posttoday

ราคาวัคซีนของไทยแพงกว่าชาวบ้าน จริงหรือ?

25 มกราคม 2564

คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องใช้คำตอบยาวๆ อาศัยแค่ข้อเท็จจริงที่กระชับและรวบรัด ยกเว้นว่าประเด็นนี้มักถูกทำให้เป็นการเมืองจนคุยกันไม่รู้เรื่อง

1. ราคาวัคซีนในที่นี้จะว่าเฉพาะราคาของ AstraZeneca (ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในประเทศไทย) ราคาในสหภาพยุโรปอยู่ที่โดสละ 2.16 เหรียญสหรัฐ ราคาในฝรั่งเศสอยู่ที่ 3 เหรียญ ราคาในประเทศไทยอยู่ที่ 5 เหรียญ

2. โดยเฉลี่ยแล้ว AstraZeneca จะขายในราคา 3 เหรียญสหรัฐถึง 4 เหรียญสหรัฐต่อโดสซึ่งเป็นราคาถูกเพียง 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 10 ของราคาวัคซีนบริษัทอื่นๆ

3. สาเหตุที่ขายถูกกว่าเพราะ AstraZeneca ประกาศจะไม่แสวงหากำไรในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ตามสัญญากับบริษัทที่ทำข้อตกลงกัน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ดีลคือ Siam Bioscience ของไทยด้วย

4. ดังนั้นราคาของ AstraZeneca จะไม่แพงไปกว่า 4 เหรียญสหรัฐ ยกเว้นไทยกับแอฟริกาใต้ที่จะขายโดสละถึง 5.25 เหรียญสหรัฐถือเป็นกรณีที่สร้างควาามสงสัยพอๆ กับไทย แต่คนไทยกลับไม่สงสัยกัน

5. สาเหตุที่แอฟริกาใต้ต้องซื้อแพงเป็นสาเหตุเดียวกับที่ไทยซื้อในราคาเฉลี่ยซึ่งไม่แพง คำตอบก็คือที่แอฟริกาใต้ต้องซื้อแพงกว่าชาวบ้านก็เพราะประเทศอื่นมีส่วนในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน แต่แอฟริกาไม่มีส่วน

6. คนที่ตอบคำถามนี้คืออันบัน พิลเลย์ (Anban Pillay) รองผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขแห่งชาติของแอฟริกาใต้ที่บอกกับสื่อท้องถิ่น Business Day ว่า "คำอธิบายที่เราได้รับว่าทำไมประเทศรายได้สูงต่างๆ ถึงได้ราคาที่ต่ำกว่าก็คือ พวกเขาลงทุน (การวิจัยและพัฒนา) ดังนั้นจึงได้ราคาส่วนลด"

7. เรายังไม่ทราบว่าสาเหตุใดราคาวัคซีน AstraZeneca ของไทยจึงมีราคาเท่ากับแอฟริกาใต้ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าที่เราไม่ได้ส่วนลด ก็เพราะเราไม่มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนหรือไม่?

8. เมื่อมาดูที่ประเด็นนี้จะพบว่า สหภาพยุโรปมีความร่วมมือกับ AstraZeneca มาก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่เสียอีกและไม่ได้ร่วมมือกับบริษัทนี้แห่งเดียวเท่านั้น ผ่านโครงการต่างๆ เช่น IMI

9. ความริเริ่มนวัตกรรมเวชภัณฑ์ หรือ IMI เป็นความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปกับอุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ในสหภาพยุโรปเพื่อเร่งพัฒนายารุ่นใหม่ หนึ่งในโครงการที่ได้งบจากความร่วมมือนี้คือ EU-PEARL อันเป็นโครงการทดลองทางคลินิก เช่น การพัฒนาวัคซีนโควิดที่ AstraZeneca ร่วมในโครงการด้วย

10. AstraZeneca ยังได้รับเงินทุนจากรัฐบาลสหรัฐ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (เกือบ 30,000 ล้านบาท) ในการผลิตวัคซีนให้และทันทีที่ได้เงินรัฐบาลสหรัฐก็ดีลวัคซีนล่วงหน้ามาได้ 400 ล้านโดสทั้งๆ ที่ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ (เดือนพฤษภาคม 2020)

11. กรณีของรัฐบาลสหราชอาณาจักรคล้ายกับกรณีของรัฐบาลไทย รัฐบาลสหราชอาณาจักรให้ทุน 65.5 ล้านปอนด์ (หรือราว 2,700 ล้านบาท) ให้กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ลงนามในข้อตกลงการออกใบอนุญาตทั่วโลกกับ AstraZeneca สำหรับการผลิตและการค้าวัคซีนบริษัทและจะใช้กับผู้คนในสหราชอาณาจักรก่อนหากสำเร็จ

