posttoday

โควิดทำเศรษฐีรวยหนัก คนไม่มีกินยิ่งจนกระจาย

25 มกราคม 2564

องค์การอ็อกแฟมชี้มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันได้ถึงครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วงโควิด-19 ขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกกำลังตกงาน

ตามรายงานขององค์การอ็อกแฟม (Oxfam) เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในเกือบทุกประเทศ

ผลการสำรวจขององค์การอ็อกแฟมซึ่งจัดทำโดยนักเศรษฐศาสตร์ 295 คนจาก 79 ประเทศทั่วโลกพบว่า 87% ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศของตน "เพิ่มขึ้น" หรือ"เพิ่มขึ้นอย่างมาก" อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรค

นอกจากนี้ยังเผยว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ชายที่ร่ำรวยที่สุด 10 อันดับแรกของโลกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันได้ถึงครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ผู้คนหลายร้อยล้านคนต้องตกงาน

ซึ่งตามรายงานชี้ให้เห็นว่าระบบเศรษฐกิจที่มีหัวเรือใหญ่เอื้อให้กลุ่มคนที่ร่ำรวยมหาศาลสามารถรักษาความร่ำรวยไว้ได้ ท่ามกลางภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจอันเลวร้ายที่สุด

ขณะที่ผู้คนอีกหลายพันล้านคนรวมถึงผู้ที่อยู่แนวหน้าในการเผชิญกับโรคระบาด อาทิ พนักงานร้านค้า เจ้าหน้าที่สาธารณสุข พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนัก และ 3 ใน 4 ของคนงานทั่วโลกไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองทางสังคม เช่น เงินประกันเมื่อเจ็บป่วย หรือสวัสดิการว่างงาน

โดยขณะที่ 1,000 อันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกสามารถชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคได้ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน แต่คนยากจนอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นถึง 14 เท่าหรือคิดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอันเลวร้าย

ตามรายงานยังระบุว่าหากเก็บภาษีชั่วคราวสำหรับกำไรส่วนเกินจากบริษัทระดับโลก 32 แห่งที่ได้กำไรมากที่สุดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคอาจได้เงินถึง 104,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020 ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการจัดสวัสดิการให้แก่คนว่างงานทุกคน รวมทั้งเป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่เด็กและผู้สูงอายุทุกคนในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง

นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว อ็อกแฟมระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสยังชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางเชื้อชาติอีกด้วย โดยกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายขอบกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งพวกเขามีแนวโน้มที่จะถูกผลักให้ต้องเผชิญกับความยากไร้ และถูกกีดกันออกจากการดูแลรักษาทางสาธารณสุข

กาบรีลา บุชเชอร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การอ็อกแฟมกล่าวว่า "ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดมีความรุนแรงไม่ต่างจากไวรัส ความเหลื่อมล้ำอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้แต่นโยบายของรัฐสามารถสร้างทางเลือกได้ โดยรัฐบาลทั่วโลกต้องคว้าโอกาสนี้เพื่อสร้างให้เกิดความเท่าเทียมและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น"

"การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำเป็นหัวใจสำคัญของการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเงินช่วยเหลือเยียวยา สวัสดิการต่างๆ รวมถึงวัคซีน และต้องมั่นใจว่าบุคคลหรือองค์กรที่ร่ำรวยที่สุดมีส่วนแบ่งภาษีอย่างยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะผู้มีสิทธิพิเศษเพียงไม่กี่คนเท่านั้น" บุชเชอร์กล่าว

Photo by ALEXIS HUGUET / AFP