posttoday

ม็อบไร้หัว ไหลเหมือนน้ำ ทำตัวเหมือนปลาดาว

19 ตุลาคม 2563

เจาะปรัชญาและกลยุทธ์ของการประท้วงแบบไม่มีแกนนำ มันจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว?

ดูเหมือนว่าการชุมนุมของ "คณะราษฎร" หรือ "กลุ่มราษฎร" หรือ ฯลฯ จะเดินตามรอยการชุมนุมของฮ่องกงที่ไม่มีแกนนำ การสลายกลุ่มต่างๆ แล้วนัดแนะกันตามโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นยุทธศาสตร์เดียวกับที่ใช้ในฮ่องกง การเคลื่อนตัวที่ว่องไวแบบแฟลชม็อบก็เป็นยุทธวิธีของกลุ่มประท้วงในฮ่องกงเช่นกัน

การสลัดทิ้งแกนนำมีเป้าหมายเพื่อต่ออายุการเคลื่อนไหวให้ยืนนานออกไปแบบไร้จุดจบ เพราะหากมีแกนนำคนใดคนหนึ่ง (หรือทุกคน) ถูกรวบไป ขบวนการจะสะดุดตัวลงในทันที แต่ถ้าไม่มีแกนนำ ทุกคนผูกมัดกันไว้หลวมๆ ด้วยเป้าหมายแล้วออกมาแสดงพลังด้วยเป้าหมายเดียวกัน การเคลื่อนไหวก็จะยืนยงไปเรื่อยๆ

ขบวนประท้วงในฮ่องกงมีปรัชญาว่า "Be water" ซึ่งนำมาจากคำพูดอมตะของบรูซ ลี ที่หมายถึงกลยุทธการต่อสู้ที่ต้องยืดหยุ่น ลื่นไหล ไม่ถูกจำกัดด้วยรูปลักษณ์ แม้จะอ่อนและจับต้องไม่ได้ แต่ก็ทรงพลังขนาดที่ทำลายหินที่แข็งแกร่งได้

การประท้วงที่แคว้นคาตาลันในสเปนใช้ปรัชญาแห่งการเป็นน้ำเหมือนฮ่องกง แต่พวกเขาหวังสูงขนาดว่าน้ำจะทรงพลังจนกลายเป็นสึนามิ (ดูขบวนการ Tsunami Democratic) พวกเขาเรียนรู้แท็คติกในการเคลื่อนไหวแบบใหม่ในฮ่องกงอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กและการปกปิดตัวตนจากการถูกจับได้โดยเจ้าหน้าที่

ในไทยมีการลอกวิธีจากฮ่องกงชัดๆ อยู่ 3 แบบ คือ 1. การพยายามใช้แอพเดียวกัน (Telegram) ในการระดมพล 2. การแจ้งทำแฟลชม็อบที่ทำกันกระชั้นชิดแต่ได้ผล มีการระดมพลว่องไวสลายตัวไวจับได้ยากเหมือนการใช้มือคว้าน้ำ และ 3. ที่ฮ่องกงที่ใส่หน้ากากทุกอย่างจนทางการต้องออกกฎหมายจับกุมผู้ปกติใบหน้าระหว่างการชุมนุม ซึ่งทางคาตาลันใช้วิธีนี้เช่นกัน แต่เพื่อสร้างความโดดเด่นให้พื้นที่สื่อต่างประเทศด้วย

ในไทยผู้ประท้วงปกปิดใบหน้าอยู่แล้วด้วยการสวมหน้ากากอนามัยพเราะประจวบเหมาะที่มีการระบาดของโควิด-19 แต่ในช่วงแรกของการชุมนุมมีนักเรียนนักศึกษาเรียกร้องให้สื่อปกปิดใบหน้าของผู้ชุมนุมเยาวชน ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ก็ว่าได้ที่มีการขอร้องให้ปกปิดตัวตนของผู้ประท้วงและสื่อตอบสนองด้วยดี

