถูกแชร์ในโซเชียลมีเดียหรือเสิร์ชเอนจินแบบฟรีๆ 

Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP