posttoday

บลูมเบิร์กชี้โควิดช่วยผลักดันการพัฒนาวัคซีนไทยสู่ยุคใหม่

28 พฤศจิกายน 2563

การแข่งขันพัฒนาวัคซีน Covid-19 เป็นการกรุยทางให้นักวิจัยไทยผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ  

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปัจจุบันไทยกำลังพัฒนาวัคซีน Covid-19 ราว 20 ตัว โดยคาดว่าวัคซีน 2 ตัวที่คืบหน้าที่สุดจะเริ่มทดสอบทางคลินิกในระยะแรกในช่วงต้นปีหน้า

ในขณะที่วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่างไฟเซอร์ (Pfizer) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) กำลังจะออกสู่ท้องตลาด แต่ประเทศไทยวางตำแหน่งตัวเองให้มีบทบาทสำคัญกว่านั้นในการรับมือกับโรคระบาด

ความเร่งด่วนในการพัฒนาวัคซีน Covid-19 ครั้งนี้เป็นการปลดล็อกการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลและนักวิชาการที่อาจขจัดปัญหาคอขวดที่ฉุดรั้งการวิจัยวัคซีนอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัคซีน Covid-19 ของไทย

ฟามฮองไทย ซีอีโอบริษัทวิจัยไบโอเนท-เอเชีย (BioNet-Asia) ซึ่งตั้งอยู่ในไทยและมีแผนจะทดลองวัคซีน Covid-19 ในเดือน ม.ค.ปีหน้าระบุว่า “เราหวังว่าในสถานการณ์ Covid-19 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่เราสามารถย่นระยะเวลาการพัฒนาและผลิตวัคซีน” และยังกล่าวเสริมว่า ประเทศไทยต้องการวัคซีนป้องกันโรคอุบัติซ้ำอย่างไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า

บลูมเบิร์กรายงานอีกว่า ไทยให้ความสำคัญกับการผลิตวัคซีน Covid-19 เองมากกว่าการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลว่าประเทศที่ไม่ได้มั่งคั่งจะไม่ได้รับวัคซีนที่หายากนี้

จากการจัดอันดับประเทศที่ฟื้นตัวจาก Covid-19 ได้ดีที่สุดของบลูมเบิร์กพบว่า ประเทศที่ทำสัญญาซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่มีอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นประเทศใหญ่และมั่งคั่ง อาทิ สหรัฐ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินโดนีเซียได้ทำสัญญาเข้าถึงวัคซีนเนื่องจากยินยอมให้บริษัทวิจัยทดสอบวัคซีนกับประชาชนของตัวเอง

ทว่าข้อตกลงเช่นนั้นเป็นข้อตกลงที่ไทยไม่ได้เสนอตัว

ฟามฮองไทยเผยว่า “ประเทศไทยมีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับวัคซีนที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ความท้าทายก็คือ การขยับเลื่อนขั้นจากงานวิจัยมาสู่ขั้นตอนการผลิต และเรื่องนี้เป็นความท้าทายของไทยมาหลายปีแล้ว”

ขณะที่วัคซีนอีกตัวหนึ่งของไทยจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) เช่นเดียวกับวัคซีนของโมเดอร์นา (Moderna) และไฟเซอร์คาดว่าจะเริ่มทดสอบทางคลินิกในระยะแรกในเดือน เม.ย.ที่จะถึงนี้ จากกำหนดเดิมที่จะเริ่มในปีนี้ เนื่องจากมีปัญหาล่าช้าด้านการผลิต

เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่า “ครั้งนี้เราอาจจะช้า แต่ความสำเร็จสำคัญของเราคือ เราได้เรียนรู้จากประสบการณ์ และครั้งหน้าเราจะทำได้เร็วกว่านี้” และกล่าวอีกว่า เทคโนโลยีใหม่นี้สามารถนำมาใช้กับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคอื่นได้ด้วย

ขณะที่ ฟามฮองไทย ทิ้งท้ายว่า “เราไม่ควรเสี่ยงลงทุนลงแรงไปกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งหมด เพราะหากพลาดก็จะเสียทุกอย่างไป ไทยจะต้องยกระดับศักยภาพและทรัพยากรของตัวเองเพื่อพัฒนาและผลิตวัคซีนให้คนไทย”