posttoday

"ถ้าการเมืองลาวดี" แรงกระเพื่อมจากม็อบไทยถึงลาว

20 ตุลาคม 2563

เสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ลาวที่ได้รับอิทธิพลจากความเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทย

ช่วงวันที่ 19 - 20 ตุลาคม เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจในโลกทวิเตอร์เมื่อจู่ๆ เทรนดิ้งยอดนิยมในไทยเกิดแฮชแท็กแปลกตาขึ้นมาอันหนึ่งเป็นภาษาลาวและตัวอักษรลาว คือ #ถ้าการเมืองลาวดี (หมายเหตุ- ต้นฉบับเขียนด้วยอักษรลาว)

ดูเหมือนว่าแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี จะเป็นการเลียนแบบหรือล้อกับแฮชแท็กยอดนิยมในไทยคือ #ถ้าการเมืองดี หลังจากตรวจสอบพบว่าผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั้งชาวไทยและชาวลาวแสดงความเห็นผ่านแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี กันอย่างคึกคัก ซึ่งก่อนจะทำการวิเคราะห์สถานการณ์ต่อไป เราต้องมาดูกันก่อนว่าคนลาวคิดอย่างไร?

เช่นผู้ใช้ทวิตเตอร์ @breezy537 บอกว่า "แม่ข้อยเคยถูกจับ พรบ. คอมพิวเตอร์และหมิ่นประมาทเจ้าพนักงานเลยโพสต์เฟซถามว่าทำไมตำรวจจึงตีพ่อข้อยทั้งที่บ่มีความผิด นอกจากบ่มีคำตอบแล้วยังมีความผิดร้ายแรงถูกจับทั้งที่บ่มีคำขอโทษจากบุคคลดังกล่าวเลย"

จากการตรวจสอบพบว่าคนลาวหลายๆ คนไม่ได้ติดแฮชแท็กแต่ใช้พื้นที่ทิวตเตอร์ระบายความในใจเกี่ยวกับประเทศตัวเอง เช่น การพัฒนาที่ไม่ไปไหน การคอร์รัปชั่น และการที่รัฐบาลปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ อย่างไรก็ตาม บางคนก็ไม่พ้นที่จะพาดพิงการเมืองไทย เช่น @TheToys39663528 บอกว่า "ในฐานะที่เป็นคนลาวคน1 บอกเลยว่านายกลาวไม่เXยเหมือนนายกไทย แต่ก็ไม่ทำเXยอะไรเหมือนกันคับ"

ในส่วนของคนไทย ผู้ที่แสดงความเห็นเด่นๆ ก็เช่น เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ที่บอกว่า "ผมดีใจมากที่เห็นว่าตอนนี้คนลาวใช้ทวิตเตอร์และใช้แฮ็กแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาสังคมและระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในประเทศของพวกเขาหลังจากเห็นการประท้วงของไทย"

บางคนก็คาดหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค เช่น ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @applicationcc บอกว่า "พอคนลาวออกมาบอกว่าคนไทยจุดประกายให้คนลาวเริ่มฉุกคิดถึงอนาคตประเทศทำไมมันทำให้ผมมองไปว่า ภายภาคหน้าไม่ใช่แค่ไทย แต่รอบด้านของไทย พม่า ลาว กัมพูชา หรืออาจจะเวียดนาม ที่ถูกกดขี่จากระบอบเผด็จการจะเริ่มลุกขึ้นต่อต้านครั้งใหญ่ใน (sic) ประวัติศาสตร์ของSEA"

จากการประเมินคร่าวๆ พบว่าผู้ติดแฮชแท็กนี้ส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่สนับสนุนหรือบอกเล่าปัญหาในลาว มีคนลาวเป็นส่วนน้อยเท่านั้นและในส่วนน้อยยังมีอีกส่วนน้อยมากที่ทวีตแบบ "รัวๆ"

จากทวีตหนึ่งทำให้สังเกตได้ว่ามีควาพยายามของชาวทวิตเตอร์ที่จะให้คนลาวตื่นตัวในปัญหาผ่านทางทวิตเตอร์ โดยหนึ่งในผู้ที่โพสต์ "รัวๆ" คนหนึ่งคือ @Bbibbirism บอกว่า "เริ่มจากแท็ก ให้มันจบที่ยุคเรา ก็เริ่มมีคนใช้ภาษาลาวหลายขึ้น ที่แท้แล้วคนลาวเล่นทวิตเตอร์หลายอยู่ แต่ส่วนหลายใช้ภาษาไทยกับหาทวิตลาวบ่เห็น"

จากทวีตนี้เราอาจวิเคราะห์ได้ว่ามีคความพยายาม "ปั่น" แฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี ให้คนลาวมาสนใจปัญหาบ้านเมืองคาดว่าได้รับแรงกระเพื่อมจากสถานการณ์ในไทย

แต่อย่างที่ทวีตนี้ตั้งข้อสังเกตก็คือ "หาทวิตลาวบ่เห็น" ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในลาวมีจำนวนน้อยมากแค่ 167,000 จากสถิติเมื่อเดือนกรกฎาคม 2020 คิดเป็น 3.2% ของประชากรทั้งประเทศและชาวทวิตเตอร์ 64% เป็นผู้หญิง เทียบกับในไทยในไทยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์ 7.1 ล้านคน 78% เป็นผู้หญิง

เป็นที่น่าสังเกตว่าจากสถิติเกี่ยวกับเพศของผู้ใช้ทวิตเตอร์พบว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ทวิตเตอร์เป็นผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกและลาวเป็นอันดับที่ 5 ของโลก

เราจะเห็นว่าพลวัตการขับเคลื่อนทางการเมืองของไทยเริ่มจากทวิตเตอร์ซึ่งมีผู้ใช้เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่ (มาก) และจากการสังเกตด้วยสายตาเราจะเห็นว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้มีเด็กวัยรุ่นที่เป็นผู้หญิงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ "พลังหญิง" จะกดดันผู้มีอำนาจในบ้านเมืองได้มากขนาดนี้

เช่นเดียวกับ การติด #ถ้าการเมืองลาวดี ในทวิตเตอร์ของคนลาวพบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่ด้วยจำนวนที่แตกต่างจากไทยมาก ดังนั้นพลวัตการขับเคลื่อนแบบสะเทือนฟ้าสะเทือนดินในลาวจึงไม่อาจคาดหวังได้

ตรงกันข้าม ผู้หญิงในลาวที่กล้าเปิดปากวิจารณ์รัฐบาลดอาจมีจุดจบไม่สวยนัก

ในแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี มีการเอ่ยถึงแอคทิวิสต์หญิงในลาวที่ถูกกล่าวขวัญถึงอย่างมาก (อย่างน้อยในหมู่คนที่สนใจการเมืองระหว่างประเทศ) นั่นคือ "หมวย" หรือ Houayheuang Xayabouly ซึ่งเป็นเน็ตไอดอลที่ลุกขึ้นมาอัดคลิปวิจารณ์รัฐบาลลาวหลายเรื่อง โดยเฉพาะคลิปที่ต่อว่ารัฐบาลอย่างรุนแรงฐานไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ผลก็คือหมวยถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทประเทศ และถูกจำคุก 5 ปีเมื่อปีที่แล้ว

หนึ่งในผู้ที่ผลักดันให้ปล่อยตัวหมวยอย่างแข็งขันที่สุดคนหนึ่งคือ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล โดยดันแฮชแท็ก #FreeMuay ขึ้่นมาและในแฮชแท็กล่าสุด #ถ้าการเมืองลาวดี เขาก็ไม่พลาดที่จะสนับสนุน และมีความเป็นไปได้ที่แฮชแท็กล่าสุดอาจจะเป็นความเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากกิจกรรมวันครบรอบการจับกุมหมวยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

