posttoday

อังกฤษเล็งปฏิวัติอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

19 พฤศจิกายน 2563

สหราชอาณาจักรประกาศแผนการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจประเทศให้เป็น “สีเขียว” โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เป็นผู้นำโลกด้านการดักจับและจัดเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ  

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักรประกาศแผนครั้งใหญ่ 10 ข้อเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้สหราชอาณาจักรเดินหน้าพาประเทศออกจากการมีส่วนร่วมก่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ภายใน พ.ศ. 2593

พิมพ์เขียวฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องพลังงานสะอาด การคมนาคม การจัดการธรรมชาติ และนวัตกรรมเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมและสร้างงานกว่า 250,000 อัตรา อาศัยการลงทุนภาครัฐกว่า 12,000 ล้านปอนด์ (ราว 480,000 ล้านบาท) โดยตั้งเป้าให้นำไปสู่การลงทุนของภาคเอกชนมากกว่า 3 เท่าภายใน พ.ศ. 2573 เพื่อให้เกิดการสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมแห่งอนาคตทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก

แผน 10 ข้อนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานจุดแข็งของสหราชอาณาจักร ได้แก่ การติดตั้งทุ่นกังหันลมเพื่อผลิตกระแสไฟ พัฒนาเมืองแห่งแรกที่ใช้ไฮโดรเจนจ่ายพลังงานให้ระบบทำความร้อนทั้งเมืองภายในสิ้นทศวรรษนี้ พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นแหล่งพลังงานสะอาด

รวมทั้งยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์และรถตู้ใหม่ที่ใช้น้ำมันทั้งเบนซินและดีเซลภายใน พ.ศ. 2573 ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะแห่งอนาคตที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ การเดินเรือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังจะทำให้บ้านเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาลเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดักจับคาร์บอน การปกป้องและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติโดยปลูกต้นไม้ปีละ 300 ล้านตารางเมตร และทำให้เขตซิตี้ออฟลอนดอนเป็นศูนย์กลางการเงินสีเขียวของโลก

นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน กล่าวว่า “แม้ว่าปีนี้จะเกิดสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิดอย่างมาก แต่สหราชอาณาจักรกำลังมองไปสู่อนาคตและใช้โอกาสนี้ปรับตัวเพื่อให้เราฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การฟื้นฟูโลกและเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นไปพร้อมกันได้ และเราต้องทำให้เป็นเช่นนั้น” 

โดยการประกาศแผนชุดใหม่มีขึ้นขณะที่ผู้นำสหราชอาณาจักรกำลังเร่งผลักดันให้ประเทศก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนจะเป็นเจ้าภาพร่วมการประชุมสุดยอดด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ และการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักรในปีหน้า