posttoday

เมื่อต่างชาติแทรกแซงได้กระทั่งรัฐธรรมนูญ

18 พฤศจิกายน 2563

แต่เราสามารถร่างรัฐธรรมนูญที่ป้องกันการแทรกแซงจากต่างชาติได้เช่นกัน

โลกของเราคือสมรภูมิแห่งการแย่งชิงอำนาจ ทั้งมหาอำนาจและด้อยอำนาจต่างพยายามที่จะกุม "อำนาจ" เอาไว้ให้มากที่สุดเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงของตัวเอง ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือการบงการให้นานาประเทศเป็นไปตามที่ตัวเองต้องการโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "การแทรกแซงของต่างชาติ" (foreign interference)

หากประชาชนของประเทศไหน "อ่อน" หรือไร้เดียงสาก็จะพ่ายแพ้กลศึกนี้และอาจพาประเทศตัวเองไปอยู่ใต้อำนาจของประเทศอื่นโดยไม่รู้ตัว

การแทรกแซงของต่างชาติสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ให้เงินสนับสนุน "เอเย่นต์" เพื่อปฏิบัติการในประเทศเป้าหมาย เอเย่นต์เหล่านี้อาจเป็นทั้งนักการเมือง, องค์กรเอกชน หรือแม้แต่ครูบาอาจารย์ในสถาบันการศึกษา

เอเย่นต์เหล่านี้อาจไม่จำเป็นต้อง "รับงาน" มาปฏิบัติการตามเป้า เพียงแค่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับประเทศเจ้าของเงินก็เพียงพอแล้ว เพราะเอเย่นต์เหล่านี้จะผลักดันตามเป้าตัวเองโดยที่เป้านั้นสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศที่แทรกแซงมาโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มี 2 ประเทศโจมตีกันไปมาเรื่องแทรกแซงกันและกัน คือสหรัฐและรัสเซีย

กรณีของสหรัฐเราทราบกันดีว่ากล่าหารัสเซียว่าแทรกแซงการเมืองภายในมาตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 ซึ่งทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ชนะเลือกตั้ง และหลังจากนั้นทั้งทรัมป์และคนในรัฐบาลและคนสนิทชิดเชื้อของเขาถูกสอบสวนฐานพัวพันกับรัสเซีย

การแทรกแซงของรัสเซียที่เด่นชัดมี 2 เรื่องคือการแทรกแซงผ่านเอเย่นต์คือคนวงในของทรัมป์ และการแทรกแซงผ่านการปล่อยข่าวปลอมเพื่อกระตุ้นให้สังคมอเมริกันเกิดความแตกแยกทางการเมือง ผลก็คือคนอเมริกันแตกจนประสานกันได้ยาก

รัสเซียยังใช้วิธีปล่อยข่าวปลอมเพื่อบ่อนทำลายเป้าหมายกับนานาประเทศในยุโรป ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐ (ผ่านองค์การนาโต) เมื่อสังคมและการเมืองของประเทศเหล่านี้สั่นคลอนเพราะเชื่อในข้อมูลเท็จที่ปั่นให้ทะเลาะกัน โอกาสก็จะเป็นของรัสเซีย

แต่รัสเซียเองก็ไม่รอดเหมือนกัน ในช่วงกลางปี 2020 มีวิวาทะเกิดขึ้นในรัฐสภาของรัสเซีย (สภาดูมา) เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่ว่ามีต่างชาติแทรกแซงกิจการภายในของรัสเซีย โดยอ้างว่ามีต่างชาติแทรกแซงกระทรวงการออกเสียงเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอ่ยถึงคือการแก้เพื่อระบุว่าการสมรสจะกระทำได้ระหว่างชายกับหญิงเท่านั้น หรือไม่ยอมรับสิทธิความหลากหลายทางเพศนั่นเอง ซึ่งการแก้ไขนี้สวนทางกับกระแสที่เกิดขึ้นในโลกตะวันตกที่มีการปลดปล่อยความหลากหลายทางเพศครั้งใหญ่ แต่รัสเซียกลับกวนกลับสู่สังคมอนุรักษ์นิยม และไม่เฉพาะรัสเซียประเทศยุโรปตะวันออกหลายประเทศ เช่น โปแลนด์ก็ต่อต้านเรื่องความหลากหลายทางเพศและควบคุมสิทธิสตรีอย่างหนัก

