posttoday

ต้องเก็บภาษีคนละเท่าไร คนไทยถึงอยู่ดีมีสุขแบบรัฐสวัสดิการ

26 พฤศจิกายน 2563

เสียงเรียกร้องขอรัฐสวัสดิการในไทยดังขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐสวัสดิการไม่ได้เกิดขึ้นเอง มันจะต้องใช้งบประมาณมหาศาล แล้วเราพร้อมที่จะจ่ายหรือไม่?

การชุมนุมประท้วงในประเทศมีประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันบ่อยๆ คือการผลักดันรัฐสวัสดิการ (#ถ้าการเมืองดี) พร้อมๆ กับการแสดงความไม่พอใจที่ภาษีของพวกเขานำไปใช้ "อย่างไม่ถูกต้อง" (ตะโกนพร้อมๆ กันว่าภาษีกูๆ)

เราไม่รู้ว่าคนส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจะรู้หรือไม่หรือเป็นแค่เรื่องบังเอิญ เพราะการสร้างรัฐสวัสดิการที่ประชาชนได้รับบริการที่ดีนั้นเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วย

การเรียกร้องรัฐสวัสดิการไม่ใช่เพิ่งจะมี แต่พูดกันมาหลายสิบปีแล้ว งานเขียนชิ้นหนึ่งว่าด้วยรัฐสวัสดิการที่ง่ายแก่การเข้าใจคือ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ของศ. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ซึ่งท่านได้วาดหวังไว้ว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งควรได้รับบริการอะไรจากรัฐบ้างจึงจะเรียกว่าคุ้มค่าที่เกิดมาเป็นคนของรัฐนั้นๆ

แต่ "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน" ง่ายเกินไปเพราะเป็นลักษณะของ "อุดมคติ" จนไม่ได้พูดถึงความซับซ้อนของสังคมที่คนรวย คนจน คนชั้นกลาง มีรายได้ห่างกันมากในประเทศไทย ห่างเสียจนการเก็บรายได้อย่างเป็นธรรมเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ

ปัญหาเฉพาะหน้าที่สุดของของการสร้างรัฐสวัสดิการคือจะเอาเงินมาจากไหน?

ของฟรีไม่มีในโลกฉันใด รัฐสวัสดิการไม่เกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ฉันนั้น ทั้งการศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี ทั้งหมดต้องจ่ายด้วยเงินทั้งสิ้น

รัฐสวัสดิการคือการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน รับประกันว่าพวกเขาจะมีกิน มีการศึกษา มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน รัฐเองต้องมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเองก่อน

โดยทั่วไปเงินทุนของรัฐสวัสดิการมาจากสองแหล่งหลัก ได้แก่ (1) รายได้จากภาษีทั่วไป (2) เงินประกันสังคมที่นายจ้างและ/หรือลูกจ้างจ่ายให้ ส่วนอื่นๆ มีบทบาทเล็กน้อยเท่านั้น

ประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดีเลิศส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปเหนือประเทศเหล่านี้เก็บภาษีในอัตราสูงมาก เช่น สวีเดนเก็บในอัตราสูงถึง 60% ของรายได้ แต่ "ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อมั่นรัฐในการจัดการภาษีด้วยดี มีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งในวงกว้างว่าเงินที่ไปสู่รัฐสวัสดิการนั้นจะถูกใช้อย่างเป็นประโยชน์"

ดังนั้นสิ่งแรกที่จะต้องสร้างคือ ความเชื่อมั่นในรัฐ เชื่อว่าจะบริหารเงินของเราได้ ไม่ใช่ควักกระเป๋า

เมื่อดูสถานการณ์ของไทยตอนนี้ห่างชั้นจากความว่าเชื่อมั่นในรัฐอย่างมาก หากตัดเรื่องการเมืองออกไปแล้วดูแค่ดัชนีคอร์รัปชั่น จะพบว่าไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่มาก

เทียบกับประเทศที่คอร์รัปชั่นต่ำและความโปร่งใสสูง ประเทศหล่านี้ล้วนแต่เป็นรัฐสวัสดิการเต็มตัวทั้งสิ้่น คือ เดนมาร์กกับนิวซีแลนด์ที่คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในโลก ตามด้วยฟินแลนด์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์

เดนมาร์กเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 55.80% ฟินแลนด์เก็บ 53.52% สวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นสหพันธรัฐเก็บ 2 ระดับคือระดับสหพันธ์ ประมาณต่ำกว่า 1% - 11.5% และระดับท้องถิ่นอาจสูงถึง 48.0% (ในเจนีวา)

ส่วนนิวซีแลนด์เก็บที่ 10.5% - 33% และสิงคโปร์ 22% ทั้งสองประเทศไม่ได้อยู่ในยุโรปเหนือและไม่ใช่รัฐสวัสดิการเต็มตัวดังนั้นเราจะละสองประเทศนี้ไว้ฐานที่เข้าใจ

หันกลับมามองที่ไทย การเก็บภาษีของไทยนั้นไม่ครอบคลุม คนที่เสียภาษีจริงๆ มีแค่ 4 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด ส่วนที่เหลือไม่ถึงเกณฑ์จะเสีย (เพราะจนเกินไป) หรือได้งดเว้นภาษี (เพราะเป็นคนชั้นกลางที่สร้างตัว) คนที่เสียภาษีจริงๆ จึงเหลือแต่คนที่มีรายมาก ดูแล้วเหมือนจะเป็นการเก็บภาษีก้าวหน้าที่แฟร์ เพราะเกลี่ยคนรวยมาช่วยคนจน แต่ถ้าเราจะสร้างรัฐสวัสดิการเราจะมา "เตี้ยอุ้มค่อม" แบบนี้ไม่ได้

หากยังไม่ชัดว่ามันเตี้ยอุ้มค่อมอย่างไร ให้เทียบดูสัดส่วนคนเสียภาษีของไทยที่มี 4 ล้านจากประชากร 69.43 ล้านคน ส่วนสวีเดนมีประชากร 10.23 ล้านคน แต่มีคนเสียภาษีประมาณ 7 ล้านคน

คิดกลมๆ ก็คือทั้งประเทศไทยมีคนเสียภาษีแค่ 5.7% ส่วนสวีเดนมีคนเสียภาษีถึง 68.4% ของประชากรทั้งหมด เห็นได้ชัดว่าใครที่สามารถจะสร้างสังคมสวัสดิการที่มั่นคง และ "แฟร์" มากกว่าเพราะเก็บภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยและครอบคลุมมากกว่ากัน

ดังนั้นภารกิจแรกก่อนจะสร้างรัฐสวัสดิการที่มั่นคงคือ "ต้องกำจัดความยากจนให้หมดก่อน"

แน่นอนว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้ที่สังคมหนึ่งๆ จะไม่มีคนจนเลย แต่ไม่ใช่ว่ามันจะทำไม่ได้ อย่างน้อยจีนก็พยายามทำอยู่ หรือหากไม่ได้เล่นใหญ่แบบจีน เราก็สามารถช่วยให้ประชาชนเกือบทั้งหมดหลุดพ้นจากภาวะไม่มีจะกินให้ได้เสียก่อน

มีผู้กล่าวว่า "เป้าหมายที่แท้จริงควรเป็นการลดความยากจน แทนที่จะลดความเหลื่อมล้ำ" (real goal should be reducing poverty rather than reducing inequality.)

ไม่มีสังคมไหนในโลกที่ไม่เหลื่อมล้ำ แต่เราสามารถให้โอกาสคนอย่างเท่าเทียมกันได้เพื่อให้เขาเลือเอาว่าจะกดตัวเองให้ต่ำลง อยู่ในสถานะเดิม หรือมุ่งไปสู่ภาวะที่สูงกว่า การให้โอกาสคนที่เท่ากับและให้พวกเขาทำให้ที่ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเท่าเทียมกันต่างหากคือสิ่งที่จะต้องทำเป็นอันดับแรกก่อน

ถามว่าถ้าไม่ลดความยากจนเพื่อที่จะสร้างผู้เสียภาษีให้ครอบคลุมขึ้น เราจะมุ่งเก็บแต่ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้หรือไม่?

