posttoday

เมื่อกองทัพเมียนมาซื้อเรือดำน้ำโดยไม่สนคนเดือดร้อนจากโควิด

25 ธันวาคม 2563

เรือดำน้ำเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนสำหรับกองทัพเมียนมา เพราะเพื่อนบ้านมีกันหมดแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่เข้าขั้นวิกฤตในเมียนมาจนโรงพยาบาลบางแห่งแทบรองรับผู้ป่วยไม่ไหว ทางกองทัพเมียนมาได้จัดงานเฉลิมฉลองวันครบรอบ 73 ปีกองทัพด้วยการนำเรือดำน้ำลำแรกของประเทศ "UMS Minye Theinkhathu" มาโชว์ตัวต่อประชาชนอีกครั้งที่ท่าเรือในย่างกุ้งโดยไม่แคร์ความเดือดร้อนของประชาชน

เรือดำน้ำลำนี้เมียนมาซื้อต่อมาจากอินเดียซึ่งซื้อต่อมาจากกองทัพรัสเซียอีกทอดหนึ่ง โดยกองทัพอินเดียทำการปรับปรุงซ่อมแซมก่อนแล้วส่งมอบให้เมียนมาเมื่อปลายปีที่แล้ว พูดสั้นๆ ก็คือ เป็น “เรือดำน้ำมือสาม”

แต่กองทัพเมียนมาภาคภูมิใจกับเรือดำน้ำลำนี้มาก เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พลเอก มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเผยว่า “วันนี้เป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์กองทัพเมียนมา ทุกประเทศล้วนต้องการโปรโมทแสนยานุภาพกองทัพเรือของตัวเอง ดังนั้นเราจึงต้องยกระดับความแข็งแกร่งของกองทัพเรือด้วยการครอบครองเรือที่ทรงพลัง และเรือดำน้ำก็รวมอยู่ในนั้นด้วย”

อันที่จริงเมียนมาพยายามซื้อเรือดำน้ำมาตั้งแต่ช่วงปี 2005 โดยส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่ไปยังรัสเซีย จีน อินเดีย และเกาหลีเหนือ เพื่อเจรจาซื้อและต่อรองขอส่วนลดพิเศษ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกอินเดีย และในปี 2007 ทางกองทัพส่งเจ้าหน้าที่กองทัพเรือไปฝึกขับเรือดำน้ำที่นั่น

เหตุผลที่กองทัพเมียนมาควักกระเป๋าซื้อเรือดำน้ำก็คล้ายๆ ไทยคือ เพื่อนบ้านมีเราต้องมี โดยเฉพาะบังกลาเทศที่ถอยเรือดำน้ำจากจีนมา 2 ลำ และไทยลงนามจะซื้อจากจีน 2 ลำ ด้วยเหตุนี้การซื้อเรือดำน้ำจึงเป็นเรื่อง “จำเป็นเร่งด่วน” สำหรับกองทัพ

และแน่นอนว่าเหตุผลนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในโลกโซเชียลเช่นเดียวกับกรณีของกองทัพไทย โดยชาวเน็ตเมียนมาล้อเลียนว่าเรือดำน้ำมือสามที่ซื้อมาน่าจะจมมากกว่าสร้างความเกรงขามให้เพื่อนบ้าน เพราะสภาพของเรือดำน้ำลำนี้เท่าที่มองด้วยสายตาจากภายนอกก็เต็มไปด้วยร่องรอยการปะผุ

หนังสือพิมพ์ Global Times ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีนยังตั้งข้อสังเกตถึงประสิทธิภาพการทำงานของเรือดำน้ำที่อินเดียยืนยันว่ากองทัพเมียนมาจะใช้งานไปได้อย่างน้อยจนถึงปี 2030 โดยระบุว่า เรือดำน้ำลำนี้ประจำการในกองทัพอินเดียมากว่า 30 ปี เข้าสู่ช่วงบั้นปลายอายุการใช้งานของเรือดำน้ำแล้ว และการปรับปรุงโฉมใหม่ก็เพียงแค่การขัดสีฉวีวรรณให้ดูใหม่เท่านั้น ไม่ได้มีการอัพเกรดระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทันสมัย

ถ้าจะให้เห็นภาพขอให้นึกถึงรถเมล์ไทย ที่แม้ภายนอกจะทาสีใหม่ให้ดูไฉไล แต่โครงของรถก็ยังเป็นโครงเดิมที่ใช้งานมานานหลายสิบปีจนผุพังไปตามกาลเวลา

การซื้อเรือดำน้ำมือสามของกองทัพเมียนมาจึงอาจเป็นการเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ เพราะอาจใช้งานได้ไม่คุ้มค่า และนี่ยังไม่นับค่าบำรุงรักษาที่จะตามมาอีกก้อนใหญ่

