posttoday

เจาะความจริง วัคซีนโควิดขายไม่เอากำไรจริงหรือ?

19 มกราคม 2564

ทำไมบางบริษัทถึงไม่รีบเร่งผลิตทั้งๆ ที่เป็นเจ้าธุรกิจ แล้วทำไมบางบริษัทถึงยอมไม่เอากำไรในช่วงวิกฤต? ที่นี่มีคำตอบ

ตอนนี้ชื่อของบริษัทต่างๆ เหล่านี้คงเข้าหูเข้าตาชาวโลกทุกวันในฐานะความหวังการผลิตวัคซีนโควิด-19

ไม่ว่าจะเป็น Pfizer-BioNTech หรือ Oxford-AstraZeneca หรือ Moderna จะเป็น Sinovac และ Sinopharm หรือ Gamaleya รวมถึงบริษัท Johnson & Johnson ที่เราคุ้นกันในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมากกว่า แต่ก็เป็นเจ้าใหญ่ในด้านอุตสาหกรรมยากับเครื่องมือแพทย์ด้วย

แต่บริษัทต่างๆ ที่เราได้ยินชื่อกันบ่อยมากในฐานะผู้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ในวงการวัคซีนเลยยกเว้น Pfizer

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านวัคซีน วัดกันที่รายได้ (ตัวเลขจากปี 2019) บริษัทอันดับ 1 ของวงการนี้คือ GSK อันดับที่ 2 คือ Merck อันดับที่ 3 คือ Sanofi อันดับที่ 4 คือ Pfizer อันดับที่ 5 คือ Novavax ส่วนที่เหลือจนถึงอันที่ 10 แทบไม่มีชื่อของบริษัท "หน้าใหม่" ที่ผลิตวัคซีนโควิด-19 อยู่เลย เว้นแต่ Sinovac ในอันดับที่ 8

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าก่อนที่จะมีโควิด-19 การผลิตวัคซีนไม่ใช่รายได้หลักของบริษัทยายักษ์ใหญ่ แต่รายได้หลักมาจากการผลิตยารักษาโรคต่างๆ มากกว่า

เช่น ราคายารักษามะเร็งตกเดือนละ 5,454 - 45,004 เหรียญสหรัฐ (ข้อมูลจากรอยเตอร์ส) เทียบกับราคาวัคซีนซึ่งมีราคาสูงสุดคือ Pneumococcal 13-valent อยู่ที่ 202 เหรียญสหรัฐต่อโดส (ข้อมูลขององค์การอาหารและยาสหรัฐ) ราคาต่ำสุดคือวัคซีนไข้หวัดใหญ่แค่โดสละหลักสิบเหรียญฯ

อีกตัวอย่างคือ ยอดขายยา Sovaldi ที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซีโดยบริษัทแห่งหนึ่ง ขายเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น รายได้ก็สูงกว่า 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเข้าไปแล้ว เทียบกับยอดขายวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ทั่วโลกโดยบริษัทยาทั้งหมดมีรายได้รวมกันแค่ 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อไป

เทียบเป็นตัวเลขรายได้แล้วยอดขายวัคซีนมีสัดส่วนแค่ 2% - 3% ของรายได้หลายล้านล้านของอุตสาหกรรมยา

พูดกันตามตรงแล้ววัคซีนไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่สร้างผลกำไร ทำให้ผู้ผลิตวัคซีนมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ จากปี 1967 ซึ่งเป็นยุคที่มนุษยชาติเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มีผู้ผลิตวัคซีน 26 ราย แต่เมื่อถึงปี 1980 เหลือ 17 ราย

นีล ฮอลซีย์ ศาสตราจารย์ด้านโรคติดเชื้อในเด็กและสุขภาพระหว่างประเทศที่ Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health บอกกับ The Atlantic ว่า "ตามประวัติศาสตร์แล้ววัคซีนถูกผลิตด้วยราคาที่ต่ำและขายเอากำไรที่ต่ำมาก"

นี่เป็นสถานการณ์ก่อนการเกิดโควิด-19 หากเป็นหลังจากนี้ล่ะ?

มีกรณีศึกษาของบริษัท Novavax ซึ่งไม่กี่เดือนก่อนที่โลกจะพบกับการระบาดใหญ่ บริษัทเล็กๆ แห่งนี้เกือบจะล่มสลายเพราะการทดลองวัคซีนที่ผิดพลาดทำให้ราคาหุ้นตกลงต่ำกว่า 1 เหรียญสหรัฐติดต่อกัน 30 วัน

แต่หลังจากเกิดการระบาดใหญ่ ทำให้เกิดการพัฒนาวัคซีนอีกตัวหนึ่งเพื่อสู้กับโควิด-19 บริษัทได้รับเงินจากรัฐบาลกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐและองค์การไม่หวังผลกำไรอื่นๆ เพื่อพัฒนาวัคซีน ราคาหุ้นของบริษัทพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 178 เหรียญสหรัฐเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2020 (ราคาวันที่ 15 มกราคม 2021 อยู่ที่ 127 เหรียญสหรัฐ)

กรณีของ Novavax เท่ากับว่าวัคซีนโควิด-19 มาช่วยต่อลมหายใจของบริษัทโดยแท้ซึ่งเป็นกรณีพิเศษจริงๆ แต่กับบริษัทอื่นๆ ที่ปกติมีรายได้หลักจากการขายยาทั่วไป การผลิตวัคซีนจะช่วยให้มีกำไรมากขึ้นหรือไม่?

