posttoday

ความพ่ายแพ้ของแจ็ค หม่า

11 พฤศจิกายน 2563

ไม่น่าเชื่อว่าภายในเวลาแค่ 2 สัปดาห์บริษัท Alibaba ที่แจ็ค หม่าปลุกปั้นขึ้นมาจะพบกับเรื่องไม่คาดฝันครั้งแล้วครั้งเล่า

หลังจากที่แจ็ค หม่ารามือไปจากตำแหน่งผู้บริหารของ Alibaba Group เขาเคยเปรยว่าอยากจะกลับไปทำอาชีพครูอันเป็นอาชีพเริ่มต้นชีวิตการทำงานของเขาอีกครั้ง แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ล้างมือในอ่างทองคำจากวงการธุรกิจเหมือนที่ใครๆ คาดคิด เขายังอยู่เบื้องหลังบริษัทสาขาของ Alibaba Group ที่มีชื่อว่า Ant Group

Ant Group (ต่อจากนี้จะเรียกว่า Ant) เป็นการรีแบรนด์ Alipay ซึ่งเป็นบริการชำระเงินออนไลน์ของ Alibaba Group และเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั่นเองโดยเปลี่ยนชื่อเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2020 นี่เอง โดยมีการระดมทุนมาโดยตลอด แต่ละครั้งทำงานหลักพัน - หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จนกลายเป็นบริษัทฟินเทค (บริษัทการเงินออนไลน์) ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

บริษัทนี้อยู่ในสถานะ "ยูนิคอร์น" จนกระทั่งในเดือนตุลาคมปี 2020 Ant Group ก็ได้ฤกษ์ระดมทุนผ่านการเปิดขายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO มูลค่า 34.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐถือเป็นการขายหุ้น IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและหากทำสำเรน็จจะทำให้บริษัทมีมูลค่าสูงถึง 3.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แต่แล้วเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์จีนรวมทั้งธนาคารแห่งชาติจีนได้เรียกผู้บริหารของ Ant รวมทั้ง แจ็ก หม่า เข้าพบเพื่อพูดคุยถึงรายละเอียดการ IPO และแจ้งข่าวร้ายว่า Ant อาจขาดคุณสมบัติในการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์เพิ่งเปลี่ยนกฎการให้กู้ยิมเงินรายย่อยทางออนไลน์ใหม่ที่เข้มงวดขึ้น

นี่คือการคว่ำการ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ผลสะเทือนของมันจึงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทำให้เกิดความกังขาขึ้นมาว่าเกิดอะไรขึ้นกับแจ็ค หม่ากันแน่?

ทุกสายจับไปที่แจ็ค หม่าและพยายามควานหาดูว่าเขาพลาดตรงไหน ทั้งๆ ที่เขาควรจะสถานะเป็น "ลูกรัก" ของรัฐบาลจีนเพราะมีชื่อเสียงไม่ด่างพร้อยและมีภาพลักษณ์ที่ดูดีได้รับการยอมรับไปทั่วโลก

ในตอนแรกมีการโยงไปถึงคำพูดของหม่าที่วิจารณ์ระบบธนาคารของจีนระหว่างการประชุมด้านการเงินในเมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อปลายเดือนตุลาคมหรือไล่ๆ กับที่ Ant กำหนดจะปล่อย IPO เขาบอกว่าเสถียรภาพของระบบการเงินไม่ใช่ปัญหาสำหรับจีน แต่ความเสี่ยงใหญ่ที่สุดของจีนคือ การขาดระบบนิเวศทางการเงิน ธนาคารจีนก็เหมือนกับโรงรับจำนำ ซึ่งต้องใช้หลักประกันมูลค่าสูงมาค้ำ ส่งผลให้บางบริษัทต้องลงทุนก้อนโต

เขาบอกว่า "คนจีนมักจะพูดว่า ถ้ากู้เงินจากธนาคาร 100,000 หยวน คุณจะกลัวนิดหน่อย ถ้ากู้ 1 ล้านหยวน ทั้งคุณและธนาคารจะกังวลนิดหน่อย แต่ถ้าคุณกู้ 1,000 ล้านหยวน คุณจะไม่กลัวเลย แต่ธนาคารจะกลัว"

คำพูดนี้มีปัญหาตรงไหน?

ว่ากันตามตรงแล้วมันเป็นการอธิบายสภาพทางการเงินของจีนที่รวบรัดได้ดีทีเดียว หากมองในแง่ดี แจ็ค หม่าคงต้องการให้จีนมีแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงง่ายสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว จีนอาจจะมีนวัตกรรมที่ก้าวหน้า แต่หากขาดเงินทุนมาหนุน จีนคงจะสร้างสังคมนวัตกรรมที่เติบโตด้วยลำแข้งตัวเองได้ยาก

Ant เองก็มีฐานะเป็นบริษัทยูนิคอร์นมาก่อนจึงน่าจะเข้าอกเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี (เพียงแต่ Ant มีชื่อชั้นที่ดีกว่าสตาร์ทอัพโนเนม พวกเขาจึงระดมทุนได้หลักพันล้านหมื่นล้านได้ไม่ยาก)

แต่คำพูดของหม่าแหกประเพณีการปล่อยกู้จนเกินไป เขาวิพากษ์วิจารณ์ว่าการปล่อยเงินแบบเดิมจะต้องมีของค้ำประกัน แต่หม่าไม่อยากให้มันยุ่งยากแบบนั้นอีก โดยจะใช้ข้อมูลการชำระเงินแบบเรียลไทม์และเครื่องมือการจัดการความเสี่ยงโดยใช้? AI และ Big Data วิเคราะห์ในการพิจารณาการปล่อยกู้ ซึ่งวิธีนี้ MyBank ใช้อยู่แล้วสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วว่าจะให้กู้ยืมเงินจำนวนเล็กน้อยหรือไม่

MyBank มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Ant (30%) สร้างปรากฎการณ์เมื่อปีที่แล้วในฐานะผู้ปล่อยกู้ที่ปล่อยไวที่สุดใช้เวลาพิจารณาแค่ 3 นาที ปล่อยกู้มากกว่า 16 ล้านราย แต่หนี้เสียมีต่ำกว่า 1% จากตัวเลขเมื่อปีที่แล้ว

ถ้าวัดจากประสบการณ์ของ MyBank แล้วแจ็ค หม่ามีสิทธิ์ที่จะมั่นอกมั่นใจจนวิจารณ์ระบบธนาคารของจีนที่เขามองว่าต้วมเตี้ยมได้ และจะว่าไปแล้วความสำเร็จของมันถือเป็นการปฏิวัติทางการเงินครั้งใหญ่เพราะเป็นการใช้ AI และ Big Data วิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสอย่างมีประสิทธิภาพ จนหนี้เสียอาจจะน้อยกว่าการปล่อยเงินกู้แบบมีของค้ำประกัน (แต่เดาอนาคตไม่ถูกว่าจะหัวหรือก้อย) เสียอีก

สิ่งนี้เรียกว่า Open Banking Strategy (ยุทธศาสตร์ธนาคารแบบเปิด) ไม่ใช่แค่ปฏิวัติการปล่อยกู้แบบใหม่ แต่ยังจะขายเทคโนโลยีแบบนี้ให้แบงก์ต่างๆ ด้วย และมีธนาคารในจีนบางแห่งใช้บริการแบบนี้ของ Ant

นี่เองคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ Ant ต้องสะดุด ไม่ใช่แค่เพราะวาจาที่ห้าวหาญของแจ็ค หม่าเท่านั้น

เศรษฐกิจจีนลดความร้อนแรงลงมาป็นลำดับในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและมาถึงจุดต่ำสุดในปีนี้จากการระบาดของโควิด-19 ในเวลาแบบนี้สิ่งที่ธุรกิจต่างๆ ต้องการมากที่สุดคือเงินกู้ ซึ่งธนาคารหลักๆ ปล่อยให้ไม่ง่ายนัก แต่สถาบันของการเงินของแจ๊ค หม่าตัดสินใจที่จะปล่อยเงินกู้ต่อไป (แม้ว่าจะลังเลในช่วงแรก) พร้อมกับลดดอกเบี้ยอีกด้วย

ก่อนจะถึงช่วงกลางปี MYbank เตรียมที่จะปล่อยเงินกู้ 2 ล้านล้านหยวนให้กับบริษัท SMEs ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วถึง 18% ในแง่ธุรกิจถือเป็นตัวเลขที่งดงาม

