posttoday

กางกฎหมาย! การสลายการชุมนุมตามหลักสากลคืออะไร

17 ตุลาคม 2563

ตำรวจไทยยืนยันปฏิบัติตามหลักสากล แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนบอกขัดหลักกฎหมาย  

การชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการใช้ตำรวจปราบจลาจล พร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าสลายการชุมนุม โดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่ ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายใน 5 นาที เมื่อผู้ชุมนุมไม่เลิกจึงเกดการปะทะกันบริเวณบีทีเอสสถานีสยาม

จากนั้นฝ่ายตำรวจเริ่มใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงทั้งน้ำธรรมดาและน้ำสีฟ้าฉีดใส่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง โดยอ้างว่าได้ทำตาม “หลักสากล” หลักสากลที่ตำรวจไทยอ้างกำหนดไว้ว่าอย่างไรเรามาดูกัน

1.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ซึ่งไทยลงนามรับรองเมื่อปี 1996 ข้อ 21 กำหนดว่า  สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

2.หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัดตามหลักการที่ว่า

-หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น

-หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐอาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้

3.หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522   ข้อ 2 กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน

และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

4.แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้

-ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง

โดยทั่วไปแล้วปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน

การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ปืนใหญ่ฉีดน้ำไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึงอาการช็อกเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้

-การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง

การใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวิต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

ส่วนการสลายการชุมนุมนั้นต้องเป็นการสลายการชุมนุมตามขั้นตอน จากเบาสุดไปหาหนัก คือ

1.ต้องมีการประกาศเตือนก่อนว่าจะมีการเข้าไปดำเนินสลายการชุมนุม โดยการประกาศต้องทำให้ฝูงชนทราบและเข้าใจอย่างทั่วถึง

2. เมื่อประกาศเตือนแล้วไม่มีทีท่าว่าจะสลายการชุมนุมไป (โดยให้ระยะเวลาพอสมควร) เจ้าหน้าที่อาจประกาศเตือนว่าหากไม่สลายตัวไปด้วยความสมัครใจ เจ้าหน้าที่จะต้องใช้น้ำฉีดใส่ฝูงชน

3. หากผู้ชุมนุมยังไม่สลายตัว เจ้าหน้าที่จะต้องประกาศถึงขั้นตอนต่อไปด้วยการใช้แก๊สน้ำตา โดยใช้แก๊สน้ำตาที่ไม่เป็นอันตราย กล่าวคือต้องเป็นชนิดที่ผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตาสามารถทำให้อาการระคายเคืองบรรเทาเบาบางลงได้ด้วยตัวเอง

4. เมื่อขั้นตอนดังกล่าวไม่อาจใช้การได้ จะมีการประกาศเตือนว่าเจ้าหน้าที่อาจจะต้องใช้กระบองเข้าควบคุมฝูงชน โดยการใช้กระบองจะใช้ได้ต่อเมื่อฝูงชนปฏิเสธที่จะสลายตัวเท่านั้น และการใช้กระบองนั้นต้องตีไปในส่วนที่ไม่เป็นอันตราย

5. หากฝูงชนไม่มีทีท่าจะสลายไป ต้องมีการประกาศเตือนถึงการใช้อาวุธปืนด้วยกระสุนตาข่ายและกระสุนยางตามลำดับอย่างชัดเจน และต้องใช้เวลากับผู้ชุมนุมในการตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วย

6. หากสถานการณ์ยังไม่ดี และคาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่อาจประกาศว่ามีความจำเป็นต้องใช้กระสุนจริง แต่ต้องเป็นการใช้เพื่อป้องกันตัว หรือป้องกันชีวิตผู้อื่นที่ตกอยู่ในอันตรายที่จวนตัวมากจริงๆ เท่านั้น และเจ้าหน้าที่ต้องพยายามรักษาระยะห่างระหว่างตนเองกับผู้ชุมนุมด้วย

7. หากมีความจำเป็นที่จะต้องยิงจริงๆ การยิงควรเป็นการเล็งยิงในที่ต่ำ และเป็นการเล็งยิงไปในส่วนของฝูงชนที่มีลักษณะของการใช้ความรุนแรงมากที่สุดเท่านั้น

8. แผนกปฐมพยาบาลจะต้องเตรียมการไว้เสมอเพื่อนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล

ปฏิกิริยาโลกหลังการสลายการชุมนุม

สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM-ASIA) ระบุว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง การจับกุมโดยพลการ และการสลายการชุมนุมของรัฐบาลไทยไม่เป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนนานาชาติที่เคารพสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ การกระทำของรัฐบาลเป็นการปิดปากผู้ประท้วงที่พยายามเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปซึ่งเป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่

ด้านฮิวแมนไรส์วอทช์ระบุว่า การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจขัดต่อมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล