posttoday

ต่างชาติจับตาประท้วงไทย หวั่นบานปลาย

26 พฤศจิกายน 2563

สำนักข่าวและองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศจับตาเหตุการณ์ประท้วงในไทย แนะหยุดใช้ความรุนแรง

สื่อและองค์กรระหว่างประเทศเริ่มจับตาประเทศไทยมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลไทยเริ่มตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อผู้ชุมนุมประท้วง องค์กรที่มีปฏิกิรยาต่อเรื่องนี้มีทั้งองค์กรเอกชนเพื่อสิทธิมนุษยชนไปจนถึงองค์กรระดับรัฐบาลระหว่างประเทศ 

สื่อระดับโลกอาทิ เอเอฟพี รายงานว่ามีการเรียกตัวแกนนำ 12 คนเพื่อรับทราบข้อหา โดยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปีที่ข้อหานี้ถูกนำมาใช้อย่างเข้มงวด โดยมาตราดังกล่าวไม่ได้ถูกเรียกใช้ตั้งแต่ปี 2018 แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอนุมัติให้ใช้กฎหมายต่อผู้ประท้วงที่พ่นสีบริเวณกองบัญชาการตำรวจ กรุงเทพมหานคร

เอเอฟพียังรายงานว่าประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นประมาทที่ร้ายแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และการโพสต์หรือแชร์เนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย

เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ หนึ่งในแกนนำกล่าวกับเอเอฟพีว่า เขาไม่กลัวเลยแม้แต่น้อย และเชื่อว่าการได้รับหมายเรียกในข้อหานี้จะยิ่งส่งผลให้มีประชาชนมาเข้าร่วมชุมนุมมากยิ่งขึ้น

รวมถึงกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างประเทศได้แสดงความกังวลต่อการใช้แก๊สน้ำตาและน้ำแรงดันสูงในการสลายการชุมนุมในประเทศไทย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายและการจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานโดยอ้างคำพูดของเดวิด สเตรกฟัส นักวิชาการอิสระที่ศึกษาเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 ของประเทศไทย กล่าวว่า "กฎหมายหมิ่นประมาทใดๆ ขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆ ว่าจะยอมรับหรือไม่ แต่ในขณะที่ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในอดีตอาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบัน วันหนึ่งเราอาจจะกลับมาคิดว่าการใช้มาตรา 112 ในช่วงเวลานี้เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่"

ด้าน อามัล คลูนีย์ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและประธานร่วมของมูลนิธิคลูนีย์เพื่อความยุติธรรม แสดงความคิดเห็นต่อการตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า "ไม่ควรมีใครถูกจับหรือจำคุกเพียงเพราะวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือระบบการปกครอง ประเทศไทยไม่ควรตอบโต้การประท้วงโดยสันติโดยการปราบปรามผู้ประท้วงผ่านการฟ้องร้องด้วยปากกระบอกปืน"

ขณะที่สหพันธ์นานาชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปารีสกล่าวเพิ่มเติมว่า "ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจะต้องไม่ถูกนำไปใช้ในทางอาญาต่อแกนนำและผู้เข้าร่วมการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย"

รวมถึงองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) กล่าวต่อเหตุการณ์ที่ตำรวจไทยฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ว่าเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเคยให้สัตยาบันเมื่อปี 1996 ว่าจะปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสันติ

โดยในวันที่ 18 พ.ย. อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยมองว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยควรละเว้นการใช้ความรุนแรงและให้ความคุ้มครองประชาชนทุกคนในประเทศที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการประท้วงอย่างสันติ

ด้านแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการสหประชาชาติเอเชียกล่าวว่าทางการไทยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเลขาธิการสหประชาชาติและหยุดใช้ความรุนแรงโดยไม่จำเป็นต่อผู้ชุมนุม รวมถึงป้องกันการเกิดความรุนแรงจากกลุ่มใดๆ เพื่อไม่ให้สถานการณ์ลุกลามเกินกว่าจะควบคุมได้

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP