posttoday

ชะตากรรมโรฮิงญาบ้านกลับไม่ได้ ถูกไล่ไปอยู่เกาะอันตราย

06 ธันวาคม 2563

บังกลาเทศส่งชาวโรฮิงญา 1,600 คนไปยังเกาะที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยหลังความหวังกลับเมียนมาริบหรี่

ทางการบังกลาเทศขนส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามากกว่า 1,600 คนไปยังเกาะที่มีพื้นที่ต่ำเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เป็นปฏิบัติการระยะแรกของการย้ายถิ่นฐานโรฮิงญาถึง 100,000 คนที่ลี้ภัยมาอยู่ในบังกลาเทศ

ชาวโรฮิงญาเกือบล้านคนซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการรุกรานทางทหารในเมียนมาร์ประเทศเพื่อนบ้านของบังกลาเทศเมื่อ 3 ปีก่อน ทั้งหมดอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ซอมซ่อทางตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ และโอกาสจะกลับไปเมียนมาดูเหมือนจะไม่น่าเป็นไปได้ในตอนนี้

รัฐบาลบังกลาเทศต้องการย้ายผู้ลี้ภัยจำนวน 100,000 คนไปยังเหาบาชัน จาร์ (Bhashan Char) ซึ่งเป็นเกาะตะกอนดินในอ่าวเบงกอลซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมและอยู่ในเส้นทางของพายุไซโคลนที่มักสร้างความหายนะในภูมิภาค

กลุ่มสิทธิต่างๆ กล่าวหาว่าหลายคนที่ถูกส่งเข้ามาในระลอกแรกเมื่อวันศุกร์ถูกบีบบังคับให้ดำเนินการด้วยการคุกคามหรือหลอกหล่อให้หลงเชื่อ

ผู้สื่อข่าวของ AFP สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยที่ค่ายในเขตค็อกซ์บาซาร์เมื่อวันพฤหัสบดีขณะที่พวกเขากล่าวคำอำลากับญาติของพวกเขาด้วยน้ำตา

“พวกเขาทุบตีลูกชายของฉันอย่างไร้ความปราณีและถึงกับทุบเข้าที่ฟันเพื่อให้เขายอมไปที่เกาะนี้” ซูเฟีย คาตุนวัย 60 ปีซึ่งมาส่งลูกชายของเธอและญาติอีก 5 คนกล่าว

แต่ เอ เค อับดุล โมเมน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศเรียกคำกล่าวอ้างเรื่องการทารุณกรรมว่าเป็น "คำโกหกหลอกลวง" และกล่าวว่าสิ่งอำนวยความสะดวกบนเกาะนั้น "ดีกว่า" ในค่ายมาก

บังกลาเทศได้ใช้เงิน 400 ล้านเหรียญสหรัฐจากเงินกองทุนของตนเองในการสร้างที่พักพิงและเขื่อนกันน้ำท่วมสูง 3 เมตร รอบ ๆ สถานที่พักพิงแห่งใหม่ เป็นกลุ่มอาคารที่เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าค่ายลี้ภัยเดิมแบบฟ้ากับเหว

รัฐบาลกล่าวว่าสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าว "สร้างขึ้นอย่างแข็งแรงด้วยฐานรากคอนกรีตซึ่งสามารถต้านทานภัยธรรมชาติเช่นไซโคลนและคลื่นยักษ์"

กระทรวงต่างประเทศกล่าวเมื่อวันศุกร์บนเกาะยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยน้ำจืดตลอดทั้งปี ทะเลสาบที่สวยงามและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพิ่มขึ้น"

"ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยังรวมถึงการจัดหาไฟฟ้าและน้ำอย่างไม่ขาดสาย, แปลงเกษตร, ศูนย์หลบภัยพายุไซโคลน, โรงพยาบาล 2 แห่ง, คลินิกชุมชน 4 แห่ง, มัสยิด, โกดังสินค้า, บริการโทรคมนาคม, สถานีตำรวจ, ศูนย์นันทนาการและการเรียนรู้, สนามเด็กเล่น ฯลฯ " กระทรวงต่างประเทศบังกลาเทศกล่าว

ทางการบังกลาเทศกล่าวว่าการย้ายที่ตั้งจะช่วยบรรเทาความแออัดในเครือข่ายค่ายกักกันที่มีเหตุดินถล่มร้ายแรงรวมทั้งความรุนแรงจากแก๊งยาเสพติดและกลุ่มหัวรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ

แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถออกไปจากเกาะได้หรือไม่หากต้องการ

สำนักงานสหประชาชาติในบังกลาเทศกล่าวว่าทางหน่วยงานถูกขัดขวางไม่ให้ประเมินอย่างอิสระเกี่ยวกับ "ความปลอดภัย ความเป็นไปได้ และความยั่งยืน" ของเกาะในฐานะที่อยู่อาศัย

โมฮัมหมัด จูบาเออร์ อายุ 28 ปีซึ่งอยู่บนเรือลำหนึ่งพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวสามคนในการเดินทางทางทะเลสามชั่วโมงจากจิตตะกองไปยังเกาะเมื่อวันศุกร์กล่าวว่าเขามีความสุขที่ได้ไป

“ผมหวังว่าจะมีงานเพียงพอสำหรับผมที่เกาะนี้ ผมหวังว่าพวกเขาจะพาพี่ชายและครอบครัวของเขาไปที่เกาะด้วย” เขาบอกกับ AFP ทางโทรศัพท์

Photo by Stringer / AFP