posttoday

กี่ครั้งแล้วที่ความวุ่นวายทางการเมืองคือตัวฉุดเศรษฐกิจไทย

24 พฤศจิกายน 2563

ประเทศไทยอาจจะไม่ต้องแข่งกับใครเลย เพราะการต้องแข่งกับตัวเองให้รอดก่อนเป็นภารกิจที่ยากที่สุด

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2020 มีข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจพอควรเกี่ยวกับประเทศไทย คือทัศนะของนักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท Nomura ที่บอกกับ CNBC ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพ "ค่อนข้างแย่" เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาและการประท้วงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยูเบน พาราคูเอลส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาเซียนของ Nomura บอกว่า “เราทราบดีว่า (ไทย) นั้นต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นอย่างมากและภาคส่วนนั้นได้รับความเสียหายจากโควิด -19 อย่างรุนแรง” แต่มันไม่จบแค่นั้น เขายังบอกว่าสิ่งที่ไทยไม่ปรารถนาอย่างยิ่งคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอลง แต่ "การประท้วงก็ทำเช่นนั้นโดยมีผลโดยตรงต่อการใช้จ่าย"

ภาพที่เกิดขึ้นเหมือนฝันร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ที่พอจะดีกับเขาบ้างก็กลับต้องมาสะดุดขาตัวเองเสียอย่างนั้นทุกครั้งไป และอาการสะดุดขาร้อยทั้งร้อยเกิดการ "ทำตัวเอง" ผ่านปัญหาทางการเมือง

สำหรับคอการเมืองเรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหา และพวกเขาอาจจะเถียงอย่างรุนแรงว่าการไม่พูดเรื่องการเมืองคือปัญหาต่างหาก ซึ่งในแง่มุมของพวกเขาก็ถือว่าถูก แต่ในแง่ของการลงทุนแล้ว การมีกิจกรรมที่ขัดแย้งทางการเมือง "มากเกินไป" คือปัญหา

สำหรับประเทศที่พึ่งพาเงินจากประเทศอื่นในสัดส่วนมหาศาลอย่างไทย การที่มีปัญหาการเมืองไม่ว่างเว้น คือสิ่งที่น่าเหนื่อยหน่ายสำหรับนักลงทุน เพราะพวกเขาไม่สามารถคาดเดาได้ง่ายๆ เลยว่า ทิศทางของประเทศไทยจะไปทางไหน หรือถ้าตั้งทิศทางที่จะเดินแล้ว ไทยจะเดินไปถึงเป้าหรือไม่ เพราะมีการขัดขากันเองตลอด

ทั้งการรัฐประหาร การประท้วง จลาจล และการต่อรองทางการเมืองที่ไม่ลงตัว เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ไทยสะดุดขาตัวเองทั้งสิ้น

ย่อนกลับไปเมื่อปี 2014 - 2015 เมื่อชาวโลกรับทราบข่าวการทำรัฐประหารในประเทศไทย ปฏิกิริยาในลำดับต่อมา (หลังจากตกอกตกใจ ผิดหวัง และมองไม่เห็นอนาคตไทย) คือการเชื่อว่าไทยจะต้องพังพินาศแน่นอน

สื่อบางรายและนักวิเคราะห์บางคนถึงกับมอบฉายา The Sick Man of Asia ให้กับประเทศไทย เช่น M.H. Burton นักเขียนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับไทยพอสมควรเขียนบทความเรื่อง Thailand: The Sick Man of Asia (ประเทศไทย : คนป่วยแห่งเอเชีย) โดยชี้่ว่าการทำรัฐประหารเปรียบเสมือน "มะเร็ง" ที่ทำให้ไทยล้มป่วย

ผู้เขียนทิ้งท้ายแบบห่วงใยว่า "คนป่วยจะฟื้นหรือไม่? เวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ แต่มีเรื่องที่น่าดีใจอย่างหนึ่งคือเมียนมาเพื่อนบ้านซึ่งป่วยมานานกว่ามากแล้ว กำลังที่จะคึกคักขึ้นมาและอาการป่วยดีขึ้น"