แต่หมวยไม่ใช่แอ็กทิวิสต์คนเดียวที่ถูกรัฐบาลลาวดำเนินคดี ยังมีนักเคลื่อนไหวอีกหลายคนที่ถูกจับกุมหรือไม่ก็สูญหายไปเลย เช่น Od Sayavong นักเคลื่อนไหวที่หายตัวไปจากประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2019

ล่าสุดคือกรณีของ Sangkhane Phachanthavong ที่วิจารณ์ปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลบนเฟซบุ๊คจนถูกจับเมื่อเดือนสิงหาคมในข้อหา "มีส่วนพัวพันกับกลุ่มลาวนอกประเทศที่ต่อต้านรัฐบาล" ตอนนี้เขาได้รับการประกันตัวเออกมาแล้ว

จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลลาวไม่รีรอที่จะ "จัดการ" กับความเห็นต่างจากรัฐบาล

ที่น่าสนใจก็คือในแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี มีการโจมตีชาวลาวบางคนที่ไม่สนับสนุนให้ตำหนิประเทศตัวเอง เช่นมีคนๆ หนึ่ง (ถูกปกปิดชื่อ) บอกว่า "เห็นหลายคนเปรียบเทียบกับการเมืองลาวว่า ถ้าคนลาวเฮ็ดแบบนี้คือจะถูกอุ้มหรือจับตัวไปแล้ว อยากให้เข้าใจว่า แนวทางการเมืองคนละเส้น คนละระบอบกัน แม่ยอยู่ว่าประเทศลาวเฮาบ่มีสิทธิออกความคิดเห็นหรือชุมนุมประท้วงได้ แต่มันก็สงบสุขดีแม่นบ่ บ่เคยเกิดความรุนแรง"

คนเหล่านี้ถูกชาวทวิตเตอร์เรียกด้วยเป็นศัพท์แสงที่สะท้อนถึงการลอกเลียนปรากฎการณ์ทางการเมืองในไทยที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมักเรียกฝ่ายที่ไม่เห็นกับพวกเขาว่าเป็น "พวก... " น่าสนใจว่าคนลาวที่ติดแฮชแท็กนี้ติดตามการเมืองไทยอย่างไม่ละสายตาราวกับเป็นคนไทยเสียเองด้วย

การติดแฮชแท็ก #ถ้าการเมืองลาวดี อาจเป็นเรื่อง "มันส์" ของนักเคลื่อนไหวในไทย แต่หากคนลาวเข้ามาพัวพันกับแฮชแท็กนี้เด่นชัดเกินไปมีโอกาสที่พวกเขาจะถูกรัฐบาลจัดการได้ แม้ว่าพวกเขาจะโพสต์มันประเทศไทยก็ไม่รับประกันว่าจะรอด มีตัวอย่างมากแล้วในปี 2017 เมื่อคนงานลาว 3 คนที่วิจารณ์รัฐบาลบนเฟซบุ๊คตอนอยู่ในไทย กลับมาแล้วถูกจับกุมและรับโทษจำคุกเป็นเวลานาน

Od Sayavong ที่หายตัวไปในไทยเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวคนงานทั้งสามคน รวมถึง Sombath Somphone แอคทิวิสต์ชาวลาวที่หายตัวไปในปี 2012 ปรากฎว่าสุดท้าย Od Sayavong ก็หายตัวไปเสียเองด้วย

รัฐบาลบอกว่าไม่รับรู้ด้วยเพราะ Od Sayavong หายตัวในประเทศไทย ฟังดูแล้วคล้ายๆ กับปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการหายตัวของกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ในกัมพูชา

ในประเทศไทยการติด #ถ้าการเมืองลาวดี ทำให้บางคนในไปไกลถึงการตั้งขบวนการ #MilkTeaAlliance ไปเรื่อยๆหรือถึงขนาดคิดไปว่าเพื่อนบ้านของไทยที่เป็นเผด็จการจะถูกท้าทายเข้าสักวัน

แต่ในลาวเสรีภาพไม่ได้กว้างขวางเหมือนไทย และในหลายกรณีมันเป็นอันตรายต่อชีวิตด้วยซ้ำ

ภาพจาก Tim Wang from Beijing, China-wikipedia