posttoday

จีนคุม 'แรร์เอิร์ธ' อาวุธเศรษฐกิจใช้ลงโทษคู่กรณี

18 มกราคม 2564

จีดงัดไม้ตายควบคุมการส่งออก 'แร่แรร์เอิร์ธ' สินค้าสำคัญของสหรัฐ

1. แร่แรร์เอิร์ธ (Rare Earth) เป็นสินแร่ชนิดโลหะธาตุ มีคุณสมบัติคล้ายโลหะแต่ไม่นิยมนำมาผลิตเป็นโลหะเนื่องจากเป็นการสกัดแร่ชนิดนี้ทำได้ยาก เนื่องจากแร่แรร์เอิร์ธไม่ได้รวมอยู่ในแหล่งเดียวกันแต่กระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ จึงยากที่จะสร้างเหมืองเพื่อขุดเจาะหาแร่ชนิดนี้

2. แร่แรร์เอิร์ธประกอบด้วยธาตุหายาก 17 ชนิด ได้แก่ สแกนเดียม (Sc), อิตเทรียม (Y), แลนทานัม (La), ซีเรียม (Ce), เพรซีโอดิเมียม (Pr), นีโอดิเมียม (Nd), โพรมีเทียม (Pm), ซาแมเรียม (Sm), ยูโรเพียม (Eu), แกโดลิเนียม (Gd), เทอร์เบียม (Tb), ดิสโพรเซียม (Dy), โฮลเมียม (Ho), เออร์เบียม (Er), ทูเลียม (Tm), อิตเตอร์เบียม (Yb) และลูทีเซียม (Lu) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดจนอุตสาหกรรมพลังงาน และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

3. สหรัฐเป็นประเทศแรกๆ ที่ริเริ่มนำแรร์เอิร์ธมาใช้ในอุตสหกรรม แต่จีนเป็นประเทศที่มีแร่ชนิดดังกล่าวเป็นจำนวนมากจึงเป็นผู้ผลิตแร่แรร์เอิร์ธที่สำคัญของโลก ซึ่งสามารถผลิตได้ในสัดส่วนสูงถึง 90% ของกำลังการผลิตทั้งโลก

4. ด้วยความที่สหรัฐมีบริษัทจำนวนมากที่ต้องการใช้แร่ดังกล่าวเป็นส่วนประกอบในการผลิตจึงต้องนำเข้าจากจีนจนกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ และเป็นหนึ่งในสินค้าไม่กี่ชนิดที่สหรัฐไม่ขึ้นกำแพงภาษี โดยสหรัฐนำเข้าแรร์เอิร์ธจากจีนสูงถึง 80% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด

5. ล่าสุด Global Times สำนักข่าวของจีนรายงานว่ารัฐบาลจีนได้ร่างกฎหมายควบคุมแร่ดังกล่าวมากขึ้น โดยจัดโควตาการผลิตแร่แรร์เอิร์ธในประเทศรวมถึงการกำกับดูแลการลงทุนเพื่อสร้างมาตรฐานจัดการอุตสาหกรรมแร่แรร์เอิร์ธและส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพสูง

6. นอกจากนี้ร่างกฎหมายใหม่ของจีนที่นำมาใช้ในเดือนธันวาคมจะจำกัดการส่งออกสินค้าควบคุมรวมถึงแรร์เอิร์ธ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าจะเพิ่มความผันผวนของอุปทานในตลาดผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีบางประเภท

7. ตามรายงานยังระบุว่าร่างกฎหมายใหม่ของจีนได้กำหนดข้อจำกัดหรือห้ามส่งออกผลิตภัณฑ์ทางทหารและนิวเคลียร์ ตลอดจนสินค้าอื่นๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ

8. การส่งออกแร่แรร์เอิร์ธของจีนลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2020 การส่งออกลดลงเหลือ 35,447.5 ตันหรือ 23.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2015

9. ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจีนสามารถใช้แร่แรร์เอิร์ธเป็นข้อต่อรองที่สำคัญต่อสหรัฐ ขณะที่จีนเองก็พยายามที่จะลดการพึ่งพาเทคโนโลยีของสหรัฐมานานแล้ว

10. Japan Times ยังได้รายงานว่าในปี 2010 จีนได้จำกัดการส่งออกแร่แรร์เอิร์ธไปยังญี่ปุ่นเมื่อทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งกันในเรื่องดินแดนพิพาทในทะเลจีนตะวันออก

11. นักวิเคราะห์กล่าวว่าความเคลื่อนไหวล่าสุดของจีนอาจส่งผลกระทบต่อหลายบริษัทที่ผลิตสินค้าโดยการใช้แร่แรร์เอิร์ธจากประเทศจีนซึ่งรวมถึงบริษัทของสหรัฐด้วยเช่นกัน