โดยรวมแล้วปรัชญาการต่อสู้แบบ Be water มีองค์ประกอบ 2 อย่างคือ ในด้านการลงมือปฏิบัติต้องว่องไวและยืดหยุ่น ไม่ปักหลักเหมือน "ม็อบรุ่นพี่" ที่ผ่านๆ มาในไทย ซึ่งนำไปสู่การล้อมปราบหรือเป็นเป้านิ่งของผู้ไม่หวังดีได้ง่าย องค์ประกอบอีกอย่างคือหลักการที่อิงกับ "การไม่ยึดความรุนแรง" และ "ปฏิเสธอำนาจรัฐเพราะเห็นว่าไม่ชอบธรรม หรือ Civil disobedience

อย่างไรก็ตาม ไม่ยึดความรุนแรงและการปฏิเสธอำนาจรัฐสิ่งที่ทำได้ยากในเวลาเดียวกัน เพราะไม่ยึดความรุนแรงจะต้องอาศัยความอดทนสูง หากความอดทนสิ้นสุดลงจะทำให้เกิดการต่อต้านอำนาจรัฐด้วยความรุนแรง การประท้วงที่ฮ่องกงกลายสภาพจาก Be water มาเป็น Be fire ก็ด้วยสาเหตุนี้

อีกหนึ่งปรัชญา (หรือจะเรียกว่าลักษณะเฉพาะก็ได้) ของการประท้วงที่ไร้แกนนำของการทำตัวเหมือน "ปลาดาว" หรือ Be starfish

แนวคิดเรื่องการเป็นปลาดาวของขบวนการไร้แกนนำถูกนำเสนอครั้งแรกๆ ผ่านหนังสือ The Starfish and the Spider (ปลาดาวกับแมงมุม) ของ Ori Brafman เมื่อปี 2006 เขาให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของสังคม 2 แบบคือการกระจายอำนาจและการผูกขาดอำนาจ

การผูกขาดอำนาจ เช่น การประท้วงที่มีแกนนำหรือกิจกรรมที่ผูกขาดความชอบธรรมของคนบางกลุ่มไว้ มีลักษณะเหมือนแมงมุม แมงมุมนั้นเมื่อถูกตัดอวัยวะสำคัญ เช่น หัวมันจะตายทันทีไม่สามารถจะสืบทอดทายาทหรือองคพายพอะไรต่อไปอีกได้

การกระจายอำนาจมีลักษณะเหมือนปลาดาว ปลาดาวเมื่อถูกตัดแขนออกไปจนเกือบหมด ส่วนที่ยังเหลืออยู่ก็ยังสามารถสร้างตัวเองให้เกิดขึ้นมาใหม่อีกได้แถมอวัยวะที่ถูกตัดไปยังเกิดปลาดาวขึ้นมาอีกตัว ไม่ใช่แค่ฆ่าไม่ตาย แต่ยังเป็นปรากฎการณ์แบบ "ตายสิบเกิดแสน"

หนังสือของ Brafman ยกตัวอย่างขบวนการ "แชร์" ในโลกโซเชียลยุคแรกๆ ว่าถึงจะถูกกำจัดออกไปโดยกฎหมายลิขสิทธิ์ แต่มันยังเกิดเว็บไซต์แชร์ไฟล์แบบเดียวกันขึ้นมาอีกมากมาย บางขบวนการที่เคลื่อนไหวแบบ "ออฟไลน์" เช่น กลุ่มสิทธิมนุษยชน/สิทธิสัตว์ หรือแม้แต่กลุ่มก่อการร้ายที่ไม่มีหัวหน้าเป็นตัวเป็นตน ถูกปราบไม่ค่อยจะได้เพราะสาเหตุนี้