บทความนี้เขียนขึ้นในปี 2015 ซึ่งเมียนมาจัดเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในระบอบ 25 ปีหลังจากอยู่ภายใต้เผด็จการทหารมานานหลายสิบปีและผู้ที่คว้าชัยชนะยังเป็นนักสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างอองซาน ซูจี ภาพลักษณ์ของเมียนมาในเวลานั้นจึงสวยหรูน่าดูมากว่าไทยที่ "ถอยหลังเข้าคลอง"

แต่ผ่านมาถึงวันนี้สภาพของเมียนมาไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมมากนัก ทหารยังคงกุมอำนาจกึ่งหนึ่ง แถมอองซาน ซูจียังกลายร่างจากนักสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นปีศาจร้ายในสายตานักสิทธิมนุษยชนเสียอีก หลังจากที่ชาวโลกได้รู้ใส้รู้พุงเมียนมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโรฮิงจา เมียนมาก็ถูกคว่ำบาตรและการลงทุนหดหายไปจากที่เคยพีคสุดๆ ในปี 2015 กลับมาดิ่งสุดๆ ในปี 2018 ในแง่เศรษฐกิจกราฟการเจริญเติบโตยังหัวทิ่มด้วยซ้ำนับตั้งแต่ปี 2015 - 2019

สภาพของเมียนมาจึงเป็นคนป่วยยิ่งกว่าไทย เพราะฟื้นขึ้นมาแป๊บเดียวแล้วทรุดลงไปกองกับพื้นอีกแถมยังเสี่ยงที่จะถูกต่างชาติคว่ำบาตรมากกว่าไทยหลายเท่า แต่แน่ล่ะการที่เพื่อนบ้านย่ำแย่ ไม่ได้หมายความว่าไทยจะดี

นอกจากเมียนมาแล้วไทยยังถูกเปรียบเทียบกับฟิลิปปินส์ที่ครองตำแหน่ง "คนป่วยแห่งเอเชีย" มาหลายทศวรรษ แต่หลังจากเกิดรัฐประหารในไทยมีชาวฟิลิปปินส์บางคนเกิดความหวังขึ้นมาว่าประเทศตัวเองจะพ้นจากฉายานี้แล้วโยนไปให้ไทยรับแทน

ในช่วงปี 2013 - 2015 ฟิลิปปินส์มาแรงมากสวนทางกับไทยที่อ่อนแออย่างหนัก ความแข็งแกร่งของฟิลิปปินส์ทำให้ผลสำรวจขององค์การการค้าภายนอกของญี่ปุ่นยกเลิกสถานะ "คนป่วย" ของฟิลิปปินส์ และหลังจากนั้นก็มีบทความพยากรณ์ความล่มสลายของไทยในฐานะคนป่วยแห่งเอเชียอย่างต่อเนื่องและบางกรณีเทียบไทยกับฟิลิปปินส์

ยกตัวอย่างเช่น บทความเรื่อง "Why Thailand is now Southeast Asia's 'sick man'" (เหตุใดประเทศไทยจึงกลายเป็น 'คนป่วย' ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) โดย AFP เมื่อปี 2015 ที่ชี้ว่าโรคร้ายที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยคือหนี้ครัวเรือนที่สูงมาก และชี้ว่า "กองทัพ (คณะรัฐประหาร) ได้สัญญาว่าจะปล่อยเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นมาก แต่เงินยังไม่ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ" บทความนี้มองเห็นปัญหาได้แหลมคมและปัญหาที่มองเห็นก็ยังเป็นจริงอยู่

บทความเรื่อง "Thailand Risks Inheriting Asia’s Sick-Man Tag on Unrest: Economy" (ความเสี่ยงของประเทศ : ไทยสืบทอดฉายาคนป่วยของเอเชียจากความไม่สงบและเศรษฐกิจ) ในสำนักข่าว Bloomberg เมื่อปี 2015 โดยชี้่ว่าการทำรัฐประหารทำให้นักลงทุนตีห่างจากไทยนแล้วไปซบเพื่อนบ้านที่เคยมีความเสี่ยงมากกว่า เช่น ฟิลิปปินส์และเมียนมา

