posttoday

ไทยแทรกแซงค่าเงินอย่างที่สหรัฐกล่าวหาจริงหรือไม่

17 ธันวาคม 2563

สหรัฐใช้หลักเกณฑ์อะไรบ้างในการตัดสินว่าประเทศไหนแทรกแซงค่าเงิน

เมื่อกลางดึกของคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค.) ตามเวลาประเทศไทย กระทรวงการคลังสหรัฐได้ขึ้นบัญชีให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดในฐานะที่อาจแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐ

ในรายงานว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาฉบับล่าสุดที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ระบุถึงไทยว่า “...ตลอดหลายปีที่ผ่านมาไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมาก โดยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 7% ของจีดีพีในปี 2019 ทั้งดุลการค้าและดุลบริการ แต่การท่องเที่ยวที่ซบเซาในปี 2020 ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาอยู่ที่ 6% ในช่วง 4 ไตรมาสนับจนถึงเดือน มิ.ย. 2020”  

“แต่ถึงอย่างนั้น ดุลการค้าของไทยยังเกินดุลกับสหรัฐ โดยในช่วง 4 ไตรมาสเดียวกันนั้นไทยเกินดุลสหรัฐถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และทางการไทยยังแจ้งสหรัฐว่าไทยซื้อเงินตราต่างประเทศเข้ามาเก็บในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ 1.8% ของจีดีพี” แล้วไทยแทรกแซงจริงอย่างที่สหรัฐบอก หรือถูกสหรัฐกลั่นแกล้งกันแน่?

ก่อนอื่นต้องมาดูกันก่อนว่าสหรัฐใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการระบุว่าใครแทรกแซงค่าเงิน 

กระทรวงการคลังของสหรัฐจะจัดทำรายงานการจับตาประเทศที่อาจบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า โดยจะเฝ้าดูประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่มีมูลค่าการค้าขายกับสหรัฐอย่างน้อย 40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

เกณฑ์ที่ใช้วัดประกอบด้วย 1.เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 2.เกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 3.สะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง 6 เดือนและเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ของจีดีพี

หากประเทศหนึ่งประเทศใดเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อจะถูกสหรัฐขึ้นทะเบียนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน

สำหรับไทย เข้าเกณฑ์ในข้อ 1 คือ ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาไทยเกินดุลสหรัฐถึง 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเพดานที่สหรัฐกำหนดไว้ที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนข้อ 2 ไทยก็ไม่รอดเช่นกัน เพราะเงินตราของสหรัฐไหลเข้าประเทศไทยมากกว่าไหลออก แม้ว่าเงินจากนักท่องเที่ยวสหรัฐในช่วงปี 2020 ที่ Covid-19 ระบาดจะลดลงแล้วแต่การส่งออกสินค้าและบริการอื่นๆ ยังเกินดุลอยู่

และข้อ 3 หลายคนอาจงงว่าถ้ามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นแล้วเกี่ยวข้องอย่างไรกับการแทรกแซงค่าเงิน เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางแห่งประเทศไทยก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงด้วยการซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างดีมานด์ให้ค่าของเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น (แข็งค่า) เงินดอลลาร์ที่ซื้อเข้ามาก็จะถูกเก็บไว้ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ

เมื่อกองทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้น สหรัฐอนุมานว่าไทยแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า เนื่องจากพอเงินบาทอ่อนค่าลง ไทยก็จะได้ประโยชน์เวลาส่งออกคือทำให้สินค้าส่งออกราคาถูก หรือได้เงินดอลลาร์มากขึ้นเวลาแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่สหรัฐใช้พิจารณาร่วมกับหลักเกณฑ์ข้างต้น อาทิ การขึ้นลงของค่าเงิน ระบบอัตราแลกเปลี่ยน การควบคุมเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ นโยบายการเงิน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากการประเมินของสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า นับตั้งแต่ปลายปี 2014 บัญชีเดินสะพัดเกินดุลของไทยเกิน 2% ของจีดีพีทุกไตรมาส เมื่อบวกกับการเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 6% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จึงเท่ากับว่าไทยเข้าเกณฑ์การแทรกแซงค่าเงินถึง 2 ข้อ เพียงพอที่สหรัฐจะขึ้นบัญชีไทย

ทว่าในรายงานรายครึ่งปีที่เผยแพร่เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ไทยยังไม่อยู่ในรายชื่อ ประเทศที่อาจแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของกระทรวงการคลังสหรัฐ

แนวโน้มที่ไทยจะถูกจับตาจากสหรัฐเริ่มชัดเจนขึ้นในเดือน ก.ค. เมื่อธนาคารเพื่อการลงทุนข้ามชาติ UBS ของสวิตเซอร์แลนด์เตือนไทยว่าอาจถูกกระทรวงการคลังสหรัฐขึ้นบัญชีดำ

ถูกขึ้นบัญชีแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ

ประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีเฝ้าจับตาจะต้องอยู่ในบัญชีนี้ต่อไปจนกว่าจะมีรายงานเดียวกันนี้จากสหรัฐออกมาอีกอย่างน้อย 2 ครั้งติดต่อกัน (ปกติสหรัฐจะจัดทำรายงานการจับตาประเทศที่อาจบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าทุกๆ 2 ปี) เพื่อให้แน่ใจว่าการกระทำที่เข้าเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดเกิดขึ้นยาวนานพอและไม่ได้เกิดจากปัจจัยชั่วคราว

หากยังไม่มีการปรับปรุงจนเข้าเกณฑ์ครบทั้ง 3 ข้อก็จะถูกขยับเป็น “ประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน” เหมือนกับกระณีของเวียดนาม

ในรายงานล่าสุดนี้ เวียดนามถูกสหรัฐหมายหัวว่า “แทรกแซงค่าเงิน” เพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ เข้าเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดไว้ทั้ง 3 ข้อ โดยเฉพาะการแทรกแซงค่าเงินด่องที่เวียดนามทำมาตั้งแต่ปี 2016 แต่ในช่วง 4 ไตรมาสนับจนถึงเดือน มิ.ย.2020 เวียดนามแทรกแซงค่าเงินอย่างหนักเพื่อไม่ให้เงินด่องแข็งค่า

ส่วนตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดก็สูงถึง  4.6% ของจีดีพี และในช่วงเวลาเดียวกันยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐ 58,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มคู่ค้าของสหรัฐ

ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงจับตามองค่าเงินของเวียดนามอย่างใกล้ชิด โดยเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทางการสหรัฐได้สอบสวนกรณีที่เวียดนามลดค่าเงินด่องเพื่อให้ได้เปรียบการค้ากับสหรัฐ และพบว่าค่าเงินด่องของเวียดนามอ่อนกว่ามูลค่าแท้จริง 4.7% ส่งผลให้สหรัฐลงโทษเวียดนามด้วยการขึ้นภาษียางรถยนต์นำเข้าจากเวียดนามทันที