posttoday

ทำให้จีนเชื่อง เพื่ออยู่ร่วมโลกกันให้ได้

18 ธันวาคม 2563

เปิดยุทธศาสตร์ของสหรัฐตาม "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" หรือ Peaceful Evolution เพื่อทำให้จีนเชื่องให้ได้

ถึงแม้ว่าเมื่อถึงเดือนธันวาคม 2020 รัฐบาลทรัมป์กำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้วก็ตาม แต่ลูกน้องคนสำคัญของทรัมป์ยังคงเคลื่อนไหวไม่หยุดหย่อน เขาคนนั้นคือ "ไมค์ พอมพีโอ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดินสายสานพันธมิตรสหรัฐ-สลายหุ้นส่วนจีนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยๆ ทั้งๆ ที่เขาไม่จำเป็นต้องออกแรงช่วงโค้งสุดท้ายในตำแหน่งแบบนี้

วันที่ 9 ธันวาคมพอมพีโอเดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ Georgia Tech ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศสหรัฐ แต่แทนที่จะพูดเรื่องเทคโนโลยีเขากลับพูดหัวข้อเรื่อง "พรรคคอมมิวนิสต์จีนในวิทยาเขตการศึกษาอเมริกัน" แน่นอนว่ามันเกี่ยวกับการโจมตีจีนจังๆ (และโปรดสังเกตว่า Georgia Tech มีวิทยาเขตที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีนด้วย)

ความตอนหนึ่งพอมพีโอกล่าวว่า "เนื่องจากเป็นเวลานานแล้วที่พรรครีพับลิกัน, เดโมแครต ผู้นำทั่วทั้งสถาบันการศึกษา สถาบันดด้านการค้าคิดว่า ด้วยการค้าขายและมีส่วนร่วมกับจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะปฏิรูปตัวเองจะลดท่าทีอำนาจนิยม จะโอบรับเสรีภาพทางเศรษฐกิจและการเมือง และจีนจะกลายเป็นความเสี่ยงที่น้อยลงต่อเสรีภาพทั่วโลก"

พอมพีโอกล่าวต่อไปว่า "แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราได้รับ แต่พวกคอมมิวนิสต์จีนกลับใช้ความมั่งคั่งที่สร้างขึ้นจากสิ่งนี้ (การที่สหรัฐหันมาค้าขายและเป็นหุ้นส่วนด้วย) เพื่อกระชับการยึดอำนาจ ยึดอำนาจเหนือคนจีน และสร้างรัฐเผด็จการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างที่โลกไม่เคยเห็น"

เรามาดูส่วนแรกของสุทนพจน์กันก่อน ส่งที่พอมพีโอพูดถึงไม่ใช่การ "มโน" เอาเองของเขาเมื่อเขาบอกว่าเมื่อสหรัฐอ้าแขนรับจีนแล้วให้โอกาสจีนต่างๆ นานา จีนจะปฏิรูปตัวเองให้เสรีและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่พอมพีโอคิดเอาเอง แต่เป็นความเชื่อที่อเมริกันระดับนำคาดหวังกันมานาน อย่างที่พอมพีโอเองอ้างถึง "พรรครีพับลิกัน, เดโมแครต" และผู้นำสาขาต่างๆ

ความเชื่อที่ว่านี้มีพื้นฐานมาจาก "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" หรือ Peaceful Evolution หลักใหญ่ใจความของทฤษฎีนี้ก็คือ สหรัฐพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของระบบสังคมนิยมจีนโดยสันติวิธี เช่น การเปิดการค้าขายกับจีนและกระชับความร่วมมือต่างๆ เพื่อที่จะค่อยๆ แทรกแนวคิดประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและค่านิยมแบบตะวันตกรวมถึงเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเขาไปในจีน เพื่อทำให้จีนละเลิกการเป็นสังคมนิยมแล้วกลายเป็นประเทศในโหมดเดียวกับสหรัฐและ "โลกเสรี" อื่นๆ

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจากจอร์จ เคนแนน (George F. Kennan) นักการทูตและนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันในปี 1946 หรือหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงหมาดๆ และสงครามเย็นกำลังก่อตัวขึ้น เขาเสนอว่าโลกเสรีและโลกคอมมิวนิสต์สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ เพียงแต่โซเวียตมีจุดยืนทางการเมืองแบบคอมมิวนิสต์ที่ "อยู่ร่วมโลกกับทุนนิยมไม่ได้" ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวโซเวียตให้คล้อยตาม