นอกจากนี้คู่แข่งของ MyBank คือ WeBank ของค่าย Tencent ก็มีความหวือหวาเช่นกันในแง่การทำโมเดลปล่อยเงินกู้แบบใหม่ แบบไม่มีสาขา เป็นธนาคารออนไลน์แห่งแรกของโลก ไม่มีการค้ำประกัน และปล่อยเงินกู้ผ่านการประเมิน Big Data มันแจ่มเสียจนนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงต้องมาเป็นประธานเปิดบริษัทเมื่อปี 2015

แต่ในแง่ของเศรษฐกิจมหภาคเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเรารู้กันดีว่าจีนมีปัญหานี้หมักหมมที่น่าวิตก หนี้ในประเทศทั้งหมดของจีนแตะ 317% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 300% ในปีที่แล้วซึ่งเป็นการเพิ่มรายไตรมาสที่มากที่สุด

แม้ว่าทางการจีนจะมีความกังวลกับปริมาณหนี้มหาศาล และพยายามที่จะบีบไม่ให้มีการปล่อยสินเชื่อมากเกินไปและพยายามลดการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้มากเกินพอดี แต่ความพยายามนี้ต้องพลิกกลายเป็นตรงกันข้าม เมื่อโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักเกินพอดีไปอีก รัฐบาลจีนจึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปล่อยเงินกู้ของบริษัทสายแจ็ค หม่าดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยตัวหนึ่ง

แต่ไม่ใช่ว่าจีนจะเลิกกลัวปัญหาหนี้ เพราะถึงแม้ว่าการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นจะช่วยต่อชีวิตของธุรกิจในประเทศ แต่มันเป็นการทำให้ปัญหาหนี้กลายเป็นระเบิดที่มีอนุภาพทำลายล้างมากขึ้น ดังนั้นนี่คือการเดิมพันที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก

ความจริงรัฐบาลไม่ได้จ้องเล่นงานหม่าคนเดียว หลังจากประกาศห้าม Ant เปิดขาย IPO รัฐบาลจีนก็เปิดเผยเจตนาในที่สุด นั่นคือการเสนอร่างกฎหมายต่อต้านการผูกขาดตลาด หรือ Antitrust Law

กฎหมายตัวนี้เข็นออกมาเล่นงานยักษ์ใหญ่ด้านเทคโดยเฉพาะ เพราะมีอำนาจผูกขาดธุรกิจมากขึ้นทุกที เช่น บริษัทสายแจ็ค หม่าที่ไม่ใช่แค่ครอบครองตลาดออนไลน์เท่านั้น แต่ยังขยับมาครองธุรกิจด้านการเงินด้วย

แต่หม่าทำธุรกิจการเงินโดยไม่ได้ถูกควบคุมโดยระเบียบทางการเงินเหมือนแบงก์ใหญ่ๆ ข้อนี้เป็นสิ่งอาจทำให้แบงก์ใหญ่ๆ ไม่พอใจเพราะถูกแย่งความมั่งคั่งไปโดยที่ตัวเองเสียเปรียบกว่า

เอาแค่ Alibaba, Ant และ Tencent เพียง 3 บริษัทก็มีมูลค่าตลาดรวมกันเกือบ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐจากสถิติเมื่อเมื่อต้นสัปดาห์ของเดือนพฤศจิกายนซึ่งเหนือกว่ารัฐวิสาหกิจที่ทรงอิทธิพลอย่าง Bank of China Ltd. ในฐานะบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศ

แจ็ค หม่าและบริษัทที่เขาปั้นขึ้นมากลายเป็นเป้าที่ใหญ่ที่สุด เพราะไม่ใช่แค่ถูกห้ามขาย IPO แทบจะในชั่วโมงสุดท้ายแล้ว กฎหมายต่อต้านการผูกขาดยังออกมาไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่จีนและทั่วโลกจะเริ่มมหกรรมช็อปปิ้งออนไลน์ 11.11 อันเป็นตัวทำเงินทำทองของบริษัทสายแจ็ค หม่า

แต่กฎหมายตัวนี้ไม่ได้ส่งผลแค่แจ็ค หม่ายังมีนักธุรกิจชั้นนำคนอื่นๆ ที่โดนด้วย เช่นโพนี หม่า แห่ง Tencent ที่หุ้นตกเช่นกัน แต่ยังสู้ Alibaba ไม่ได้เพราะหุ้นตก 8% เสียไปถึง 260,000 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