แต่ปรากฎว่าการแทรกแซงที่อ้างกันเป็นแค่การที่สถานเอกอัครราชทูตของประเทศตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียละเมิดสิทธิทางเพศของชนกลุ่มน้อยด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกดขี่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และสถานเอกอัครราชทูตของประเทศตะวันตกยังแขวนธงสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นนักการเมืองรัสเซียบางคนจึงมองว่านี่คือ "การแทรกแซง" และเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภาสอบสวนเรื่องนี้

จะเห็นได้ว่า รัสเซียมีปฏิกริยาที่อ่อนไหวกับการแสดงท่าทีของต่างชาติเป็นพิเศษถึงกับประณามว่าเป็นการแทรกแซง แม้ว่าอาจจะมองได้ว่าการกระทำของสถานเอกอัครราชทูตเหล่านี้เป็นการแสดงจุดยืนเรื่องค่านิยม เนื่องจากชาติตะวันตกให้เสรีภาพเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่รัสเซียจำกัดเสรีภาพเรื่องนี้โดยนักการเมืองรายหนึ่งชี้ว่า "เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและปฏิเสธค่านิยมดั้งเดิมของสถาบันครอบครัว”

พูดง่ายๆ ก็คือ ชาติตะวันตกเห็นว่าเสรีภาพเรื่องความหลากหลายทางเพศคือ "ประชาธิปไตยและค่านิยมสากล" ส่วนรัสเซียมองว่ามันคือ "อันตรายต่อค่านิยมความเป็นรัสเซียดั้งเดิม"

แต่ผลของการสอบสวนของบคณะกรรมาธิการของสภาดูมากลับพบอะไรที่มากกว่าการแขวนธงของสถานทูตหรือการปะทะกันของค่านิยมสองฝ่าย เพราะการสอบสวนพบว่า องค์กรเอกชนประเภทเอ็นจีโอของรัสเซียได้รับเงินทุนจากต่างชาติมากขึ้น 20% และอาจเป็นตัวชี้วัดว่าต่างชาติพยายามแทรกแซงการออกเสียงของรัสเซียเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมาธิการฯ ชี้ว่าสื่อต่างชาติจากประเทศตะวันตกทำการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเมืองโดยไม่ได้เปิดเผยว่าข้อมูลเหล่านี้มาจาก "เอเย่นต์ต่างชาติ" ที่มีเจตนาแทรกแซงการเมืองรัสเซีย และต่างชาติยังใช้องค์กรด้านมนุษยธรรม (เช่นต่อต้านยาเสพติด ส่งเสริมการศึกษา ส่งเสริมประชาสังคม สิทธิมนุษยชน กีฬา ฯลฯ) บังหน้าเพื่ออำพรางการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ผลจากการสอบสวนครั้งนี้ คณะกรรมาธิการยิ่งมุ่งมั่นที่จะเร่งดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อจับตาความสัมพันธ์ระหว่างต่างชาติกับเอ็นจีโอที่ทำตัวไม่พึงปรารถนาในรัสเซีย (ไม่พึงปรารถนาในที่นี้คือขัดขวางนโยบายของรัฐบาลปูติน)

บางคนอาจจะมองว่ากรณีที่เกิดขึ้นในรัสเซียอาจไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายที่กระทบต่ออธิปไตยและเสถียรภาพของชาติ แต่กับมันเป็นตัวอย่างที่ดีของการเผชิญหน้าระหว่างค่านิยมแบบตะวันตกกับค่านิยมท้องถิ่น และรัสเซีย (โดยเฉพาะรัฐบาลปูติน) ไม่ยอมเด็ดขาดที่จะให้ต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนค่านิยมของพวกเขา

คำถามก็คือ หากเกิดกรณีแบบนี้กับไทยเราจะทำอย่างไร? หากมีองค์กรเอกชน ปัญญาชนบางคน หรือนักการเมืองที่มีอุดมการณ์สอดคล้องกับผลประโยชน์ต่างชาติ (และรับเงินทุนจากต่างชาติ) พยายามเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยส่วนใหญ่ และผลักดันประเด็นนี้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อจนถึงรัฐสภา เราจะเรียกว่านี่เป็นการแทรกแซงของต่างชาติหรือไม่ และเราควรมีปฏิกริยาแบบรัสเซียหรือไม่?

คำถามเหล่านี้ยากที่จะตอบ หากจะเอาเฉพาะกรณี LGBTQ สังคมไทยก็ไม่เหมือนกับรัสเซีย สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่มีทางที่เราจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อกีดกันเสรีภาพของคนกลุ่มไหน ตรงกันข้ามไทยพยายามผลักดันกฎหมายที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนกลุ่มนี้ด้วยซ้ำ ดังนั้นในกรณีของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เราจึงมีจุดยืนสอดคล้องกับ "ค่านิยมสากล" (สากลในที่นี้ก็ไม่สากลจริงๆ แต่เป็นค่านิยมแบบเสรีนิยมตะวันตก)

แต่มันจะเป็นปัญหาทันที ถ้าเป็น "ค่านิยมสากล" อื่นๆ ที่บางคนเห็นว่าไทยยังทำได้ไม่ดีพอตามมาตรฐานต่างชาติ (ซึ่งก็ชาติตะวันตกอีกนั่นแหละ) และควรนำมาตรฐานต่างชาติเข้ามาใช้กับไทย แต่มาตรฐานหรือแนวคิดนั้นจะลดบทบาทค่านิยมรากฐานของสังคมไทย

หากเป็นสถานการณ์แบบนี้ไทยจะตกอยู่ในสภาพเดียวกับรัสเซียทันที แต่ไทยไม่มีรัฐบาลที่มีจุดยืนแข็งกร้าวหรือมีท่าทีข่มขู่ "เอเย่นต์ต่างชาติ" แบบรัสเซีย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่เรียกร้องค่านิยมใหม่และกลุ่มที่ต้องการรักษาค่านิยมเดิม

กลุ่มเรียกร้องค่านิยมใหม่จะตราหน้าอีกฝ่ายว่าล้าหลังและโง่งม ส่วนฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็จะประณามอีกฝ่ายว่าถูกต่างชาติสนตะพายให้เดินตามคำสั่ง

วิธีการหลีกเลี่ยงหายนะแบบนี้มีสองวิธี คือใช้วิธีการแบบรัสเซียคือ "กำจัด" เอเย่นต่างชาติ เช่น ควบคุมเอ็นจีโอ, อุ้มนักข่าวที่วิจารณ์รัฐบาล และยัดข้อหานักการเมืองฝ่ายตรงข้าม วิธีนี้จะใช้ได้กับประเทศที่ "โนสน โนแคร์" และมีอำนาจต่อรองมหาศาลอย่างรัสเซียเท่านั้น

อีกวิธีหนึ่งคือการพูดคุยกันอย่างอารยชน แต่ละฝ่ายยกเหตุผลขึ้นมาหารือและหาจุดร่วมกัน หากประชาชนผู้เป็นสุภาพชนทั้งหลายไม่จัดเวทีกลางเพื่อหารือกัน ก็สามารถทำผ่านระบอบประชาธิปไตยตัวแทน (ในสภา) หรือเข้าชื่อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม กรณีแบบนี้ก็มีปมปัญหาขึ้นมาอีกว่า โต้โผที่เสนอให้แก้ไขเรื่องใหญ่ของประเทศแบบนี้ควรเป็นองค์กรที่รับทุนจากต่างชาติหรือไม่? เพราะแม้ว่าพวกเขาจะมีเจตนาบริสุทธิ์แต่เพราะรับทุนจากต่างชาติทำให้ยากที่จะหลบเลี่ยงจากการถูกครหาว่าเป็น "เอเย่นต์ต่างชาติ"

ในบรรดาประเทศต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกัน คงมีแต่รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นเท่านั้นที่ต่างชาติร่างให้ นั่นคือร่างโดยสหรัฐ แต่นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง และสหรัฐต้องการควบคุมไม่ให้สถาบันจักรพรรดิมีบทบาททางการเมือง เป้าหมายจึงไม่ใช่แค่จำกัดอำนาจจักรพรรดิ แต่ถึงกับ "ตัดทอน" พระราชวงศ์ด้วย