นี่คือจุดสำคัญของแนวคิดนี้ นั่นคือจะต้องเข้าใจเป้าหมาย (คือประเทศคอมมิวนิสต์) ก่อนว่าพวกเขามีอุดมการณ์แบบไหน ในส่วนของคอมมิวนิสม์นั้นมุ่งมั่นที่การปฏิวัติโดยชนชั้นแรงงานและโค่นระบอบทุนนิยม พวกเขาจึงประนีประนอมกับประเทศทุนนิยมได้ยาก

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีทางออกเสียเลย เคนแนนเสนอว่า การโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตนั้นมีพลังด้านลบมาก (นั่นก็เพราะต้องการทำลายสังแคมแบบเก่า) ส่วนสหรัฐจะต้องสร้างการโฆษณาชวนเชื่อที่มีพลังด้านบวกหรือให้สหรัฐมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาชาวโลก

อีกสิบปีต่อมา จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลลิส (John Foster Dulles) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในรัฐบาลของไอเซนฮาวเออร์ชูแนวคิดนี้ขึ้นมาจริงๆ จังๆ โดยเสนอให้ใช้วิธีการแบบสันติ "เพื่อที่จะเร่งวิวัฒนาการของนโยบายรัฐบาลภายในกลุ่มจีน-โซเวียต" เพื่อที่จะ "ลดอายุขัยของลัทธิคอมมิวนิสม์" โดยสหรัฐและโลกเสรีจะใช้การค้าและความช่วยเหลือต่างๆ เป็นเครื่องมือหลักในการทำให้จีนเลิกเป็นประเทศคอมมิวนิสต์แล้วเป็นประเทศในกลุ่มโลกเสรี

ดังนั้นสิ่งที่เรียกว่า "วิธีการสันติ" มันไม่ได้สันติอย่างที่คิด เพราะประกอบด้วยเพทุบายทางการเมืองเพื่อบั่นทอนฝ่ายตรงข้ามโดยไม่ต้องใช้กำลังทหารนั่นเอง และการบอกว่า "อยู่ร่วมกัน" ก็ไม่ได้หมายถึงการอยู่อย่างฉันมิตร แต่เป็นการตัดตอนฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เป็นภัยคุกคามแล้วอยู่ร่วมโลกกันได้กับสหรัฐนั่นเอง

เหมาเจ๋อตงผู้นำของจีนในยุคนั้นเมื่อทราบแนวคิด "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" ถึงกับชี้ว่านี่คือกลยุทธอำพรางเพื่อที่จะทำลายจีน แต่จีนกลับดูเหมือนจะเล่นตามเกมส์ของสหรัฐเสียอย่างนั้น เพราะจีนได้ประโยชน์จากทฤษฎีนี้แบบเต็มๆ ถึงขนาดเรียกได้ว่าจีนยิ่งใหญ่ขึ้่นมาได้อีกครั้งก็เพราะสหรัฐหยิบยื่นโอกาสให้ (โดยคาดไม่ถึงถึงผลลัพธ์ที่ตรงกันข้ามกับที่หวังไว้)

ย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็น โลกคอมมิวนิสต์ไม่ได้มีความสามัคคีกันแต่แตกออกอย่างเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายสหภาพโซเวียต (รัสเซีย) และฝ่ายจีน โดยมีประเทศคอมมิวนิสต์เล็กๆ น้อยๆ แแสดงตนเข้าข้างแต่ละฝ่าย เช่น ยุโรปตะวันออกเกือบทั้งหมดเข้าข้างสหภาพโซเวียตและแอลบาเนียเข้าข้างจีน เป็นต้น

ความแตกแยกนี้เป็นโอกาสให้สหรัฐใช้โอกาสในการแทรกแซงเพื่อบ่อนทำลายฝ่ายคอมมิวนิสต์ ในขณะที่โซเวียตมีพลังด้านการทหารสูงมาก สหรัฐเลือกที่จะหันไปสานสัมพันธ์กับจีนเพื่อใช้คานกับโซเวียตจนทั้ง 2 ประเทศเปิดสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการซึ่งสหรัฐยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็น "จีนเดียว" และจีนแผ่นดินใหญ่กลายเป็นจีนอย่างเป็นทางการในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติโดยที่ไต้หวันที่เคยเป็น "จีนเดียว" ต้องถูกอัปเปหิออกไป