แต่ในความสูญเสียก็มีผู้ได้รับ แน่นอนว่าผู้ที่ได้รับไม่ใช่มหาอำนาจด้านเทคที่ถูกหมายหัวแต่เป็นธนาคารของรัฐ ที่เห็นคู่แข่งของตัวเองถูกขัดขา ด้วยข้อระเบียบที่ทำให้พวกฟินเทคจะต้องมีทุนสำรองเพิ่มขึ้นและแบกรับความเสี่ยงมากขึ้นในลักษณะเดียวกับธนาคารใหญ่ๆ ต้องทำกัน

พูดง่ายๆ คือมันคือการบั่นทอนโมเดลของ MyBank และแบงก์ออนไลน์ต่างๆ นั่นเอง

โมเดลของ MyBank, Ant และ WeBank อาจจะน่าตื่นตาตื่นใจและมีตัวเลขรองรับว่าหนี้เสี่ยงต่ำเหลือเชื่อ แต่ยังมีกูรูในวงการบางคนไม่เชื่อว่ามันจะเวิร์กในระยะยาว

น่ากลัวว่ารัฐบาลจีนก็อาจจะกลัวแบบเดียวกัน กลัวว่าการปฏิวัติฟินเทคของแจ็ค หม่าและคู่แข่งของเขาจะล้ำเส้นอะไรบางอย่างไป

แจ็ค หม่าบอกว่า "Basel Accords เป็นเหมือนสโมสรของคนสมัยก่อน ... เราไม่สามารถใช้วิธีการในอดีตเพื่อควบคุมอนาคตได้"

ข้อตกลงบาเซิล (Basel Accords) คือข้อตกลงในการกำกับดูแลด้านการธนาคารที่ออกโดย Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งมีการปรับปรุงเป็นระยะ ครั้งล่าสุดคือครั้งที่ 4 (Basel IV) ที่ตกลงกันได้เมื่อปี 2017 และจะเริ่มบังคับใช้ในปี 2023

หนึ่งในข้อตกลงครั้งที่ 4 เป็นความต่อเนื่องจากข้อตกลงครั้งที่ 3 (Basel III) ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการเงินโลก 2007 - 2008 มีเป้าหมายเพื่อไม่ให้โลกของเราเกิดวิกฤตซ้ำรอยอีก ดังนั้นจึงกำหนดให้มีทุนรองรับ 72.5% เป็นอย่างน้อยเพื่อป้องกันความเสี่ยหายที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อรักษาเสถียรภาพ

เราจะเห็นได้ว่าข้อตกลงบาเซิลทำในสิ่งตรงกันข้ามกับฟินเทคในจีน ที่ปล่อยกู้โดยใช้ Big Data ประเมินความเสี่ยงแทนการค้ำประกัน แต่ธนาคารทั่วไปยากจะปล่อยให้เสี่ยงถึงขนาดนี้

The Wall Street Journal ถึงกับบอกว่า "ความเสี่ยงที่ Ant มีต่อระบบการเงินก็คือการทำหน้าที่เหมือนสถาบันการเงิน แต่ไม่ได้รับการควบคุมเหมือนสถาบันการเงิน"

ปรากฎว่ารัฐบาลจีนเลือกที่จะไม่เดิมพันกับหม่าแล้วเข้าข้างข้อตกลงบาเซิล 

ในเมื่อแจ็ค หม่าพยายามแหกกฎเหล็กเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ รัฐบาลจีนจึงตอบสนองด้วยการใช้วิธีการจากอดีตมาควบคุมผู้สร้างอนาคตเสียเลย แต่เราจะต้องไม่ลืมว่านวัตกรรมทางการเงินนั้นไม่เหมือนนวัตกรรมอื่นๆ ตรงที่มันมีความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจตามมาด้วย

ต่อให้เป็นการปฏิวัติที่จะเป็นหน้าเป็นตาต่อประเทศ แต่การท้าทายระบบที่ปกป้องประเทศจากความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะสำหรับจีนแล้วความมั่นคงและความไม่วุ่นวาย เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก

Photo by Philippe LOPEZ / AFP