posttoday

จอร์จ โซรอส ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงม็อบไทยที่ถูกคนในบ้านเกิดเกลียดที่สุด

02 ธันวาคม 2563

การสนับสนุนทางการเงินให้กับองค์กรต่างๆ ทำให้เขาถูกโจมตีว่าพยายามสร้างความแตกแยกในประเทศอื่น

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มราษฎรมีการพูดถึงบ่อยครั้งว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังแกนนำนักเรียนนักศึกษา และหนึ่งในเบื้องหลังนั้นมีชื่อของชาวต่างชาติอยู่คนหนึ่งที่ถูกพาดพิงบ่อยมาก นั่นก็คือ จอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีผู้คร่ำหวอดในวงการการเงินวัย 90 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” สนุบสนุนการชุมนุมเพื่อบ่อนทำลายประเทศไทย

ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเคยพูดถึงเขาว่า “ชอบเข้าไปยุ่งวุ่ยวายกับทุกสถานการณ์ทั่วโลก” ส่วนประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป เอร์โดอาน ของตุรกีอ้างว่าโซรอสพยายามสร้างความแตกแยกและทำลายตุรกี

และไม่เฉพาะที่ไทย ตุรกี และรัสเซียเท่านั้นที่โซรอสเจอข้อหา “บ่อนทำลายประเทศ” แม้แต่ในฮังการีประเทศบ้านเกิดเจ้าตัวก็หนีไม่พ้นข้อกล่าวหาว่าพยายามล้มล้างรัฐบาล

เพื่อที่จะทำความเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของชายคนนี้เราต้องย้อนปูมหลังของเขาเสียก่อน

โซรอสเกิดเมื่อปี 1930 ที่ฮังการี ในครอบครัวชาวยิวโดยมีพ่อเป็นทนายความ โดยเขาใช้ชื่อว่า ยอร์จ ชวาร์ตซ์ (György Schwartz) ต่อมาครอบครัวต้องเปลี่ยนนามสกุลเป็นโซรอสเพื่อให้ฟังเหมือนเป็นชาวฮังการีมากกว่าชาวยิว เนื่องจากช่วงนั้นกระแสเกลียดชังชาวยิวค่อนข้างรุนแรงในฮังการี

ช่วงที่กองทัพนาซีของเยอรมนีบุกฮังการี พ่อของโซรอสได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนประวัติของครอบครัวว่าไม่ใช่ชาวยิว เพื่อไม่ให้ถูกนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งช่วยชีวิตชาวยิวไว้หลายคน

การเปลี่ยนประวัติครอบครัวทำใหโซรอสถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และยึดทรัพย์สินชาวยิวในฮังการี และยังถูกกล่าวหาอีกว่าไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นนาซีเยอรมันที่รอดชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ฝ่ายที่กล่าวหาจะไม่เคยมีหลักฐานมาสนุบสนุนเลยก็ตาม

ต่อมาในปี 1947 โซรอสย้ายไปอังกฤษ และเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัย London School of Economics ก่อนจะย้ายไปอยู่สหรัฐ กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยจากการลงทุนและเป็นผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟัน

หลังทำกำไรจากการลงทุนได้มหาศาล ในปี 1979 โซรอสตัดสินใจตั้งมูลนิธิ Open Society Foundation โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความยากจน ส่งเสริมความโปร่งใส และให้ทุนการศึกษาทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปตะวันออกและอดีตสหภาพโซเวียต

หนึ่งในนักศึกษาที่ได้ทุนจากมูลนิธิของโซรอสไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็คือ ประธานาธิบดี วิกตอร์ ออร์บัน ของฮังการี ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับโซรอสอยู่ในขณะนี้ และในอีก 2 ทศวรรษต่อมาทางมูลนิธิยังบริจาคเงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐให้รัฐบาลของออร์บันเพื่อนำไปใช้ทำความสะอาดหลังโคลนและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน

นับตั้งแต่ก่อตั้งมูลนิธิ โซรอสบริจาคเงินไปแล้วกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทว่ามูลนิธิของเขามักจะสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ทำให้เขากลายเป็นตัวร้ายในสายตาของรัฐบาลชาตินิยมและรัฐบาลที่ไม่ฝักใฝ่แนวคิดเสรีนิยม และเป็นเป้าหมายโจมตีหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีออร์บันที่มีแนวคิดชาตินิยมสุดโต่ง

มีการอ้างกันว่าประธานาธิบดีออร์บันดีรับคำแนะนำจาก อาร์เธอร์ ฟิงเคิลสตีน ที่ปรึกษาด้านการเมืองในตำนานที่เคยให้คำปรึกษาทั้ง โดนัลด์ ทรัมป์, จอร์จ บุช ผู้พ่อ,โรนัลด์ เรแกน และริชาร์ด นิกสัน รวมทั้งเป็นคนที่ทำให้คำว่า “เสรีนิยม” เป็นคำแสลงหูในทางการเมือง ให้ใช้โซรอสเป็นตัวล่อเป้าความเกลียดชังเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำฮังการีสมัยที่ 2

ในการหาเสียงเมื่อปี 2017 ประธานาธิบดีออร์บันติดโปสเตอร์โจมตีโซรอสทั่วประเทศ เป็นภาพโซรอสกำลังยิ้มและมีข้อความว่า “อย่าให้โซรอสได้หัวเราะเป็นคนสุดท้าย” รวมทั้ง “99% ไม่ยอมรับผู้อพยพผิดกฎหมาย” เพื่อสร้างความเกลียดชังโซรอสและชุมชนชาวยิว จนะการเลือกตั้งกลับมา

ขณะที่โซรอสประกาศต่อสาธารณชนหลายครั้งว่าตัวเขาสนับสนุนให้กลุ่มประเทศยุโรปรับผู้อพยพราว 300,000 คนต่อปีโดยผ่านกระบวนการคัดกรอง โดยมองว่าเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในหลายภาคการผลิตและการบริการของยุโรป

แนวคิดและท่าทีของโซรอสในเรื่องการรับผู้อพยพ ไม่เป็นที่พอใจของรัฐบาลพรรคฟิแดสซ์ (Fidesz) ของฮังการี ซึ่งมีจุดยืนแบบชาตินิยมขวาจัด ต่อต้านยิวและอิทธิพลจากต่างชาติ รวมทั้งปิดประตูไม่ต้อนรับผู้อพยพ

ส่วนตัวประธานาธิบดีออร์บันเองก็โจมตีว่า โซรอสมีแผนจะปล่อยให้ผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามาในฮังการีและทำลายประเทศของตัวเอง และยังกล่าวหาว่ามหาเศรษฐีวัย 90 ปีทำลายชีวิตผู้คนนับวิบนับร้อนล้านคนจากการเก็งกำไรค่าเงิน

นอกจากตัวโซรอสเอง เราไม่มีทางรู้ความจริงเลยว่าเจตนาที่แท้จริงในการก่อตั้งมูลนิธิของ Open Society Foundation เป็นไปเพื่อวางยาประเทศอื่น รวมทั้งฮังการีหรือไม่

แต่ในมุมมองของ ฮานเนส กราสเซเกอร์ ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์  Das Magazin ในวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะที่ไหนในโลกโซรอสก็ถูกเกลียดชังทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นเพราะรากเหง้าและอาชีพการงานของเขา “ฝ่ายขวาจัดเกลียดเขา (โซรอส) เพราะเขาเป็นชาวยิว ฝ่ายซ้ายจัดเกลียดเขาเพราะเขาเป็นนักลงทุน”