posttoday

แทมมี ดักเวิร์ธ สว.มะกันเชื้อสายไทย หัวใจไม่พิการ

09 ธันวาคม 2563

ทำความรู้จัก แทมมี ดักเวิร์ธ นักการเมืองสหรัฐเชื้อสายไทย

1. ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ เกิดเมื่อปี 1968 ที่กรุงเทพมหานคร พ่อของเธอเป็นทหารชาวอเมริกัน และแม่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ครอบครัวของเธอต้องโยกย้ายไปหลายประเทศตามหน้าที่การงานของพ่อทำให้เธอต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักแต่ก็สื่อสารภาษาไทยได้

2. แทมมี ดักเวิร์ธ จบปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย, ปริญญาโทสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และปริญญาเอกสาขาบริการประชาชนจากมหาวิทยาลัยคาเปลลา

3. เธอเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ โดยสมัครเข้าร่วมกองทัพสหรัฐอมเริกาเมื่อปี 1992 และเมื่อปี 2004 เธอได้เข้าร่วมรบในสงครามอิรัก ขณะนั้นเธอเป็นนักบินผู้ช่วยบนเฮลิคอปเตอร์ ยูเอช-60 แบล็กฮอว์ค ถูกยิงระเบิดเข้าในเครื่องบริเวณที่เธอนั่งทำให้เธอบาดเจ็บที่แขนขวา และสูญเสียขาทั้ง 2 ข้าง ต้องนั่งรถเข็นและใช้ขาเทียมตั้งแต่นั้นมา

4. เหตุการณ์นั้นทำให้เธอไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นักบินได้อีกแต่ยังคงรับราชการจนถึงปัจจุบันโดยเป็นทหารในสังกัดกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิแห่งรัฐอิลลินอยส์เช่นเดียวกับสามีของเธอ

5. ภายหลังเธอหันมาโลดแล่นบนเส้นทางการเมืองสหรัฐ โดยได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตและสมาชิกวุฒิสภาแห่งสหรัฐอเมริกาจากรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นสตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้รับเลือกเข้าสภาแห่งรัฐอิลลินอยส์

6. ในปี 2009 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึกของสหรัฐ และปี 2012 เธอได้รับชัยชนะการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้เธอเป็นสตรีทุพพลภาพคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงเชื้อสายไทยคนแรกในประวัติศาสตร์

7. ชาวไทยหันมาจับจ้องไปที่ แทมมี ดักเวิร์ธ อีกครั้งหลังจากที่เธอมีส่วนร่วมกับคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐในการออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทย และเรียกร้องให้ผู้นำไทยฟังเสียงของประชาชน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ที่ผ่านมา

8. การที่เธอออกมาพูดในครั้งนั้นส่งผลให้ประชาชนชาวไทยจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นซึ่งมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รวมถึงกลุ่มคนบางกลุ่มที่โจมตีถึงรูปร่างและความพิการของเธอ

9. อย่างไรก็ตาม แทมมี ดักเวิร์ธ ไม่ได้ย่อท้อต่อชะตาชีวิตของเธอโดยมองว่าเป็นข้อดีเสียด้วยซ้ำเนื่องจากมันทำให้เธอได้มองเห็นปัญหาหลายอย่างด้วยตนเองเช่นสวัสดิการที่คนพิการควรจะได้รับ

10. นอกจากนี้อดีตประธานาธิบดีโอบามาได้ยกให้เธอเป็น "ผู้หญิงแกร่งที่มีหัวใจที่ยิ่งใหญ่"

photo by Chip Somodevilla/Getty Images/AFP