posttoday

ทำไมพลังของคนรุ่นใหม่จึงไปไม่ถึงฝัน

28 ตุลาคม 2563

ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีพลัง แต่เพราะพลังที่ล้นปรี่จึงทำให้มองไม่เห็นกับดักที่รออยู่ข้างหน้า แถมกับดักนั้นพวกเขายังเป็นคนวางไว้เองด้วย

เมื่อพูดถึงพลังของคนรุ่นใหม่ เราไม่ได้พูดถึงแค่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง เรายังมีพลังคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายๆ ด้าน ในด้านที่ทรงพลังที่สุดในตอนนี้คือการนัดหยุดเรียนเพื่อกดดันให้ผู้ใหญ่แก้ปัญหาโลกร้อน หรือขบวนการ School strike for climate ซึ่งมีแกนนำคนสำคัญคือเกรต้า ธูนแบร์ เด็กหญิง (ที่ตอนนี้เป็นสาวรุ่น) ชาวสวีเดน

ขบวนการเด็กนัดหยุดเรียนมีผู้เข้าร่วมแสดงพลังถึง 1.4 - 4 ล้านคนในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย ในบางช่วงมีการนัดหยุดเรียนรวมกันถึง 4,500 ครั้ง ดูจากตัวเลขแล้วมันเป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังมาก และหากผู้ใหญ่ไม่ขยับตามข้อเรียกร้องเห็นทีคงจะอยู่ลำบาก

แต่ปรากฎว่ารัฐบาลต่างๆ ก็ไม่ได้ขยับทำอะไรมากนักเกี่ยวกับการแก้ปัญหาโลกร้อน การประชุมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ถูกเลื่อนครั้งแล้วครั้งเล่าจนเกรต้า ธูนแบร์ ต้องเดินทางย้ายจุดหมายปลายทางหลายครั้ง หากเป็นคนทั่วไปคนเหนื่อยและท้อไปนานแล้ว

ยังไม่นับการระบาดของโควิด-19 ที่บั่นทอนความพยายามแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างมาก เพราะเศรษฐกิจที่ชะงักงัน ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ต้องทิ้งความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนเอาไว้ก่อน แล้วหันมาสนับสนุนอุตสาหกรรม (ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาล) เพื่อปากท้องของประชาชน

เกรต้า ธูนแบร์จึงบอกว่ากระแสการประท้วงนัดหยุดเรียนทั่วโลกในปีที่ผ่านมา "ไม่ได้บรรลุอะไรเลย" เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เหตุผลก็อย่างที่กล่าวไป

เราจะเห็นว่าแม้พลังเยาวชนจะมากมายมหาศาลแค่ไหน แต่มันเป็นเพียงปริมาณ แต่ขาด "คุณสมบัติ" คุณสมบัติในที่นี้ก็คือพลังทางการเมืองที่จะบีบให้รัฐบาลยอมทำตาม บีบให้ภาคธุรกิจต้องยอมสยบ การแสดงพลังจึงเป็นเพียงแค่ "การแสดง" แต่ "ไร้พลัง"

พลังเด็กมีแต่ใจ แต่ไม่มีอำนาจ

ไม่ใช่แค่นั้น พลังเด็กยังถูกผู้ใหญ่ต่อต้านและต่อว่าอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่น เกรต้า ธูรแบร์ถูกประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน "สั่งสอน" ว่า "ไม่มีใครอธิบายให้เกรตาเข้าใจว่าโลกสมัยใหม่มีความซับซ้อนและแตกต่างกันและ ... ผู้คนในแอฟริกาหรือในหลายประเทศในเอเชียต้องการอยู่ในระดับความมั่งคั่งเช่นเดียวกับในสวีเดน"

คำพูดของปูตินหมายความว่าเกรต้าอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วที่ทันสมัยและค่อนข้างมีอันจะกิน ดังนั้นจึงมีต้นทุนมากที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้โดยไม่กระทบกับปากท้อง ตรงกันข้ามกับคนในแอฟริกาและเอเชียที่ยังยากจนมากหากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ก็จะกระทบต่อปากท้องประชาชนแน่นอน

สิ่งที่ปูตินบอกว่า "โลกสมัยใหม่มีความซับซ้อน"ความซับซ้อนนี้เกิดขึ้นจากความยุ่งยากทางการเมืองและผลประโยชน์ที่พัวพันกันทุกชนชั้นและฐานะทางสังคม

ถ้าขนาดการแก้ปัญหาโลกร้อนยังหาข้อสรุปไม่ได้เพราะความซับซ้อนทางการเมือง แล้วปัญหาการเมืองจะซับซ้อนเกินที่จะแก้ขนาดไหน?

การไม่เข้าใจความซับซ้อนทางการเมืองเป็นสาเหตุให้ "พลังบริสุทธิ์" ของคนรุ่นใหม่ต้องแปดเปื้อนหรือล่มสลายลง

ตัวอย่างเช่นกรณีของเกรต้า ธูนแบร์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคมปีนี้ เธอรีทวีตโพสต์ของโจชัว หว่อง แกนนำเรียกร้องทางการเมืองในฮ่องกง เธอยังเขียนแคปชั่นว่า "ฉันขอเคียงข้างประชาชนชาวฮ่องกง"

แม้จะมีคนสนับสนุนและยินดีกับรีทวีตนี้ แต่ก็ปรากฎว่าเธอถูกวิจารณ์และ "สั่งสอน" จากผู้ต่อต้านการประท้วงฮ่องกงอย่างหนัก บางคนบอกว่าให้เธอสนใจกับปัญหาโลกร้อนเหมือนเดิมจะดีกว่า แต่หลังจากนั้นเกรต้าก็ยังแสดงจุดยืนสนับสนุนผู้ประท้วงที๋ฮ่องกงอีกในเดือนตุลาคม

การแสดงจุดยืนสนับสนุนการเมืองของเกรต้าเป็นสิทธิพื้นฐานของมุนษย์ทุกคน แต่เธอไม่ได้ตระหนักว่าการแสดงจุดยืนทางการเมืองอาจทำให้สิ่งที่เธอต่อสู้มาตลอดต้องสูญเปล่า

ปัญหาโลกร้อนแก้ไขไม่สำเร็จเพราะการนัดหยุดเรียนประท้วง แต่เกิดขึ้นจากอำนาจการตัดสินใจของรัฐบาล การที่เธอแสดงจุดยืน "ปรปักษ์" กับรัฐบาลจีน อาจจะทำให้เธอหมดโอกาสที่จะไปเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในจีน

ถามว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร? สำคัญตรงที่จีนเป็นผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก (อันดับที่สองคือสหรัฐ) หลังจากที่สหรัฐถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่นานาประเทศจะร่วมกันแสดงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซ จีนก็ขันอาสาขอมาเป็นผู้นำในโลกในการแก้ปัญหาโลกร้อน และที่ผ่านมาจีนแสดงความมุ่งมั่นอย่างมากในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

แทนที่เธอจะใช้จีนมาเป็นตัวอย่างที่ดี หรือแทนที่จะใช้ความตั้งใจของจีนมากดดันสหรัฐ หรือใช้ตอบโต้โดนัลด์ ทรัมป์ที่เย้ยหยันเธอ เธอกลับแสดงตัวเป็นศัตรูกับจีนในเรื่องที่ไม่ควรจะเป็นศัตรู นี่คือความ "ไร้เดียงสาทางการเมือง" อย่างหนึ่งที่บั่นทอนความฝันของตัวเธอเอง

สิ่งที่เกิดขึ้นกับเกรต้าคือปัญหาของการไม่โฟกัสที่เป้าหมายเดียว แต่กวาดทุกเป้าหมายที่คนรุ่นใหม่ต้องการให้เปลี่ยนแปลงแบบปัจจุบันทันด่วน ในขณะที่โลกร้อนก็ต้องการเจตนารมณ์ทางการเมือง เธอกลับปิดทางนั้นไปเสีย แล้วดันมาแสดงจุดยืนทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยฮ่องกง ซึ่งนอกจากจะไม่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังทำให้การแก้ปัญหาโลกร้อนต้องล่าช้าออกไปอีก

แม้ว่ารัฐบาลจีนจะไม่แยแสจุดยืนของเกรต้า แต่มันทำให้เธอถูกตำหนิจากผู้คนมากมายและทำให้เธอต้องเสียแนวร่วมแก้ปัญหาโลกร้อนไปเปล่าๆ เพราะเห็นว่าเธอไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหาสากลแต่สนใจปัญหาภายในของประเทศอื่น

นี่คือตัวอย่างของความล้มเหลวของขบวนการที่เกิดจากการผลักแนวร่วมออกไปโดยไม่จำเป็นและมีเป้าหมายที่ "มั่วไปหมวด"

อีกตัวอย่างก็คือฮ่องกง การประท้วงในฮ่องกงสิ่งเริ่มต้นจากการประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ต่อมาข้อเรียกร้องเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ กลายเป็นห้าข้อที่เรียกว่า Five Demands ซึ่งมีข้อเดียวที่เกี่ยวกับกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน นอกจากนั้นไปเกี่ยวกับสถานะการประท้วง เกี่ยวกับการปราบผู้ประท้วง และเกี่ยวกับการขอให้ผู้บริหารฮ่องกงลาออก

