posttoday

ม็อบไร้แกนนำ จุดแข็งหรือจุดอ่อน?

21 ตุลาคม 2563

การประท้วงแบบไม่มีแกนนำแม้จะสร้างความปวดหัวให้ตำรวจได้ แต่ถ้าไม่คุมให้ดี นานวันเข้าผู้ประท้วงอาจปวดหัวเองก็ได้

การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” ในรูปแบบที่ไม่มีแกนนำกลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการชุมนุมประท้วงในประเทศไทย

การกระจายอำนาจจาก “แกนนำเพียงคนเดียว” เหมือนการประท้วงในยุคเก่าๆ มาสู่แท็กติก “ทุกคนคือแกนนำ” ตามแบบของการประท้วงในฮ่องกง ทำให้การชุมนุมในไทยยังดำเนินต่อมาได้จนถึงวันนี้โดยไม่ระส่ำระสาย แม้ว่าบรรดาแกนนำคนสำคัญจะถูกจับไปแล้ว

แต่นอกจากความคล่องตัว ทำให้เจ้าหน้าที่ไล่ตามไม่ทันแล้ว การไม่มีตัวผู้นำที่ชัดเจนอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับม็อบนักศึกษาฮ่องกงที่เป็นต้นแบบการชุมนุมแบบไร้แกนนำให้นักศึกษาไทย

เมื่อการประท้วงลากยาว ข้อเรียกร้องของนักศึกษาไม่ได้รับการเหลียวแล ความตึงเครียดจึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น การชุมนุมโดยสงบในฮ่องกงจึงกลายร่างเป็นการชุมนุมโดยใช้ความุรนแรง จนนำมาสู่เหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ประท้วงบางรายกรูกันเข้าไปจับตัวชายชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 2 คนมัดไว้ในสนามบิน เพราะสงสัยว่าเป็นตำรวจปลอมตัวเข้ามาปะปนกับนักศึกษา รวมทั้งมีการปิดทางและตะโกนใส่นักท่องเที่ยวที่ใช้บริการสนามบิน จนวันต่อมานักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงนี้ต้องออกมาถือป้ายขอโทษ

นอกจากนี้ เมื่อไม่มีผู้นำหลัก การตัดสินใจต่างๆ อาจไม่เด็ดขาด จนเกิดความเห็นต่างที่อาจทำลายนโยบายไม่ใช้ความรุนแรง อาทิ การประท้วงเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่แตกแยกเป็น 2 ฝั่งระหว่างฝั่งที่ต้องการรวมตัวกันอย่างสงบกับฝั่งที่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการทำลายข้าวของและจุดไฟเผายานพาหนะ 

คาร์น รอสส์ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรที่ปรึกษาทางการทูต Independent Diplomat กล่าวว่า “ในการชุมนุมโดยไม่มีผู้นำ แน่นอนว่ามีความเสี่ยงที่คนส่วนน้อยจะใช้กลยุทธ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย”

การชุมนุมที่ไม่มีแกนนำทำให้ไม่มีใครคอยกำหนดมาตรฐานว่าความรุนแรงแค่ไหนที่พอจะยอมรับได้ อย่างเช่นการประท้วงในฮ่องกงที่การวางเพลิง การทำลายข้าวของ หรือการใช้กำลังโต้กลับตำรวจกลายเป็นเรื่องปกติของม็อบ

การชุมนุมของนักเรียนนักศึกษาฮ่องกงครั้งล่าสุดค่อยๆ ยกระดับความรุนแรงขึ้น มีการเผาสถานีรถไฟใต้ดิน ทุบทำลายร้านที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และเกิดการปะทะกับตำรวจโดยมีเจ้าหน้าที่ถูกผู้ประท้วงยิงธนูเข้าที่หน้าแข้ง จนตำรวจต้องใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย กระสุนยาง รวมทั้งรถฉีดน้ำแรงดันสูงและใช้กระสุนจริงหยุดผู้ประท้วงหัวรุนแรง

เหตุการณ์นี้ถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในการประท้วงของฮ่องกง เปิดทางให้ทางการจีนแผ่นดินใหญ่ใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีดิสเครดิตการประท้วง

การใช้ความรุนแรงนี้ นอกจากจะทำให้ผู้ประท้วงต้องปะทะกับเจ้าหน้าที่เป็นรายวันแล้ว ยังสูญเสียแรงสนับสนุนจากชาวฮ่องกงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของกิจการร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากม็อบทั้งร้านค้าเสียหายและเสียรายได้จากนักท่องเที่ยว อีกทั้งบรรดานักธุรกิจยังตบเท้าออกมาเรียกร้องให้ทางการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการกับผู้ประท้วงด้วย ทั้งที่คนกลุ่มนี้จะเงียบมาตลอด

เคลย์บอร์น คาร์สัน นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เผยว่าองค์ประกอบสำคัญของการประท้วงอย่างสันติและมีประสิทธิภาพคือ ผู้นำ “หากไม่มีผู้นำก็จะไม่สามารถควบคุมสารที่ต้องการสื่อ...ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนคนเดียว อาจจะมีหลายคนก็ได้ แต่ต้องมีคนที่สามารถสั่งได้ว่า ‘เราต้องการสิ่งนี้’ และต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจน

การชุมนุมแบบไม่มีผู้นำยังมีความท้าทายอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือ มักจะมีความไม่คงเส้นคงวา หากนัดรวมตัวกันไม่สม่ำเสมอพอหรือไม่ประสบความสำเร็จ กระแสการประท้วงซึ่งใช้ในการดึงดูด ชักจูง กระตุ้นให้มีคนออกมาร่วมประท้วงจะค่อยๆ แผ่วลงไป

นอกจากนี้ การไม่มีผู้นำยังเสี่ยงจะถูกบุคคลภายนอกที่ไม่หวังดีแทรกแซงเพื่อสร้างความรุนแรง เนื่องจากใครๆ ก็สามารถอ้างว่าตัวเองอยู่ฝ่ายเดียวกันหรือเกี่ยวข้องกับการประท้วง

ดังนั้นหากเกิดความรุนแรงจากในม็อบนักเรียนนักศึกษาราษฎร รัฐบาลอาจใช้จุดนี้เป็นข้ออ้างในการใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามการชุมนุม ผลสุดท้ายคงพบจุดจบไม่ต่างจากการประท้วงในฮ่องกง