posttoday

ทำไมเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐถึงซับซ้อนจนน่าปวดหัว?

29 ตุลาคม 2563

ทำความเข้าใจวิธีการเลือกตั้งสหรัฐ เราจะมาสรุปขั้นตอนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐให้เข้าใจกัน

1. ด้วยความที่ประเทศสหรัฐประกอบด้วยหลากหลายรัฐ และแต่ละรัฐมีจำนวนประชากรไม่เท่ากัน ดังนั้นจึงป้องกันปัญหา "เผด็จการเสียงข้างมาก" โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเพื่อเลือก "คณะผู้เลือกตั้ง" ในแต่ละรัฐ และคณะผู้เลือกตั้งจะเข้าไปเลือกประธานาธิบดีอีกทีหนึ่ง

2. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจึงเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ Popular Vote และ Electoral College ดังนั้นจึงไม่ใช่การเลือกตั้งทางตรงและมีความซับซ้อนอย่างมากจนคนอเมริกันโต้เถียงกันมานานให้แก้ไขระบบ

3. Popular Vote คือคะแนนเสียงดิบของประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งที่ลงคะแนนโดยนับ 1  คน 1 เสียง หากเป็นประเทศอื่นๆ ก็จะวัดกันที่คะแนนดิบนี้ว่าใครจะได้คะแนนมากกว่ากัน แต่ที่สหรัฐไม่ได้นับด้วยวิธีนี้

4. ที่สหรัฐจะนับกันที่ Electoral College ซึ่งคือคณะผู้เลือกตั้งที่เสนอตัวว่าจะไปเลือกคนใดเป็นประธานาธิบดีหรือพรรคใดเข้าไปนั่งในสภา  คณะผู้เลือกตั้งจะสัญญาเป็นมั่นหมาะว่าจะเข้าไปเลือกใคร เช่น กลุ่มนี้บอกว่าจะเลือกพรรคเดโมแครต/ไบเดน ก็ต้องเลือกตามที่สัญญาไว้ จะไม่มีการเปลี่ยนจุดยืนเด็ดขาด

5. โดยในแต่ละมลรัฐจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในรัฐนั้นๆ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีประชากรมากที่สุดมีคณะเลือกตั้ง 55 คน ส่วนรัฐเดลาแวร์มีประชากรน้อยที่สุด มีคณะเลือกตั้งแค่ 3 คน รวมแล้วมีคณะเลือกตั้งทั่วประเทศ 538  โดยผู้ที่จะชนะเลือกตั้งได้จะต้องมีคะแนนของคณะเลือกตั้งเกิน 270 เสียง

6. แม้ว่าประชาชนจะเป็นผู้ลงคะแนน Popular Vote แต่ตัวแปรที่จะตัดสินผลแพ้ชนะนั้นมาจากคณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College ดังนั้นแม้ว่าผู้สมัครคนหนึ่งๆ จะได้คะแนนดิบมากกว่า แต่หากคะแนนคณะผู้เลือกตั้งน้อยก็ถือเป็นผู้แพ้

7. และการเลือกตั้งของสหรัฐยังใช้ระบบ Winner-Takes-All (คนชนะได้เสียงไปทั้งหมด) หมายถึงพรรคใดก็ตามที่ชนะ Popular Vote ในรัฐใดรัฐหนึ่ง จะได้คะแนนเสียงทั้งหมดใน Electoral College ของรัฐนั้น โดยไม่มีการแบ่งคะแนนกับคู่แข่งแม้ว่าคะแนน Popular Vote จะสูสีกันแค่ไหนก็ตาม (เว้นแค่ 2 รัฐที่ไม่ได้ใช้ระบบนี้) 

8. ดังนั้นหากแพ้คะแนน Popular Vote ไปเพียงคะแนนเดียวก็ทำให้เสียคะแนนจาก Electoral College ไปได้หลายสิบคะแนนเสียง ทำให้พรรคการเมืองต้องพยายามเร่งหาเสียงในรัฐที่มีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก

9. ยกตัวอย่างกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ และฮิลลารี คลินตัน ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คลินตัน ได้คะแนน Popular Vote ไป 65 ล้านเสียง ซึ่งมากกว่าทรัมป์ถึง 2.9 ล้านเสียง แต่ทรัมป์ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งรวมทั้งสิ้น 304 เสียง ขณะที่คลินตันได้ไป 227 เสียง จึงทำให้ทรัมป์เป็นฝ่ายชนะ

10. นอกจากนี้ยังเคยเกิดกรณีเช่นนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2000 เมื่อ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช มีคะแนน Popular Vote น้อยกว่า อัล กอร์ แต่กลับชนะการเลือกตั้ง เนื่องจากได้รับเสียงส่วนใหญ่ในรัฐฟลอริดาซึ่งมีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก ส่งผลให้จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เสียงส่วนมากจาก Electoral College 270 เสียง จากทั้งหมด 538 เสียง

11. ด้วยเหตุนี้ทำให้เป็นข้อกังขาว่าประธานาธิบดีไม่ได้มาจากคะแนนเสียงส่วนมากของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งอย่างแท้จริง และมีเสียงเรียกร้องให้ปรับปรุงระบบเลือกตั้งแบบ Electoral College แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

12. ดังนั้นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งจึงยังต้องทุ่มเทให้กับรัฐที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากกันต่อไป รัฐพวกนี้จึงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เช่น แคลิฟอร์เนีย, เท็กซัส, ฟลอริดา, นิวยอร์ค, และเพนซิลเวเนีย เป็นต้น เพราะหากแพ้ก็จะหมายความว่าเสียคะแนนเสียงไปท้งหมด แต่รัฐพวกนี้คาดเดาได้ง่ายว่าจะเลือกใคร

13. สมรภูมิที่พวกเขาจะต้องไปช่วงชิง คือรัฐที่เรียกว่า Swing State หมายถึงรัฐที่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางของผลการเลือกตั้งได้ โดยอาจมีคะแนนสูสีกันระหว่างสองพรรคการเมือง เช่น แอริโซนา, นอร์ทแคโรไลนา, ฟลอริดา, เพนซิลเวเนีย, มิชิแกน, นิวแฮมป์เชียร์ และวิสคอนซิน เป็นต้น หากคู่แข่งได้คะแนนในรัฐใหญ่ได้ไปเท่าๆ กัน พวกเขาจะต้องมาลุ้นกันในรัฐ Swing State เหล่านี้ 

Photos by JIM WATSON and SAUL LOEB / AFP