จะเห็นได้ว่าข้อเรียกร้องเริ่ม "ออกทะเล" ไปเรื่อยๆ แต่ข้อที่ห้านั้นออกนอกโลกไปไกลจนชัดเจนว่าจีนไม่มีทางยอมได้ นั่นคือขอให้แคร์รี่ หลั่ม ผู้บริหารฮ่องกงลาออกและให้สิทธิประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้บริหารฮ่องกงและสมาชิกสภานิติบัญญัติ

ข้อนี้ถือว่า "ก้าวล่วง" อำนาจการปกครองของจีนอย่างมาก มากจนนอกจากจะทำไม่ได้แล้วยังเสี่ยงที่จีนจะตอบโต้อย่างรุนแรง เพราะอำนาจการแต่งตั้งผู้บริหารฮ่องกงคืออำนาจของรัฐบาลจีนและการให้ชาวฮ่องกงเลือกผู้นำเองเป็นการสั่นคลอนอธิปไตยของจีนที่เป็นรัฐเดี่ยวบริหารจากส่วนกลางที่ปักกิ่ง เป็นการทำให้ฮ่องกงกลายสภาพจากเขตปกครองพิเศษเป็น "รัฐปกครองตนเอง" ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลที่ปักกิ่ง

มันคือข้อเรียกร้องที่ทำลายรากฐานของประเทศจีนกันเห็นๆ 

ปัญหาก็คือผู้ประท้วงฮ่องกงไม่ยอมให้ลดราวาศอกเด็ดขาด ทุกห้าข้อของ Five Demands ต้องได้รับการตอบสนอง ดังนั้น การประท้วงจึงนำไปสู่ทางตันในที่สุด

เมื่อทุกอย่างเดินมาถึงทางตัน การเจรจาไม่อาจทำได้อีก วิธีการผ่าทางตันที่เหลืออยู่ก็คือการวัดกันว่าใครมีอำนาจที่แท้จริงมากกว่ากัน

ผลปรากฎว่าไม่ใช่ผู้ประท้วง ไม่ใช่ฝ่ายบริหารฮ่องกง แต่เป็น "รัฐบาลจีน" ที่เป็นฝ่ายที่มีอำนาจที่แท้จริง ด้วยการออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติแบบสายฟ้าแล็บ ด้วยมาตราเอาผิดที่ครอบคลุมและเกือบจะเข้าข่ายตีความตามอำเภอใจได้และเท่ากับ "ปิดประตูตีแมว" เพราะจีนไม่สนอีกต่อไปว่านานาประเทศจะตอบโต้อย่างไร

นับตั้งแต่แกนนำและผู้ประท้วงก็ถูกจับกุมเป็นว่าเล่น การชุมนุมก็เริ่มมอดลงเพราะถูกตีกระหน่ำด้วยไม้เดียวเข้าที่กล่องดวงใจ นั่นคือการทำให้ม็อบหวาดกลัวว่าเมื่อไรตัวเองจะถูกเล่นงาน จากเดิมที่ตำรวจไม่กล้าลงมือเต็มที่เพราะถูกประชาคมโลกจับตา

การประท้วงในฮ่องกงแม้จะมีบ้างประปราย แต่มันไม่อาจทรงพลังเท่าเดิมอีก เพราะการเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามจะถูกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเล่นงานอย่างไร้ความปราณี

ประเด็นก็คือถ้าผู้ประท้วงยังยึดมั่นกับการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน พวกเขาก็มีโอกาสที่จะขับเคลื่อนประเด็นอื่นๆ ต่อไปเรื่อยๆ ได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วรัฐบาลยอมถอยด้วยการระงับร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปแล้วด้วยซ้ำ แต่ผู้ประท้วงเองที่ "ได้คืบจะเอาศอก" โดยไม่ดูว่าตัวเองพาตัวเองไปจนมุม

การต่อสู้ที่ผลักแนวร่วมออกไปโดยไม่จำเป็น การเคลื่อนไหวที่หวังสูงเกินกำลัง มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวไปสู่จุดจบเช่นไร

แน่นอนว่า สำหรับผู้มีหัวใจนักสู้ ถึงแม้ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหนพวกเขาก็ยังต้องสู้ แต่การมีหัวใจสู้อย่างเดียวยังไม่พอ พวกเขาต้องรู้จังหวะที่เหมาะสมของทุกๆ ความเคลื่อนไหวด้วย

เพราะหาไม่แล้วก็จะเหมือนที่เกรต้า ธูนแบร์บอกไว้ก็คือสุดท้ายแล้วพวกเขาจะ "ไม่ได้บรรลุอะไรเลย"

บทความโดยกรกิจ ดิษฐาน

Photo by Isaac LAWRENCE / AFP