posttoday

รถไฟความเร็วสูงเชื่อมไทยไปยุโรปทำได้จริงอย่างที่นายกพูดหรือไม่

17 ธันวาคม 2563

เปิดเส้นทางรถไฟที่จะพาคนไทยไปยุโรปโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องบิน

จากคำพูดของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานีกลางบางซื่อเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ว่า กำลังพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่ออนุภูมิภาคและภูมิภาค ในระยะยาวอาจเชื่อมไปถึงยุโรปตะวันออก ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน

คำตอบคือเป็นไปได้ โดยใช้ทางรถไฟของโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ Belt and Road ของจีน ที่เริ่มต้นจากตอนกลางของประเทศจีนไปสุดท้ายที่ยุโรปตะวันออก

อีกเส้นทางคือเส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย (Trans-Siberian) ที่เริ่มจากปักกิ่งแล้วเข้ารัสเซียจากนั้นเดินทางไกลจากภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซียไปถึงกรุงมอสโกและจากนั้นเดินทางต่อเข้าไปยังยุโรป

สำหรับเส้นทางแรก การเดินทางจะเริ่มต้นจากกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟความเร็วสูงไปยังหนองคาย แล้วข้ามพรมแดนเข้าลาวเพื่อขึ้นรถไฟไปยังกรุงเวียงจันทน์ จากนั้นมุ่งหน้าสู่คุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีน ต่อไปยังกรุงปักกิ่งแล้วเดินทางเมืองซีอานในมณฑลส่านซีอันเป็นจุดสตาร์ทของ Belt and Road

จากซีอานมุ่งหน้าผ่านภูมิภาคตะวันตกที่เป็นท้องทุ่งและทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาล แล้วออกจากพรมแดนจีนแล่นผ่านคาซักสถาน อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย ไปยังอุโมงค์บอสพอรัสของตุรกีและอุโมงค์รถไฟใต้ทะเลมาร์มาไรย์ในเมืองอิสตันบูล ช่วงนี้ย่นระยะเวลาเดินทางจากเดิม 1 เดือนเหลือ 12 วัน

จากนั้นเดินทางต่อจากตุรกียิงยาวไปยังกรุงปรากของสาธารณรัฐเชกโดยผ่านบัลแกเรีย ฮังการี และสโลวาเกีย ใช้เวลา 6 วัน รวมระยะทางจากซีอานถึงกรุงปราก 11,483 กิโลเมตร

หรืออีกเส้นทางหนึ่งคือ ใช้เส้นทางรถไฟสายทรานส์ไซบีเรีย เริ่มต้นที่กรุงเทพฯ เดินทางโดยรถไฟสู่จังหวัดหนองคาย เมื่อถึงสถานีหนองคายจึงเดินทางต่อไปยังประเทศลาวผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แล้วขึ้นรถโดยสารประจำทางต่อไปยังกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีระยะทางประมาณ 250 กิโลเมตร

จากนั้นจึงเดินทางต่อโดยรถไฟจากฮานอยไปยังกรุงปักกิ่ง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 วัน รวมระยะทาง 2,966 กิโลเมตร

เมื่อขบวนรถไฟถึงกรุงปักกิ่งก็นั่งรถไฟสายทรานส์ไซบีเรียต่อไปยังกรุงมอสโกของรัสเซีย  โดยจะผ่านเมืองฉางชุนและฮาร์บิน ก่อนที่จะข้ามพรมแดนรัสเซียเข้าสู่เขตไซบีเรีย ลัดเลาะเลียบทะเลสาบไบคาล ข้ามแม่น้ำเยนีเซย์ ผ่านเขตเทือกเขาอูราล แล้วข้ามแม่น้ำโวลกา ก่อนที่จะสิ้นสุดการเดินทางที่กรุงมอสโคว์ในรัสเซียฝั่งทวีปยุโรป ใช้เวลาเดินทั้งหมด 6 วัน  

เมื่อถึงกรุงมอสโกก็สามารถเดินทางต่อไปที่ไหนก็ได้ในยุโรปโดยทางรถไฟ หากรวมระยะเวลาทั้งหมด จากกรุงเทพฯ ถึงมอสโกก็ประมาณ 10-11 วัน

