posttoday

RCEP ไทยได้-เสียอะไรบ้างจากข้อตกลง RCEP

20 พฤศจิกายน 2563

ในที่สุดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยประเทศอาเซียนทั้ง 10 และจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ก็ผ่านการลงนามร่วมกันอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย หลังจากพยายามเจรจากันยาวนานถึง 8 ปี

แม้ว่าอินเดียจะถอนตัวออกไป ข้อตกลงนี้ก็ยังเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากข้อมูลของปี 2019 RCEP มีประชากรรวมกัน 3,600 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีมูลค่าจีดีพี 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของจีดีพีโลก และมูลค่าการค้ารวมกัน 11.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ขณะที่ไทยค้าขายกับกลุ่มประเทศ RCEP กว่า 141,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 55.79% ของมูลค่าการส่งออกของไทย

ด้วยเหตุนี้ RCEP ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสร้างความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน ครอบคลุมเขตเศรษฐกิจ และเป็นความหวังของเศรษฐกิจโลกท่ามกลางความขัดแย้งทางการค้าและการปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐภายใต้นโยบาย America First (อเมริกาต้องมาก่อน) จึงเป็นกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็มีทั้งเป็นโอกาสและเป็นข้อเสียเปรียบสำหรับไทย

ความกังวลอันดับแรกๆ ที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนพูดถึงคือ ผลกระทบกับเกษตรกรรายเล็กๆ และความขัดแย้งเหนือที่ดินทำกิน

อาเรียสกา คูนิอาวาตี จากองค์กร Solidaritas Perempuan ในอินโดนีเซียเผยว่า “การเปิดตลาดสู่ประเทศสมาชิก RCEP ซึ่งลดภาษีสินค้าเกษตรระหว่างกันค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเกษตรกรและผู้ผลิตรายเล็กๆ ในประเทศกำลังพัฒนา”

บทความเรื่อง How RCEP affects food and farmers (RCEP กระทบต่ออาหารและเกษตรกรอย่างไร) ขององค์กร GRAIN ระบุว่า ข้อตกลง RCEP จะทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินขนานใหญ่

ประเทศ RCEP ส่วนใหญ่ไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม แต่นักลงทุนสามารถเช่า ได้รับใบอนุญาต หรือสัมปทานด้วยเขื่อนไขที่แตกต่างกัน

ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก  เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาบริษัทและนักลงทุนต่างชาติพยายามกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไว้เก็งกำไร นับตั้งแต่ปี 2008 เฉพาะประเทศ RCEP อย่างเดียวบริษัทต่างชาติกว้านซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรไปมากถึง 60 ล้านไร่

การถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินในลักษณะนี้ทำให้บริษัทต่างชาติมีสิทธิ์ต่างๆ เหนือที่ดินมากมาย ทั้งยังทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นมากจนนำมาสู่การเก็งกำไร ทำให้เกษตรกรรายย่อยถูกบีบออกจากที่ดินในที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาในข้อตกลงที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงที่ดิน โดยในหมวดการลงทุนที่กำหนดให้รัฐบาลต้องปฏิบัติต่อนักลงทุนจากประเทศอื่นๆ ภายใต้ความตกลง RCEP เช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ (national treatment) ซึ่งหมายความว่า นักลงทุนจากต่างชาติย่อมมีสิทธิเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

จะเห็นได้ว่าข้อกำหนดนี้เสมือนเป็นการเอื้อให้ที่ดินที่อยู่ในมือเกษตรกรในท้องถิ่นเปลี่ยนมือไปสู่บริษัทและนายทุนต่างชาติ

นอกจากนั้น เป้าหมายลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด อาจทำให้สินค้าจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่าทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย ดังที่อินเดียซึ่งถอนตัวจากข้อตกลงไปเมื่อปลายปีที่แล้ว กังวลว่าการลดภาษีระหว่างกันจะทำให้สินค้าราคาถูกจากจีน และสินค้าเกษตรจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หลั่งไหลเข้ามาตีตลาดสินค้าในประเทศ ซึ่งสุดท้ายจะส่งผลกระทบกับผู้ผลิตในท้องถิ่น

นอกเหนือไปจากนี้ ประเทศ RCEP ส่วนใหญ่ยังตั้งกำแพงภาษีสินค้าอ่อนไหวบางประเภทไว้ค่อนข้างสูง อาทิ ข้าว รองเท้า ผลิตภัณฑ์จากนมและน้ำผึ้ง ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังคงเดินหน้าปกป้องสินค้าของตัวเองได้ภายใต้มาตรการนี้ อย่างในกรณีของญี่ปุ่น ที่ประกาศว่าจะยังคงภาษีสินค้าเกษตร 5 ชนิดไว้ ได้แก่ ข้าว เนื้อวัว เนื้อหมู ข้าวสาลี และน้ำตาล เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศและสกัดสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นที่ราคาถูกกว่า

ดังนั้นกำแพงภาษีที่แต่ละประเทศรับปากว่าจะลดลงมาจึงไม่ได้บังคับใช้กับสินค้าทุกชนิด ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะกำหนดข้อยกเว้นไว้อย่างไร

ส่วนในข้อได้เปรียบของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทยใน 2 ประเด็น 

ประเด็นแรก RCEP เป็นความตกลงที่เปิดกว้างที่สุดและมีมาตรการด้านต่างๆ สูงที่สุดเท่าที่ไทยเคยมีมา เช่น การตั้งเป้าหมายลดภาษีสินค้าสูงที่สุดถึง 99% ของจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด ซึ่งจะสร้างโอกาสให้สินค้าไทยทำตลาดได้มากขึ้นจากความตกลงเดิมที่มีอยู่ โดยช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ไทยส่งออกไปตลาดเหล่านี้มูลค่า 91,800 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 53% ของการส่งออกทั้งหมด

ประเด็นที่สอง RCEP ช่วยสร้างสมดุลการค้าและการลงทุนในสองฟากฝั่งของโลก โดยเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญของชาติเอเชียที่มีจีนเป็นแกนนำความตกลง เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก ช่วยคานอิทธิพลชาติตะวันตกที่มีต่อประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียน 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า RCEP จะกลายเป็นกลุ่มการค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตเหนียวแน่น เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตและการค้าในซีกโลกตะวันออก ด้วยจุดเด่นของกฎแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน และมีความยืดหยุ่นมากกว่าความตกลง FTA ระหว่างอาเซียนกับประเทศในกลุ่ม Plus 5

ส่วนไทยซึ่งมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงทุนอย่างเหนียวแน่นกับประเทศสมาชิก RCEP อยู่แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในอนาคตไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น 

โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ขณะที่ผลทางอ้อมมาจากการที่ประเทศ Plus 5 จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งแรก ซึ่งการเกิดขึ้นของ RCEP จะยิ่งทำให้ไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบในด้านการผลิตและส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยอาจได้อานิสงส์ด้านการค้าและการลงทุนจากการเข้าเป็นสมาชิก RCEP แต่ในความเป็นจริง ข้อตกลง RCEP อาจเอื้อประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่ม Plus 5 มากกว่า 

โดยการเกิดขึ้นของ RCEP แทบไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบ FTA อาเซียนกับประเทศ Plus 5 ขณะที่ผลบวกทางอ้อม กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิมที่ส่งไปยัง Plus 5 อยู่แล้ว