เพราะนอกจากจะร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้จักรพรรดิเป็นแค่ประมุขที่ไม่มีบทบาทต่อชีวิตทางการเมืองของประชาชนแล้ว สหรัฐยังริดรอนโอกาสในการสืบทอดราชบัลลังก์ด้วยการปลดพระบรมวงศ์สายอื่นๆ ที่อาจจะสืบทอดราชวงบัลลังก์ได้ ให้คนเหล่านี้กลายเป็นสามัญชนคนธรรมดาที่ไม่มีสิทธิในบัลลังก์ ทำให้ญี่ปุ่นมีปัญหาเรื่องการขาดรัชทายาทจนอาจจะสูญสิ้นพระราชวงศ์เอาได้ นี่คือปมปัญหาที่ทำให้ญี่ปุ่นอ่อนแอดังที่พวกฝ่ายขวาในญี่ปุ่นพยายามชี้ชวนให้เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สหรัฐซึ่งเป็นประเทศที่ถูกกล่าวหามาหลายสิบปีว่าแทรกแซงกิจการของชาติอื่นและถึงขั้นบงการให้ล้มรัฐบาลที่ไม่เอื้อประโยชน์ตัวเอง แต่สหรัฐกลับมีการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นวรรคที่ 8 อนุมาตราที่ 9 มาตราที่ 1 ว่าด้วยการรับเงินหรือตำแหน่งจากต่างชาติ (Foreign Emoluments Clause)

บัญญัตินี้เป็นข้อแรกของรัฐธณรมนูญและมีมากว่า 200 ปีนับตั้งแต่สหรัฐได้รับเอกราช ดังนั้นมันจึงเป็นมาตราที่สำคัญมาก หมายความว่ามันคือรากฐานของประเทศเลยทีเดียว

สาเหตุที่บัญญัติไว้อย่างนี้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองและข้าราชการชาวอเมริกันตกอยู่ภายใต้ "อิทธิพลของต่างชาติที่ฉ้อฉล" อเล็กแซนเดอร์ แฮมิลตัน รัฐบุรุษผู้ร่วมสถานาปนาประเทศสหรัฐกล่าวไว้ว่า "หนึ่งในจุดอ่อนของสาธารณรัฐ ในท่ามกลางข้อได้เปรียบมากมายมาย ก็คือระบอบนี้เปิดช่องให้ต่างชาติที่ฉ้อฉลเข้ามาง่ายเกินไป"

คำว่า "สาธารณรัฐ" ที่แฮมิลตันกล่าวถึงไม่ได้หมายถึงระบอบประธานาธิบดีเป็นประมุขเท่านั้น แต่ยังสามารถเทียบกับระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนในยุคนี้ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเลือกผู้บริหารประเทศด้วย ระบอบประชาธิปไตยนั้นมีจุดอ่อนก็คือใครก็ได้สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ รวมถึงคนที่สมคบกับต่างชาติ

สหรัฐจึงต้องกำหนดมาตรานี้ไว้ตั้งแต่สร้างประเทศ ส่วนรัสเซียที่เอนเอียงไปทางระบอบอำนาจนิยม ไม่ต้องกลัวว่าจะมีเอเย่นต์เข้ามาแทรกแซง เพราะรัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจควบคุมได้รวดเร็วกว่า

สำหรับประเทศเล็กๆ อย่างไทย ที่ไม่มีอิทธิพลไปชี้นำค่านิยมให้ใคร ไม่มีอำนาจยัดเยียดระบอบการปกครองให้ประเทศไหน และไม่มีบารมีที่ให้คนยำเกรงกันทั่วโลก การออกกฎหมายแบบสหรัฐหรือการใช้ไม้แข็งแบบรัสเซียเป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้เลย

ยกเว้นว่าเราจะมีเจตจำนงค์ร่วมกันที่จะสร้างมาตรฐานของไทยที่ประเทศไทยจะย่ำยีไม่ได้ แต่การจะได้เจตจำนงค์ร่วมกันขึ้นมาได้ เราต้องมีประเทศที่ประชาชนสามัคคีกัน

หรืออย่างน้อยมีประชาชนที่เห็นต่างกันแต่พร้อมจะคุยอย่างคนมีอารยะเสียก่อน

Photo by Jack TAYLOR / AFP