หลังจากนั้นสหรัฐกับจีนก็สานสัมพันธ์กันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ประธานาธิบดีสหรัฐก็กังขาต่อจีนเช่นกันว่าจะเปลี่ยนตัวเองให้เสรียิ่งขึ้นได้หรือไม่ เพราะสหรัฐไม่เพียงแต่ใช้จีนคานกับโซเวียตเท่านั้น แต่ยังหวังด้วยว่าการเข้าไปใกล้ชิดกับจีนแล้วให้โอกาสจีนด้านเศรษฐกิจจะช่วยให้จีนมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ท่าทีของจีนก็ดูเหมือนจะตอบสนองความหวังของสหรัฐ โดยในช่วงทศวรรษที่ 80 เติ้งเสี่ยวผิงได้เริ่มเปิดประเทศและทำการปฏิรูป น้อมรับเอาระบอบทุนนิยมเข้ามาผสมกับสังคมนิยมแล้วเรียกใหม่ว่า "สังคมนิยมแบบจีน" หลังจากนั้นจีนก็เริ่มเปิดกว้างทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ในช่วงทศวรรษที่ 80 นั้นจีนได้ลิ้มรสประชาธิปไตยอย่างไม่เคยมีมาก่อน สังคมมมีความเสรีไม่น้อย และยังอ้าแขนรับวัฒนธรรมสากลอย่างเต็มตัว

ในเวลาไล่เลี่ยกัน สหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายคล้ายๆ กับจีนคือการ "เปิดกว้าง" (กลาสน็อสต์) และ "การปฏิรูปเศรษฐกิจ" (เปเรสทรอยก้า) นั่นคือการทำให้สังคมมีความเสรีมากขึ้นและระบบเศรษฐกิจเป็นแบบทุนนิยมมากขึ้น

แต่ปรากฎว่าการปฏิรูปและการเปิดกว้างในสหาพโซเวียตทำให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลง ส่วนหนึ่งเพราะประชาชนได้แสดงออกมากขึ้นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากขึ้นทำให้รับรู้ถึงความโหดร้ายและความผิดพลาดของรัฐบาลโซเวียตที่ถูกปกปิดไว้ ส่วนการปฏิรูปเศรษฐกิจก็ไม่ได้ผลเพราะไม่กระจายสู่ระดับรากหญ้า

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและพลพรรคยุโรปตะวันออกทั้งยวงในปี 1989 ขณะที่จีนกำลังมองเห็นการล่มสลายของอดีตคู่ปรับร่วมอุดมการณ์ด้วยความหวั่นใจว่ามันจะลามเป็นโดมิโนมาถึงตน จีนก็เกิดเรื่องขึ้นเช่นกันนั่นคือการชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนครั้งใหญ่ที่จตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน 1989

ก่อนกรณีเทียนอันเหมินจีนมองว่าสหรัฐเป็นมิตรกับจีน แต่หลังจากเกิดความวุ่นวายครั้งนั้นจีนเริ่มมองสหรัฐด้วยสายตาที่หวาดระแวงมากขึ้นและมีการเอ่ยถึง "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" กันมากขึ้นในฐานะอาวุธที่จะมาแทรกแซงจีน

แต่อย่างที่กล่าวไปว่าจีนก็ใช้ "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" ให้เป็นประโยชน์กับตัวเองเช่นกัน สหรัฐเองก็ไม่หยุดที่จะเปลี่ยนจีนด้วยความคาดหวังว่าจีนจะเปลี่ยนไปเป็นเสรีนิยม ตัวอย่างเช่น การที่สหรัฐผ่านกฎหมาย United States–China Relations Act of 2000 ซึ่งสภาคองเกรสเอาใจจีนด้วยการเปิดทางให้จีนมีสถานะเป็นคู่ค้าปกติถาวรและให้จีนเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)

กฎหมายตัวนี้มีเงื่อนไขตรงที่จีนจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานแรงงานและอนุญาตให้มีเสรีภาพทางศาสนา โดยรวมก็คือจีนได้สิทธิค้าขายแบบประเทศปกติโดยที่จีนต้องแลกกับการเปิดเสรีมากขึ้นโดยเฉพาะในด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิเสรีภาพของชาวทิเบต ข้อแม้นี้ตรงกับ "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ"

