posttoday

อันตราย! นักวิทย์คาดประชาชนหลายสิบล้านต่อต้านวัคซีนโควิด

21 ตุลาคม 2563

นักวิทยาศาสตร์และทีมแพทย์เร่งสร้างความเข้าใจหลังพบประชาชนจำนวนมากเลี่ยงวัคซีนโควิด-19

เอเอฟพี รายงานว่านักวิทยาศาสตร์กำลังเรียกร้องให้มีการดำเนินการสร้างความไว้วางใจในการฉีดวัคซีนโควิดต้าน-19ให้แก่ประชาชนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากผลการวิจัยระบุว่าประชาชนจำนวนมากในบางประเทศไม่เต็มใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 โดยความลังเลใจในการฉีดวัคซีนของประชาชนมีเพิ่มมากขึ้นจากการได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงและการไม่ยอมรับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์

การศึกษาโดยนักวิจัยชาวสหรัฐ, สเปน และสหราชอาณาจักร ทำการสำรวจประชาชน 13,400 คนใน 19 ประเทศซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 พบว่าประชาชน 72% กล่าวว่าจะเข้ารับการฉีดวัคซีน ขณะที่ประชาชน 14% ปฏิเสธการเข้ารับการฉีดวัคซีน และอีก 14% ยังไม่แน่ใจ โดยนักวิจัยคาดการณ์ว่าอาจมีประชากรทั่วโลกหลายสิบล้านคนที่หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน

ไฮดี้ ลาร์สัน กล่าวว่าจำเป็นสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและความไว้วางใจในการฉีดวัคซีนต่อสาธารณชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งนักวิจัยพบว่าประชาชนที่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลน้อยจะมีโอกาสยอมรับวัคซีนน้อยเช่นกัน

เช่นเดียวกับ เจฟฟรี่ย์ ลาซารัส จากสถาบันสุขภาพบาร์เซโลนา ที่เผยว่าปัญหาความลังเลใจในการเข้ารับวัคซีนเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการขาดความไว้วางใจต่อรัฐบาล

โดยอัตราการยอมรับวัคซีนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศโดยกลุ่มตัวอย่างจากประเทศจีนมีการตอบรับเชิงบวกมากที่สุดและรัสเซียน้อยที่สุด

งานวิจัยที่เผยแพร่ในการประชุมสหภาพโลกเกี่ยวกับสุขภาพปอดก่อนหน้านี้พบว่ากลุ่มคนที่มีรายได้มากกว่า 32 เหรียญสหรัฐต่อวันมีการยอมรับวัคซีนมากที่สุด และพบว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะรับวัคซีนมากกว่าผู้ที่อายุต่ำกว่า 22 ปี

นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนมีการศึกษาพบว่าประชาชนถึงหนึ่งในสามของบางประเทศอาจเชื่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องของไวรัสโคโรนาและเปิดรับการฉีดวัคซีนน้อยลง โดยผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19รายใหญ่ที่สุดของโลกเนื่องจากส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า "การรักษาแบบมหัศจรรย์"

ขณะเดียวกันการพัฒนาที่รวดเร็วเกินไปในบางประเทศก็ส่งผลให้เกิดความกังวลและความไม่ไว้วางใจต่อวัคซีนเช่นรัสเซียประกาศในเดือนสิงหาคมว่าจะเริ่มเปิดตัววัคซีนก่อนที่จะมีการทดลองในขั้นที่ 3 ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

ทั้งนี้ จะมีการเผยแพร่ชุดวิดีโอบนโซเชียลเน็ตเวิร์กเพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจในการฉีดวัคซีนให้แก่สาธารณชน โดยนักวิจัยและแพทย์ในสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, อเมริกาใต้, อินเดีย และบราซิลจะโพสต์ลงบนแอพพลิเคชั่นติ๊กต็อก, ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมโดยใช้แฮชแท็ก #TeamHalo

Photo by JUSTIN TALLIS / AFP