ไม่เพียงเรือดำน้ำเท่านั้นที่กองทัพเมียนมาทุ่มงบประมาณให้ มีรายงานข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ว่า กองทัพเมียนมากำลังซื้อเครื่องบินแอร์บัสมือสอง CASA C-295s จากกองทัพอากาศจอร์แดนอีก 2 ลำมูลค่า 38.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และยังเซ็นสัญญาปรับปรุงเครื่องบินแอร์บัส A319-112 ที่เคยเป็นเครื่องบินของสายการบินเมียนมา แอร์เวย์ส อินเตอร์เนชันแนลก่อนจะนำมาใช้งานในกองทัพอีก 4.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

นับเฉพาะดีลล่าสุดนี้ก็ปาไปแล้ว 43.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากมองย้อนหลังไปอีกนิดจะพบว่าที่ผ่านมากองทัพเมียนมาใช้งบประมาณซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แบบมือเติบไม่แพ้กองทัพไทย เว็บไซต์ The Irrawaddy รายงานว่านับตั้งแต่ปี 2001-2016 กองทัพเมียนมาซื้อยุทโธปกรณ์จากรัสเซียถึง 1,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ซื้อจากจีน 1,420 ล้านเหรียญสหรัฐ

หากมองจากสถานการณ์เศรษฐกิจและโรคระบาดของเมียนมา การซื้อเรือดำน้ำเครื่องบิน และยุทโธปกรณ์อื่นๆ อาจกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นหรือหากจำเป็นก็ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอันดับต้นๆ ดังที่กองทัพพยายามชี้ให้เห็น

ณ วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสะสมของเมียนมาพุ่งไปถึง 119,788 ราย ในขณะที่ระบบสาธารณสุขที่เปราะบางของประเทศกำลังจะรองรับผู้ป่วยไม่ไหว

หลังจากถูกปกครองโดยรัฐบาลทหารมาหลายทศวรรษ ระบบสาธารณสุขของเมียนมาที่ถูกละเลยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในโลก ในปี 2018 องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เมียนมามีแพทย์เพียง 6.7 คนต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่มีแพทย์ 15.6 คนต่อประชากร 10,000 คน และมีเตียงฉุกเฉินในโรงพยาบาลเพียง 1.1 เตียงต่อประชากร 100,000 คน เมื่อเทียบกันแล้วไทยมีมากกว่าเกือบ 10 เท่า

และในเดือนนี้สถาบัน Brookings Institution ในสหรัฐระบุจุดอ่อนที่ชัดเจนหลายประการของเมียนมา ได้แก่ ความสามารถในการตรวจเชื้อที่ไม่เพียงพอ, ระบบสาธารณสุขที่ไม่ได้เตรียมการ, การขาดรายได้และการขาดแคลนอาหารที่เกิดจากวิกฤต และความไม่สงบภายในประเทศซึ่งรวมถึงสงครามกลางเมืองที่นองเลือดในพื้นที่ชายแดนหลายแห่ง

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เมียนมาร์มีความพร้อมน้อยที่สุดในภูมิภาคในการรับมือกับวิกฤตสุขภาพที่สำคัญใดๆ

นอกจากจะมีความพร้อมน้อยที่สุดแล้ว เมียนมายังประมาทเลินเล่อในการรับมือกับ Covid-19 ปล่อยให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างในรัฐยะไข่ อีกทั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งยังปล่อยให้ประชาชนคลุกคลีกันอย่างใกล้ชิด และหลังพรรคเอ็นแอลดีของออง ซาน ซูจี คว้าชัยชาวเมียนมาก็ยังออกมาฉลองกันชนิดไม่กลัวเชื้อโคโรนาไวรัส

จึงไม่แปลกที่หลังเลือกตั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพุ่งขึ้นอีก จนกลายเป็นว่าระบบสาธารณสุขที่เปราะบางอยู่แล้วต้องแบกรับภาระหนักขึ้นไปอีกและพร้อมจะพังทลายได้ทุกเมื่อ ขณะที่เศรษฐกิจก็ย่ำแย่จนชาวเมียนมาต้องหนีออกมาหางานทำที่ประเทศไทย

ดังนั้น แทนที่กองทัพเมียนมาจะทุ่มงบประมาณไปกับการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือดำน้ำเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากเพื่อนบ้านที่ยังไม่เกิดขึ้น ควรนำเงินจำนวนมหาศาลนี้มายกระดับระบบสาธารณสุขเพื่อรับมือกับภัยคุกคามเฉพาะหน้าอย่างโรคระบาดที่คุกคามชีวิตประชาชนจะเป็นประโยชน์กว่า