แต่เวลาได้พิสูจน์แล้วว่า เมียนมากับฟิลิปปินส์รากฐานไม่มั่นคงมากกว่าไทยเสียอีก สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการติดหล่มของเมียนมาและพื้นฐานที่อ่อนแอของฟิลิปปินส์ที่เห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2018 ว่าเอาเข้าจริงฟิลิปปินส์ยังไม่หลุดพ้นจากตำแหน่งคนป่วยแห่งเอเชียเลย ยิ่งพอเกิดการระบาดของโควิด-19 ฟิลิปปินส์ก็ติดหล่มอีกรายทำให้ได้รับฉายาคนป่วยแห่งเอเชียกลับคืนไปอีกครั้ง

ครั้งล่าสุดที่มีคนอ้างว่าไทยคือคนป่วยแห่งเอเชียคือ คือบทความของ Financial Times เรื่อง "Thailand remains the sick man of south-east Asia" (ประเทศไทยยังคงเป็นคนป่วยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เมื่อปี 2019 ซึ่งสร้างความตื่นตัวในไทยอย่างมากเพราะถูกนำไปโจมตีกันในสภา

เนื้อหาของบทความนี้คือความไม่เชื่อมั่นในฝีมือของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้และรัฐบาลประยุทธ์ยังเป็นรัฐบาลพรรคร่วมที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 แต่อาการป่วยที่บทความนี้มองเห็นก็คือจีดีพีของไทยอ่อนแอที่สุดในอาเซียน การบริโภคอ่อนแอลง และการส่งออกที่ซบเซา

บทความจากปี 2019 ชิ้นนี้ยังทิ้งท้ายด้วยคำพยากรณ์ที่คาดเดาได้ไม่ยากว่ารัฐบาลประยุทธจะต้องวุ่นวายกับการประท้วงแน่นอน เพราะมันเป็น "เอกลักษณ์ของการเมืองไทย" และยังบอกด้วยว่าอาจจะเดินตามรอยฮ่องกง ปรากฎว่าในปีนี้ก็เกิดการประท้วงขึ้นจริงๆ และทำตาฒโมเดลฮ่องกงเสียด้วย

เมื่อไทยถูกตราหน้าว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชียหลายๆ ครั้งเข้า เราจึงต้องทบทวนตัวเองว่าเราป่วยจริงหรือไม่? บางคนเห็นว่าไทยยังไม่ใกล้เคียงกับฉายานี้ แต่บางคนเชื่อว่าเราเป็นคนป่วยแล้ว

เรื่องนี้แทบจะไม่สามารถสรุปได้เลย แม้แต่จะใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ ฝ่ายเห็นด้วยกับฝ่ายไม่เห็นด้วยก็จะยกดัชนีคนละตัวมาเถียงกัน เช่น ฝ่ายที่เห็นด้วยว่าเราป่วยแล้วจะชี้ว่าจีดีพีของเราลดลงและต่ำที่สุดในภูมิภาค แต่ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าเราป่วยจะยกตัวเลขว่างงานที่ต่ำ เงินเฟ้อต่ำ และโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งมายันว่าเรายังมีสุขภาพที่ดี

ถึงเราจะไม่กลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย (สักที) แต่สิ่งหนึ่งยังไม่เปลี่ยนไปคือการเมืองที่ไม่นิ่งเป็นมะเร็งร้ายที่ก่อกวนความเจริญก้าวหน้าของประเทศมานานเกินไปแล้ว

ตราบใดที่เรายังไม่มีฉันทามิตทางการเมืองหรืออย่างน้อยรู้จักที่จะอยู่ในกติกาการเมือง เราก็จะต้องยังกังวลว่าจะถูกเพื่อนบ้านที่เคยห่างชั้นไล่กวดทันหรือไม่ก็แซงหน้าอยู่ร่ำไป