12. เทียบกับรัฐบาลไทยให้เงินสนับสนุน Siam Bioscience เพียง 600 ล้านบาท (หรือแค่ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ) ในการพัฒนาวัคซีนที่บริษัทนี้รับผลิตต่อจาก AstraZeneca และยังจะรับเทคโนโลยีมาด้วย ในกรณีของไทยจึงไม่ได้ให้เงินวิจัยและพัฒนา ราคาจึงค่อนข้างสูง แต่บริษัทเอกชนสัญชาติไทยจะได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีมา

13. ในระยะยาวไทยอาจจะได้วัคซีนที่ถูกลง และเพื่อนบ้านของไทยคือเมียนมา, ลาว กัมพูชา และเวียดนามจะได้วัคซีนในราคาที่สมเหตุสมผลด้วยจากคำกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้อดีคือเราจะขายวัคซีนให้เพื่้อนบ้านได้ และช่วยให้รอบๆ บ้านเราปลอดจากไวรัสด้วย

14. การอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาจึงไม่ใช่การอุดหนุนเปล่าๆ แต่เป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ยิ่งลงทุนมากวัคซีนที่ได้ก็ยิ่งถูกลงและกระจายไปถึงประชาชนได้กว้างขวางขึ้น มันจึงเป็นการยื่นหมูยื่นแมวแบบหนึ่งนั่นเอง

15. การเปิดเผยราคายังไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้ง่ายๆ เพราะต้องพิจารณาเงื่อนไขที่ประเทศนั้นๆ ทำกับบริษัที่ดีลด้วย กรณีที่น่าสนใจคือราคาวัคซีนของ AstraZeneca ที่อยู่ในรายงานนี้มาจากทวีตของเอวา เดอ เบลเกอร์ (Eva De Bleeker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงบประมาณของเบลเยี่ยมซึ่งทวีตแล้วก็ลบไปในเวลาไม่นาน คำถามก็คือทำไมถึงถูกลบไปอย่างรวดร็ว?

16. กรณีนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่าราคาวัคซีนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเป็นความลับที่แต่ละประเทศที่ไปดีลกับบริษัทต่างๆ จะไม่ยอมเผยเพราะมีข้อตกลงที่เกี่ยวพันถึงภาคธุรกิจด้วย การกระทำของรัฐมนตรีเบลเยี่ยมจึงถูกเรียกว่าเป็น Blunder หรือความผิดพลาดมหันต์โดยไม่รู้ตัว เมื่อรู้ตัวจึงต้องรีบลบไปแต่ไม่ทันแล้วเพราะมีคนแคปเอาไว้เรียบร้อย

17. หากวัดจากคำตอบของเจ้าหน้าที่แอฟริกาใต้แล้ว ประเทศช่วยที่ลงทุนในบริษัทวัคซีนมากยิ่งได้ราคาที่ถูกมาก ส่วนประเทศที่ลงทุนน้อยหรือไม่มีส่วนเลยจะยิ่งได้ราคาสูง เว้นแต่จะได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัทในราคาที่ถูกลง

18. ตัวอย่างเช่น แอฟริกาใต้ที่ไม่มีส่วนกับการวิจัยของ AstraZeneca จึงได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่นๆ และสูงกว่าไทยเล็กน้อย (แต่เมื่อรวมหลายล้านโดสแล้วราคาไม่น้อยเลย) แต่โชคดีที่ AstraZeneca พยายามไม่ทำกำไรในช่วงการระบาดใหญ่ทำให้ราคาไม่สูงกว่านี้

19. ส่วน Pfizer/BioNTech แอฟริกาใต้จะได้รับส่วนลดถึง 30% ทำให้ราคาลดลงมาถูกกว่าที่สหภาพยุโรปดีลไว้เสียอีกคือ 10 เหรียญสหรัฐต่อโดส แลห่งข่าวเผยกับ Business Insider ว่าราคานี้พิจารณาจากสถานะของแอฟริกาใต้ที่เป็นประเทศรายได้ปานกลางและวัคซีนนี้ถูกนำมาทดลองในแอฟริกาใต้ด้วย

20. หากใช้มาตรฐานนี้ ราคาวัคซีนทั่วโลกไม่มีทางเหมือนกัน จะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับ 1. ประเทศนั้นๆ ลงทันวิจัยและพัฒนาวัคซีนมากแค่ไหน 2. ประเทศนั้นๆ อยู่ในกลุ่มรายได้ประเภทไหน 3. ประเทศนั้นยอมตกลงเงื่อนไขกับบริษัทหรือไม่ เช่น ยอมทำการทดลองวัคซีนในประเทศ ไทยเองก็ต้องขึ้นกับเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งใน 3 ข้อนี้

โดย กรกิจ ดิษฐาน