นักวิเคราะห์จาก Morgan Stanley บอกว่า สองบริษัทที่จับมือกันผลิตวัคซีน Pfizer-BioNTech จะมีรายได้จากการขายวัคซีนโควิดทั่วโลกที่ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เทียบกับรายได้ของ Pfizer ตลอดทั้งปี 2019 แล้วอยู่ที่ 16,273 ล้านเหรียญสหรัฐหรือถ้า Pfizer จะแบ่งรายได้ครึ่งๆ กับ BioNTech รายได้จากการขายวัคซีนโควิดก็ยังถือว่ามากเกือบจะครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดอยู่ดี ดังนั้นวิกฤตครั้งนี้จึงเป็นโอกาสทำเงินของ Pfizer

แต่บริษัทอื่นๆ ไม่เหมือน Pfizer บางบริษัทประกาศว่าจะไม่แสวงหากำไรจากการฉีดวัคซีนโควิด เช่น AstraZeneca ที่ประกาศจะไม่แสวงหากำไรในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทผลิตวัคซีนของบราซิลที่ดีลกัน (ซึ่ง AstraZeneca ยังดีลกับ Siam Bioscience ของไทยด้วย)

AstraZeneca ยังจะขายในราคา 3 เหรียญสหรัฐถึง 4 เหรียญสหรัฐต่อโดสซึ่งเป็นราคาถูกเพียง 1 ใน 5 ถึง 1 ใน 10 ของราคาวัคซีนบริษัทอื่นๆ เว้นแต่เมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุดลงแล้วบริษัทจะขายในราคาที่สูงขึ้น หมายว่าจะทำกำไรจากมันนั่นเอง เพียงแต่การระบาดสิ้นสุดแล้ว การทำกำไรก็คงน้อยลงไปด้วย

ดังนั้นเราจึงมีกรณีศึกษา 3 กรณีคือ Novavax ที่ธุรกิจรอดตายเพราะวัคซีนโควิด Pfizer ที่จะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำเพราะวัคซีนตัวนี้ และ AstraZeneca ที่ยอมขาดรายได้เพื่อมนุษยธรรม

มาถึงคำถามว่าทำไมบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นเจ้าธุรกิจวัคซีนมาแต่เดิมถึงเชื่องช้านักในการผลิตวัคซีนโควิด-19? เป็นเพราะจริงๆ แล้ววัคซีนเป็นธุรกิจไม่ทำกำไรจริงหรือไม่?

GSK กับ Sanofi เริ่มการพัฒนาวัคซีนแล้วแต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมผลกาครทดสอบให้ผลไม่น่าพอใจจึงต้องชะลอการจำหน่ายออกไปก่อน

แต่ประเด็นนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหานัก เพราะโทมัส บรอยเออร์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ผลิตวัคซีนของ GSK บอกว่าบริษัทเน้นแนวทางช้าแคต่ชัวร์ เน้นไปที่เทคโนโลยีที่มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มประชากรไม่กว้างขวางที่สุด

เขาบอกกับรอยเตอร์ว่า "เราต้องการเป็นที่หนึ่งในกลุ่ม" บริษัทอื่นผลิตได้ก่อนก็ยินดีด้วย เพราะต้องใช้ฉุกเฉินกับบุคลกรทางการแพทย์ในบางประเทศ แต่โลกต้องการวัคซีนหลายพันล้านโดส และ GSK จะเน้นจุดนี้

Merck เริ่มค่อนข้างช้ากว่ารายอื่นและยังวิจารณ์เทคโนโลยีใหม่ของ Pfizer ด้วย แต่ยักษ์ยังไงก็เป็นยักษ์ Merck ใช้วิธีไปลงทุนในรายย่อยอื่นๆ เช่น Moderna และยังซื้อบริษัทเล็กๆ ที่พัฒนาวัคซีน และบริษัทเองก็ผลิตวัคซีนกับเขาด้วย แต่ไม่เร่งรีบเหมือนกับ GSK กับ Sanofi

บริษัทใหญ่พวกนี้ถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนนิทานเต่ากับกระต่าย สุดท้ายแล้วเต่าช้าแต่ชนะชัวร์กว่า

อย่างไรก็ตาม บริษัทใหญ่ก็ย่อมต้องหวังผลกำไร การจะแสดงน้ำใจแบบ AstraZeneca คงเป็นเรื่องยาก

บริษัทยาใหญ่ๆ มีภาพลักษณ์ไม่ดีในสายตาชาวตะวันตก จากการสำรวจความเห็นของ Gallup เมื่อปี 2019 พบว่าชาวอเมริกัน 58% มีทัศนะคติด้านลบกับบริษัทในกลุ่มนี้ และไม่มีองค์กรไหนที่จะถูกชิงชังมากไปกว่านี้อีกแล้ว (ยังมากกว่าหน่วยงานของรัฐบาลกลางเสียอีกที่ชาวอเมริกัน 52% รู้สึกไม่ดี ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนในประเทศหนึ่งๆ ไม่ค่อยจะชอบใจรัฐบาล/ราชการของตัวเอง)

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า วิกฤตครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้บริษัทยาล้างภาพลักษณ์ไม่ดีออกไป เราจะเห็นว่า AstraZeneca ได้โอกาสนั้น แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ เองก็พยายามจะไม่ทำให้ราคาวัคซีนสูงเกินไป แต่ในเวลาเดียวบริษัทยาบางแห่งก็ถูกลากเข้าไปพัวพันกับประเด็นการเมืองด้วย 

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Jacob King / POOL / AFP