แต่ปลาดาวไม่ใช่สัตว์อมตะ ถึงแม้ว่ามันจะเกิดแขน ขา หรือลำตัวขึ้นมาใหม่ แต่อายุขัยของมันก็มีสิ้นสุด เช่นเดียวกันขบวนการไร้แกนนำก็มีวันจบสิ้นได้เหมือนกันหากเจอมาตรการที่ใช่

ตัวอย่างเช่น จักรวรรดิแอซเท็กที่เคยมีอำนาจเหนือเม็กซิโกถึงมันจะยิ่งใหญ่แต่มันมีลักษณะแบบแมงมุมคือรวมศูนย์มากเกินไป เมื่อศัตรูคือพวกสเปนบุกเข้ามาแบบฉับพลันแล้วจับตัวประมุข ก็เหมือนการขยี้หัวของแมงมุม ทั้งตัวมันก็ตายไปด้วย อาณาจักรที่ยิ่งใหญ่มาหลายร้อยปีก็ล่มสลายในเวลาไม่กี่เดือนกี่ปี

ส่วนชนเผ่าที่อยู่ตอนเหนือขึ้นไปไม่มากคือชนเผ่าอาปาเช่ในประเทศสหรัฐปัจจุบันมีลักษณะแบบปลาดาว คือรวมตัวกันหลวมๆ บางครั้งมีผู้นำการต่อต้าน แต่เมื่อผู้นำตายนักรบคนอื่นๆ ก็จะแยกกันไปก่อหวอดกันเองแล้วก็รวมตัวกันหลวมๆ ทำการต่อต้านอีก พวกคนขาวจึงปราบเผ่าอาปาเช่ไม่ได้เสียทีแม้จะผ่านมา 200 กว่าปีและถึงจะมีจำนวนน้อยกว่าพวกแอซเท็กหลายเท่าตัวก็ตาม

แต่ในที่สุดเผ่าอาปาเช่ก็ถูกปราบลงจนได้ ไม่ใช่ด้วยประสุนปืนหรือแสนยานุภาพแห่งกองทัพอมเริกันที่ยิ่งใหญ่ แต่เพราะ "วัว" คือวัวธรรมดาๆ นี่เอง

หลังจากที่ปราบไม่ได้ รัฐบาลสหรัฐก็เปลี่ยนวิธีการรับมือชนเผ่าพื้นเมืองด้วยการผูกมิตรแทน และมอบวัวหลายล้านตัวให้กับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันทุกคน ชาวอาปาเช่ก็ได้รับด้วย แต่การรับวัวจะต้องทำเป็นระบบ ชาวอาปาเช่ที่เคยเป็นชนเผ่าเร่รอน เคลื่อนที่แบบ Be water ก็ต้องเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนของราชการเพื่อขอรับการแจกวัว

ดังนั้นพวกเขาจึงเสียสภาพของการเคลื่อนที่ที่ยืดหยุ่นและเมื่อมีวัวแล้วยังต้องปักหลักเลี้ยงพวกมันอีก ทำให้อาปาเช่ถูกควบคุมโดยไม่รู้ตัวว่าพวกเขาต้องพึ่งพา "ศัตรู" คือรัฐบาลสหรัฐไปโดยปริยาย

รัฐบาลสหรัฐไม่ได้มีเจตนาที่จะปราบอาปาเช่เลย แต่เพราะต้องการจะผูกมิตรแท้ๆ การให้วัวด้วยไมตรีจิตรจึงกลายเป็นการทำลายขบวนการไร้หัวที่ก่อกวนพวกคนขาว (ผู้รุกราน) ไปแบบไม่ได้ตั้งใจ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการการเคลื่อนไหวรูปแบบใดก็มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีใครมองเห็นหรือไม่

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพประกอบ - โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวฮ่องกงถือป้ายประกาศความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยนอกอาคารสำนักงานที่สถานกงสุลไทยตั้งอยู่ในฮ่องกงเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 (ภาพโดย PETER PARKS / AFP)