posttoday

เมียนมาไม่พอใจไทยเลือกปฏิบัติ

24 ธันวาคม 2563

สื่อเมียนมาเผยมุมมองอีกด้านของแรงงานเมียนมาในไทย

เว็บไซต์ข่าวอิระวดีของเมียนมารายงานว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยซึ่งมีชาวเมียนมาหลายร้อยคนที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อไวรัสโคโรนา สร้างความกังวลใจว่าไทยอาจต้องเข้าสู่มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง และประชากรชาวเมียนมาในประเทศไทยจะตกเป็นเป้าหมายของการเลือกปฏิบัติ

ทางการไทยได้จัดประชุมและออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโลก รวมถึงการปิดตลาดและหอพักในสมุทรสาครเพื่อจำกัดพื้นที่ของแรงงานเมียนมา รวมทั้งการปิดล้อมด้วยลวดหนาม

โดยแรงงานหลายพันคนถูกบังคับให้อยู่รวมกันในสถานที่ที่คับแคบและเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น รวมทั้งหน่วยงานในกรุงเทพได้เรียกร้องให้ศาสนสถานทุกแห่งห้ามชาวเมียนมาเข้าไปทำบุญจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จึงเกิดคำถามถึงการเลือกปฏิบัติและการกระทำสองมาตรฐาน

นอกจากนี้ตามรายงานระบุว่าแรงงานพม่าจำนวน 2,482,256 คนได้ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานไทยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนั้นพวกเขาจึงควรได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานไทย แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่แรงงานทุกคนที่จะได้รับการปฏิบัติในแบบเดียวกันและยังมีช่องโหว่อีกมากมาย

พร้อมกล่าวว่าประเทศไทยควรทำอะไรมากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานและครอบครัวของพวกเขาจะได้รับการดูแลที่เหมาะสม โดยประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องดูแลสุขภาพของแรงงานในประเทศอย่างเหมาะสมและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการกลับบ้าน

สื่อเมียนมามองว่านโยบายคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยควรคุ้มครองทั้งแรงงานที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน พวกเขามองประเทศไทยเสมือนบ้านและด้วยเหตุนี้จึงระบุว่ารัฐบาลไม่ควรทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลังเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งพวกเขายังเป็นแรงงานที่จำเป็นสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยในวันข้างหน้า

รวมถึงเดอะเมียนมาไทมส์รายงานว่า นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าวต่อว่าแรงงานชาวเมียนมาที่ลักลอบเข้าประเทศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย โดยผู้ติดเชื้อจำนวนมากเป็นแรงงานจากเมียนมาที่ทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

ขณะที่ผู้ขนส่งกุ้งชาวเมียนมากล่าวว่า การที่ชาวไทยกล่าวโทษพวกเขาโดยไม่มีหลักฐานเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมและฟังความข้างเดียว โดยไม่มีการให้ข้อมูลว่าใครบ้างที่มีผลตรวจเป็นบวก ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัวต่อชาวแรงงานเมียนมาทั้งหมด

โดยแรงงานชาวเมียนมาถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกต่อต้านพม่าในหมู่คนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยหรือทำงานบริเวณชุมชนชาวเมียนมาอย่างมหาชัย