posttoday

สรุปปมขัดแย้ง เกิดอะไรขึ้นกับจีน-ออสเตรเลีย

01 ธันวาคม 2563

กรณีพิพาทจีน-ออสเตรเลียเกิดขึ้นมาแรมปีท่ามกลางความกังวลของนานาประเทศ

- ชนวนเหตุเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2019 ทูตขององค์การสหประชาชาติ 22 ประเทศรวมถึงออสเตรเลียได้ลงนามในจดหมายประณามการที่จีนปฏิบัติต่อชาวอุยกูร์อย่างไม่เหมาะสมรวมถึงการปฏิบัติอย่างมิชอบต่อชนกลุ่มน้อยอื่นๆ และเรียกร้องให้รัฐบาลจีนปิดค่ายปรับทัศนคติซินเจียง

- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับหลายประเทศรวมถึงออสเตรเลียเริ่มแย่ลงในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จนกระทั่งเดือนเมษายน 2020 รัฐบาลออสเตรเลียได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนสาเหตุของการแพร่ระบาด ส่งผลให้จีนไม่พอใจ

- ในเดือนมิถุนายน 2020 ออสเตรเลียได้ออกมาคัดค้านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกงอย่างเปิดเผย และในวันที่ 9 ก.ค. นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริซันของออสเตรเลียได้ระงับสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฮ่องกง เนื่องจากความเกรงกลัวในกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของจีน

-วันที่ 6 ต.ค. กลุ่ม 39 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สหรัฐอเมริกา, แอลเบเนีย, บอสเนีย, แคนาดา, เฮติ, ฮอนดูรีส, ญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่วนใหญ่ ได้แถลงที่องค์การสหประชาชาติเพื่อประณามการที่จีนปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยและลดทอนเสรีภาพของชาวฮ่องกง

- วันที่ 17 พ.ย. เจ้าหน้าที่สถานทูตจีนแถลงว่าประเทศจีนโกรธออสเตรเลียเป็นอย่างมาก พร้อมประกาศศัตรูต่อออสเตรเลีย "หากออสเตรเลียตั้งตัวเป็นศัตรูต่อจีน จีนก็จะเป็นศัตรู" นอกจากนี้ยังกล่าวว่าหากออสเตรเลียยอมถอยบรรยากาศระหว่าง 2 ประเทศก็จะดีขึ้น ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้ออสเตรเลียมองว่าจีนกำลังคุกคามอย่างเปิดเผย

- วันที่ 19 พ.ย. จีนส่งสัญญาณคุกคามออสเตรเลียอีกครั้งรวมถึงประเทศในกลุ่มพันธมิตรไฟว์อายส์ (Five Eyes-FVEY) ซึ่งประกอบด้วยออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจกร และสหรัฐ โดยจ้าวลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า "ไม่ว่าพวกเขาจะมีกี่ดวงตา 5 หรือ 10 ดวงตาก็ตาม ไม่ควรมีใครกล้าบ่อนทำลายอธิปไตยของจีน รวมถึงผลประโยชน์ด้านความมั่นคงและการพัฒนาของจีน ระวังจะโดนจิ้มตา"

- จีนใช้การค้าเพื่อกดดันออสเตรเลีย โดยประกาศเก็บภาษีการส่งออกไวน์ของออสเตรเลียสูงถึง 200% ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างความสูญเสียอย่างมากในอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังกำหนดข้อจำกัดสำหรับสินค้าเกษตรอื่นๆ และถ่านหินจากออสเตรเลียอีกด้วย

- วันที่ 30 พ.ย. จ้าวลี่เจียนเผยแพร่ภาพทหารออสเตรเลียถือมีดเปื้อนเลือดจ่อคอเด็กชายอัฟกันผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว พร้อมระบุว่า "ตกตะลึงกับการสังหารพลเรือนชาวอัฟกานิสถานและนักโทษโดยทหารออสเตรเลีย เราขอประณามการกระทำดังกล่าว และขอเรียกร้องให้พวกเขารับผิดชอบ"

- สกอตต์ มอร์ริซัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียเรียกร้องให้รัฐบาลจีนขอโทษอย่างเป็นทางการในการเผยแพร่ภาพปลอมดังกล่าว

- วันที่ 1 ธ.ค. หลายประเทศได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์อันตึงเครียดระหว่างจีนและออสเตรเลีย รวมทั้งจาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ก็ได้กล่าวแสดงความกังวลต่อการเผยแพร่ภาพปลอมของจ้าวลี่เจียน และรัฐบาลฝรั่งเศสยังได้กล่าวว่าทวีตดังกล่าวไม่คู่ควรกับวิธีการทางการทูต และเป็นการดูถูกทุกประเทศที่มีกองกำลังติดอาวุธในอัฟกานิสถาน

- อย่างไรก็ตามกองกำลังป้องกันออสเตรเลียระบุว่าพบ "ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ" ว่าทหารออสเตรเลีย 25 นาย เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมพลเรือนชาวอัฟกานิสถาน 39 คนรวมถึงนักโทษระหว่างปี 2009 ถึง 2013

- นอกจากนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาผู้สื่อข่าว 2 คนสุดท้ายที่ทำงานให้กับสื่อของออสเตรเลียในประเทศจีนได้ถูกโยกย้ายตามคำแนะนำของนักการทูต รวมถึงนักวิชาการชาวออสเตรเลีย 2 คนถูกห้ามเข้าประเทศจีน