ดังนั้นการเดินทางโดยรถไฟจากรุงเทพฯ จากยุโรปจึงเป็นไปได้ แต่ต้องใช้ระยะเวลานานถึงเกือบ 12 วันเทียบกับการเดินทางโดยเครื่องบินซึ่งใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง 

การเดินทางที่ใช้เวลานานขนาดนี้อาจเป็นปัญหาสำหรับคนที่ต้องการความรวดเร็ว แต่ไม่เป็นปัญหาสำหรับนักเดินทางแบบเสพบรรยากาศที่ไม่รีบร้อน ซึ่งตามปกติแล้วมีนักเดินทางแบบนี้จำนวนไม่น้อยเลยที่เลือกเดินทางจากยุโรปมายังเอเชีย (หรือในทางกลับกันโดยใช้เส้นทางทรานส์ไซบีเรีย) 

แต่ปัญหาก็คือ ทางรถไฟความเร็วสูงในแต่ละประเทศจะสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ตามที่จีนคาดหวังว่าจะเชื่อมเอเชีย ไปตะวันออกกลาง ไปยุโรปได้หรือไม่

แม้ว่าโครงการนี้จะไปได้ดีในหลายประเทศ อาทิ ในลาวที่การก่อสร้างก้าวหน้าไปอีกขั้น โดยสามารถติดตั้งรางรถไฟสำเร็จแล้วราว 148 กิโลเมตร หรือ 1 ใน 3 ของทางรถไฟในลาว และเตรียมก่อสร้างและติดตั้งโครงสร้างขนาดใหญ่ รวมทั้งตัวสถานี คาดว่าจะแล้วเสร็จและให้บริการเต็มรูปแบบในเดือน ธ.ค. 2021

แต่กับบางประเทศการดำเนินการต้องหยุดงะชัก อาทิ ปากีสถาน ที่รัฐบาลจีนไม่ยอมลดดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับก่อสร้างทางรถไฟสายหลักที่ 1 ลงเหลือ 1% ตามที่รัฐบาลปากีสถานเรียกร้อง เนื่องจากสถานการณ์การเมืองของปากีสถานที่ไม่มั่นคง ดังนั้นจากเดิมที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือน ม.ค.ปีหน้า จึงต้องเลื่อนออกไปก่อน

และเมื่อปี 2018 เส้นทางสายไหมก็สะดุดอีกครั้ง เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซียประกาศยกเลิกดีลเส้นทางรถไฟฝั่งตะวันออก (ECRL)

แต่หลังจากพยายามเจรจาต่อรองกันหลายครั้ง โครงการนี้ก็ได้กลับมาอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขว่าจีนต้องลดค่าใช้จ่ายให้มาเลเซียเหลือ 10,680 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 65,500 ล้านเหรียญสหรัฐ

หรือแม้แต่การก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในนครราชสีมาและหนองคายของไทยที่ตะกุกตะกักมาหลายปี ไม่ว่าจะเป็นเพราะดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินจีนคิดในอัตราสูง การออกแบบราง และข้อถกเถียงเรื่องความจำเป็นของทางรถไฟสายนี้ จนกระทั่งในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมารัฐบาลไทยตัดสินใจควักกระเป๋า 380 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อซื้อรถไฟหัวกระสุนและรางจากจีนเอง โดยไม่ใช้เงินกู้จากจีน

เพียงแค่ 3 ประเทศนี้ก็ทำให้โครงการก่อสร้างล่าช้าออกไปอีกหลายปีแล้ว แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกว่า เส้นทางสายไหมของจีนเน้นประโยชน์ในการขนส่งสินค้าระหว่างกันมากกว่าจะใช้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว

ดังนั้นความฝันของนักเดินทางท่องเที่ยวที่จะใช้เส้นทางนี้ออกเดินทางสำรวจโลกจากไทยไปยุโรปคงจะเป็นไปได้น้อยกว่าการใช้เส้นทางที่เป็นที่นิยมอยู่แล้วอย่างเส้นทางสายทรานส์ไซบีเรีย