posttoday

ถึงเวลายกเครื่องระบบบำนาญ วัยเกษียณในไทยเสี่ยงอดตายเพราะเงินน้อย

16 ตุลาคม 2563

การเป็นสังคมผู้สูงอายุกลายเป็นความท้าทายยิ่งใหญ่สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสวัสดิการจากกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐ

ภายในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้า 1 ใน 6 ของประชากรโลกจะมีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ขณะที่ของไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ว่า ในปีหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) เป็นประเทศที่สองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด

คำถามก็คือ ในขณะที่ประชากรสูงอายุของไทยกำลังจะเข้าสู่วัยเกษียณและมีสิทธิ์ได้รับเงินสวัสดิการจากรัฐ ระบบบำเหน็จบำนาญของไทยเข้มแข็งพอรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นนี้หรือไม่

คำตอบอาจจะไม่ใช่ข่าวดีเท่าไรสำหรับผู้สูงวัย

ผลการจัดอันดับระบบบำเหน็จบำนาญโดย Melbourne Mercer Global Pension Index พบว่าระบบบำเหน็จบำนาญของไทยแย่ที่สุดในบรรดาประเทศที่ทำการวิจัยทั้งหมด 37 ประเทศ หมายความว่าผู้สูงวัยส่วนใหญ่ของไทยจะประสบปัญหา “จนตอนแก่” ต้องพึ่งพารายได้จากลูกหลาน หรือหากไม่มีลูกหลานก็ต้องทำงานต่อไป

มีเฉพาะข้าราชการที่ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญเท่านั้นที่มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับวัยเกษียณ ส่วนพนักงานเอกชนที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ด้วยความที่เก็บเงินสะสมในอัตราต่ำ ผู้เกษียณจึงมีรายได้ต่อเดือนจากเงินในส่วนนี้ไม่มาก

การจัดอันดับนี้ควรจะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาลไทยหันมาให้ความสำคัญกับระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับคนไทยทุกคน เพราะเงินบำเหน็จบำนาญที่เพียงพอจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนวัยเกษียณไม่ตกต่ำลง

แม้ว่าไทยจะมีกองทุนบำเหน็จบำนาญหลายประเภท ทั้งบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งครอบคลุมไปถึงแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ทว่าเงินที่ผู้สูงวัยจะได้รับจากกองทุนเหล่านี้กลับไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต แม้กระทั่งเทียบกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ยังไม่ต้องพูดถึงค่าครองชีพในอนาคตที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น

เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าสำหรับผู้สูงวัยทุกคนไม่ต่ำกว่าอัตราเส้นความยากจนคือเดือนละ 3,000 บาท รวมทั้งผลักดันให้เกิดกฎหมายระบบบำนาญแห่งชาติ แต่ข้อเรียกร้องนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล

การปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับไทย และรายงานของ Melbourne Mercer Global Pension Index  ก็แนะนำให้ไทยเพิ่มจำนวนเงินขั้นต่ำการออมเงินสำหรับการเกษียณภาคบังคับและเพิ่มการช่วยเหลือคนยากจน แต่น่าแปลกใจที่รัฐบาลไม่ได้บรรจุประเด็นนี้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ขณะที่เดนมาร์กซึ่งมีระบบบำเหน็จบำนาญที่ดีที่สุดในโลกจากการจัดอันดับเดียวกันนี้ นอกจากจะมีกองทุนสำหรับการเกษียณอายุทั่วไปซึ่งจ่ายให้ชาวเดนมาร์กทุกคนที่อายุ 65 ปีขึ้นไป (จากข้อมูลปี 2019 ได้รับสูงสุดคนละ 75,924 โครนเดนมาร์ก หรือราว 373,308 บาท) ยังมีระบบบำเหน็จบำนาญภาคการจ้างงานซึ่งนายจ้าง และการออมภาคบังคับแบบกำหนดเงินสะสม

สาเหตุที่คนวัยเกษียณเดนมาร์กได้รับเงินบำเหน็จบำนาญค่อนข้างสูงส่วนหนึ่งมาจากการเก็บภาษีในอัตราสูง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดอยู่ที่ 55.89%)

สำหรับไทยแม้จะเก็บภาษีสูงเพื่อนำมาสนับสนุนระบบบำเหน็จบำนาญอย่างเดนมาร์กไม่ได้ แต่อย่างน้อยรัฐบาลควรให้ความสำคัญกับระบบบำเหน็จบำนาญที่เป็นปัญหาปากท้องของคนไทยมากกว่าที่เป็นอยู่