พวกเรายังคงตั้งคำถามกับเราเองหลายครั้งแล้วเมื่อเห็นข่าวประเทศเวียดนามเนื้อหอมในหมู่ทุนต่างชาติ บริษัทหลายแห่งเริ่มย้ายฐานไปยังเวียดนาม ไม่ใช่เพราะค่าแรงถูกกว่าไทย แต่เพราะมันมั่นคงกว่าไทยในแง่การเมือง

หากลองย้อนกลับไปในระยะ 14 ปีที่ผ่านที่ไทยตกอยู่ในวังวนของความวุ่นวายทางการเมืองและการรัฐประหารสองครั้งสองครา เราจะพบว่าทุนย้ายไปเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ และทุนเข้าไทยน้อยลงเรื่อยๆ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของเวียดนามเริ่มก้าวกระโดดขึ้นมาในปี 2006 หรือปีที่เกิดการรัฐประหารในไทย จากเดิมก่อนหน้านั้นอยู่ที่หลักต่ำกว่า 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐมาอยู่ที่เกิน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหลังจากปี 2016 เป็นต้นมาหรือหลังสงครามการค้า มี FDI ไหลเข้าเวียดนามเกินหลัก 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุดคือปี 2019 สูงถึง 16,120 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ไทยตามหลังเวียดนามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปีที่แล้วอยู่ที่เพียง 6,130 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่บางปีก็ขึ้นถึงหลักเกือบ 16,000 ล้านฯ (เช่นปี 2013) แถมบางทีก็ดิ่งลงมาเหลือหลักสองสามพันล้านเหมือนกัน สถานการณ์ของไทยนั้นขึ้นๆ ลงๆ ไปตามสถานการณ์บ้านเมืองที่เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลง

หากจะเปรียบเทียบกราฟให้เห็นภาพก็คือการลงทุนเข้าเวียดนามมีลักษณะเหมือนไต่ภูเขาที่ลาดชันสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่มีตกวูบ อาจมีตกบ้างแต่ไม่มากนัก

ส่วนของไทยเหมือนฟันปลาขึ้นๆ ลงๆ เดี๋ยวก็พุ่งปรี๊ด เดี๋ยวก็ตกอับ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ต้องโทษอยู่สองเรื่องคือ ความไม่ฉมังของรัฐบาลและการเมืองที่สงบไม่เป็น

ในสมรภูมิของสงครามการค้า เวียดนามเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมของจีนย้ายหนีมาใช้เวียดนามเป็นนอมินีเพื่อเลี่ยงการถูกโจมตีจากมาตรการภาษีสหรัฐ ขณะที่สหรัฐก็หันมาลงทุนกับเวียดนามมากขึ้นด้วย

จากรายงานของ Institute for International Trade ที่ตีพิมพ์ในเดือนตุลาคมปีนี้พบว่าเวียดนามได้รับประโยชน์จากสงครามการค้ามากที่สุด โดยมีสัดส่วนสินค้าที่สหรัฐนำเข้าเพิ่มขึ้น 1.3% ตามด้วยไต้หวัน 1.04% เกาหลีใต้ 0.87% และไทย 0.52%

แม้ว่าไทยจะได้อานิสงส์กับเขา แต่ดูเหมือนว่าไทยจะเป็นตัวสำรองจากเวียดนามทุกครั้งไปในแง่การย้ายฐานการลงทุน เช่น กรณีการกระจายความเสี่ยงของญี่ปุ่นโดยย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีนแล้วมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามก็เป็นตัวเลือกอันดับแรกตามด้วยไทย ในกรณีของการลงทุนจากไต้หวันก็เช่นกัน มองไปที่เวียดนามก่อนที่จะมองไทยตามมา

ว่ากันด้วยโครงสร้างพื้นฐานเวียดนามยังห่างชั้นจากไทยอีกไกล แต่หากไทยยังมัวหลงไหลกับการเมืองมากกว่าปากท้องอยู่อย่างนี้ เห็นทีคงจะถูกเวียดนามแซงเข้าสักวัน