ประเด็นเรื่อง VAT กลุ่มผู้ประท้วงในไทยยกขึ้นมาอ้างหลายครั้งหลายหนว่าเป็นเหตุให้พวกเขาเรียกร้องบริการสาธารณะจากรัฐเพราะเสียภาษีไปแล้วในรูปของ VAT

มาดูที่ข้อเท็จจริงกันก่อน VAT เป็นภาษีได้เข้ารัฐสูงสุดคือ 37% เทียบกับภาษีรายได้บุคคลธรรมดาที่คิดเป็น 15% และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล 29% ของภาษีทั้งหมด อีก 19% ที่เหลือเป็นภาษีอื่นๆ

จะเห็นว่า VAT คือขุมกำลังสำคัญของรายได้ภาษีและเป็นภาษีที่ทุกคนมีส่วนร่วมจ่าย ยิ่งใช้มากยิ่งจ่ายมาก ไม่ต้องรอให้รวยก่อนแล้วค่อยจ่ายมาก

ในสวีเดนเองก็มีการยกความดีความชอบให้กับ VAT ว่าเป็นพลังสำคัญที่ช่วยหนุนรัฐสวัสดิการ แต่แน่นอนว่ามันเดินขาเดียวไม่ได้ VAT ต้องเก็บมากขึ้นโดยมีการลดเพดานการเก็บภาษีเพื่อเก็บภาษีให้ครอบคลุมคนทุกชั้นมากขึ้น ลดมาตรการผ่อนผันภาษี และเพิ่มอัตรา VAT อยู่ที่ 25% ซึ่งสูงที่สุดในยุโรป

ดังนั้นคีย์เวิร์ดก็ยังอยู่ที่ "เก็บภาษีโดยเท่าเทียมกัน"

ปัญหาคือไทยยังลดความยากจนไม่สำเร็จจึงสร้างฐาน Tax ไม่กว้าง ขณะเดียวกันพอจะขึ้น VAT ก็มีเสียงโวยวายจากประชาชนขึ้นมาอีกว่าเป็นภาระกับพวกเขา

ลงแบบนี้คนไทยจะเข้าทำนอง "เสียคืบจะเอาศอก" ภาษีไม่อยากจ่ายเพิ่ม แต่อยากจะได้สวัสดิการ

ตอนนี้ไทยก็มีสวัสดิการที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีก นั่นคือ "สามสิบบาทรักษาทุกโรค" ซึ่งได้รับคำชมจากทั่วโลก แต่มีปัญหาที่แก้ไม่ตกคือมันไม่ค่อยจะยั่งยืนเรื่องการเงิน ทั้งเงินไม่พอ และมีเหลือบหากินกับนโยบายนี้

ปัญหาจึงกลับมาที่จุดเดิมคือไทยขาดทั้งเงินและขาดทั้งความโปร่งใส หากแก้เรื่องนี้ไม่ได้ก็เป็นรัฐสวัสดิการไม่ได้

แต่ไม่มีรัฐบาลไทยชุดไหนกล้าเสี่ยงขึ้นภาษีบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะมันคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง ดังนั้นก่อนที่จะทำให้รัฐมีเงินเข้ามามาก เราต้อง "ศรัทธาในรัฐ" แบบชาวสวีเดนเสียก่อน ศรัทธาว่าเจ้าหน้าที่จะไม่โกงกินและนำเงินภาษีของเราไปใช้อย่างคุ้มค่า

เรื่องทั้งหมดนี้เหมือนงูกินหาง ไม่รู้จะแก้จุดไหนก่อน

Photo by Jack TAYLOR / AFP