ประธานาธิบดีบิล คลินตันคือผู้ผลักดันให้สภาคองเกรสอนุมัติข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ - จีนและการเข้าร่วม WTO ของจีน โดยกล่าวว่าการค้ากับจีนมากขึ้นจะทำให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของอเมริกาก้าวหน้า เพราะจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับทั้งทั้งผลิตภัณฑ์และบริการของสหรัฐอย่างไม่เคยมีมาก่อน

คลินตันยังบอกว่า "เป็นครั้งแรกที่บริษัทของเราจะสามารถขายและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในประเทศจีนที่ผลิตโดยคนงานที่นี่ในอเมริกาโดยไม่ต้องถูกบังคับให้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีน ขายผ่านรัฐบาลจีน หรือถ่ายทอดเทคโนโลยีที่มีค่าเป็นครั้งแรก เราสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์โดยไม่ต้องส่งออกงาน"

แต่คลินตันคิดผิดถนัด หลังจากนั้นบริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตไปยังจีนกันเป็นว่าเล่นด้วยค่าแรงที่ถูกกว่าและทักษะที่มีมากขึ้น ทำให้จีนค่อยๆ สั่งสมความมั่งคั่งไปเรื่อยๆ ในเวลาเดียวกันจีนก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้เรื่องการเปิดเสรีเศรษฐกิจให้มากกว่านี้ยิ่งไม่ต้องพูดถึงสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ แถมจีนยังถูกกล่าวหาบงการค่าเงินให้อ่อนเพื่อเอาเปรียบสหรัฐและยังกีดกันทางการค้าบางอย่าง

หลังจากผ่านประธานาธิบดีสหรัฐมา 2 คนคนละสองสมัย ก็ถึงคราวที่สหรัฐจะลงมือกับจีนเสียทีเพราะเห็นแล้วว่า "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" ใช้ไม่ได้ผล เราจึงเห็นโดนัลด์ ทรัมป์ใช้ไม้แข็งกับจีนจนกลายเป็นสงครามการค้า แต่ขอให้เข้าใจว่าสงครามการค้ามีเหตุมาจากความคาดหวังที่ล้มเหลวของสหรัฐจาก "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" นั่นเอง

ที่ผ่านมาผู้นำจีนนับตั้งแต่ยุคหลังกรณีเทียนอันเหมินก็ระแวง "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บรรดาปัญญาชนและระดับนำทางการเมืองพยายามตีแผ่หรือหาทางป้องกันยุทธวิธีนี้ของสหรัฐมานาน

ที่น่าสนใจคือวิธีการรับมือที่บางคนเสนอไม่ใช่การต่อต้าน แต่เป็นการปรับตัวตามสิ่งที่สหรัฐคาดหวังด้วยซ้ำ เช่น การสร้างประชาธิปไตยในพรรคคอมมิวนิสต์ให้มากขึ้น ต่อต้านการคอร์รัปชั่น การปฏิบัติต่อนักวิชาการปัญญาชนอย่างเป็นธรรม มีความยืดหยุ่นในด้านอุดมการณ์ และเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (ข้อเสนอของหลี่จิ้งเจี๋ย อดีตผู้อำนวยการสถาบันโซเวียต-ยุโรปตะวันออกแห่งสถาบันสังคมศาสตร์จีน)

แต่ข้อเสนอดังกล่าวเสนอไว้มานานกว่าสิบปีแล้ว มาถึงยุคของสีจิ้นผิงเข้าเน้ย้ำถึง "สังคมนิยมแบบจีน" มากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะรวบอำนาจมากขึ้นซึ่งสวนทางกับความคาดหวังของสรัฐอีกครั้ง และเป็นเหตุให้สงครามการค้ากลายสภาพเป็นสงครามเย็นครั้งใหม่ไปด้วย

แต่สหรัฐก็คงจะดำเนินนโยบายแบบ "ทฤษฎีวิวัฒนาการอย่างสันติ" และจีนเองก็ต้องตระหนักด้วยว่าสหรัฐมีความคาดหวังแบบนี้ หากจะอยู่ร่วมกันอย่างัสนติ ทุกฝ่ายมีหนทางเดียวเท่านั้นคือการประนีประนอม

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by NOEL CELIS / AFP