ทำไมเวียดนามถึงเนื้อหอม? เหงียน เติ๊น สุง อดีตนายกรัฐมนตรีของเวียดนามเคยกล่าวไว้กับที่ประชุม World Economic Forum เมื่อปี 2014 หรือปีที่เกิดรัฐประหารในไทยปาฐกถาเรื่อง "เหตุใดการลงทุนจากต่างประเทศในเวียดนามจึงเฟื่องฟู" ข้อแรกที่เขาเอ่ยถึงก็คือ "แล้วอะไรที่อธิบายเรื่องราวความสำเร็จของเวียดนาม? ประการแรกเวียดนามได้รับการรักษาเสถียรภาพทางสังคมและการเมืองและเป็นที่รู้กันว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจมากที่สุด"

หากจะลงให้ละเอียดกว่านี้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ (ที่สนใจเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ) ระบุเป็นข้อๆ ว่า "ปัจจัยที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศมายังเวียดนาม ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่, ข้อตกลงการค้าเสรีฉบับใหม่, ประชากรที่มีอายุน้อยและเพิ่มมากขึ้น, ความมั่นคงทางการเมือง และค่าแรงงานที่ไม่แพง"

การเมืองที่มั่นคงของเวียดนามเกิดจากเผด็จการพรรคการเมืองพรรคเดียว การกำหนดนโยบายแบบรวมศูนย์ และการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างเข้มงวด ที่สำคัญประชาชนมีความชาตินิยมรุนแรงขนาดที่อาจทำให้คิดได้เลยว่าคนเวียดนามยอมเสียเสรีภาพส่วนตนได้เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

เทียบกับไทยแล้ว คนหนุ่มสาวของเวียดนามมีความสนใจเรื่องการเมืองต่ำมาก ทั้งๆ ที่เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ปัญหาคอร์รัปชั่นเลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะมีความเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อสะท้อนเสียงไปยังรัฐบาลผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก รัฐบาลก็จัดการตัดตอนอย่างเข้มงวด เช่น ขอให้เฟซบุ๊คมอบข้อมูลผู้ใช้ที่ "เป็นภัยต่อความมั่นคง" และหากเฟซบุ๊คไม่ปฏิบัติตามคำขอให้ปิดเพจที่มีปัญหา รัฐบาลก็ขู่ที่จะปิดบริการเฟซบุ๊คเสียเลย

นี่คือเคล็ดไม่ลับที่ทำให้เวียดนามมีความมั่นคงทางการเมือง และเมื่อมั่นคงย่อมดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามา เพราะนักลงทุนไม่สนใจหรอกว่าระบอบการเมืองจะเป็นแบบใดตราบใดที่มันมีเสถียรภาพ ส่วนรัฐบาลของประเทศต้นทางนักลงทุนจะไม่เล่นงานเวียดนามเรื่องสิทธิมนุษยชน ตราบเท่าที่เวียดนามมีประโยชน์ต่อพวกเขา (เช่น เอาไว้ต้านอิทธิพลจีน)

แน่นอนว่าการเมืองของประเทศไทยไม่สามารถเป็นแบบเวียดนามได้ เส้นทางเดินของไทยผ่านการเรียนรู้ประชาธิปไตยมาหลายรุ่นแล้วแม้มันจะหกคะเมนตีลังกาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งไม่มีวี่แววว่าคนไทยจะยอมอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการที่ผูกขาดพรรคเดียวได้

คำถามที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ก็คือ ถ้าเมืองไทยต้องการจะเรียนรู้ประชาธิปไตย เราควรจะเรียนรู้มันอย่างไรเพื่อไม่ให้นักลงทุนต้องขวัญเสียทุกครั้งที่มีการประท้วงหรือขยายวงจนกลายเป็นจลาจลกระทั่งเปิดทางให้เกิดรัฐประหาร?

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Jack TAYLOR / AFP