posttoday

ฤาสายการบินโลว์คอสต์จะล่มสลาย เหลือแต่สายการบินแห่งชาติ

08 ตุลาคม 2563

กว่าธุรกิจสายการบินจะฟื้นตัวจาก Covid-19 ก็ต้องรอจนถึงปี 2024 แล้วกว่าจะถึงเวลานั้นสายการบินโลว์คอสต์จะอยู่ไหวหรือเปล่า

การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสทำให้ธุรกิจสายการบินทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดของสหรัฐเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน ส่งผลให้สายการบินหลายแห่งไปไม่รอดต้องยุติกิจการ หรือบางแห่งก็กำลังร่อแร่เต็มที โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของสายการบินโลว์คอสต์ที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายที่พร้อมจะขาดได้ทุกเมื่อ

สถานการณ์ของสายการบินโลว์คอสต์หลังยุค Covid-19 เป็นไปได้ 2 ทางคือ หมดยุคของเที่ยวบินราคาประหยัด และที่ร้ายกว่านั้นคือ ถึงกาลอวสานของสายการบินโลว์คอสต์

ความอยู่รอดของสายการบินโลว์คอสต์ขึ้นอยู่กับต้นทุนการดำเนินการและจำนวนตั๋วที่ขายได้ ยิ่งขายตั๋วได้มากก็ยิ่งมีรายรับมาก แต่ในยุคที่การเดินทางทางอากาศต้องปฏิบัติตามหลักเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จึงต้องนำที่นั่งตรงกลางออก จำนวนที่นั่งจึงหายไป 33%

อเล็กซองเดร เดอ จูเนียค ประธานกรรมการสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เผยว่ามาตรการ Social Distancing จะทำให้สายการบินต้องขึ้นค่าตั๋วอีกอย่างน้อย 50% เพื่อให้ได้กำไรขั้นต่ำ เนื่องจากเส้นทางการบินระยะสั้นต้องขายตั๋วให้ได้ตั้งแต่ 70% ของความจุเครื่องขึ้นไปจึงจะถึงจุดคุ้มทุน

แม้ว่าช่วงแรกๆ ที่กลับมาให้บริการได้อีกครั้ง บรรดาสายการบินต่างๆ อาจใช้กลยุทธ์กดราคาไว้เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่สุดท้ายเมื่อแบกรับภาระตุ้นทุนไม่ไหวก็ต้องขึ้นราคาตั๋ว คำว่าเที่ยวบินราคาถูกจึงถูกลบออกจากพจนานุกรมการบิน

นอกจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแล้ว การหยุดบินยังทำให้รายได้ของสายการบินหดหายจนขาดสภาพคล่อง IATA คาดการณ์ว่าปีนี้รายได้ของสายการบินทั่วโลกจะหายไป 50% ของรายได้ของปีที่แล้ว ลงมาอยู่ที่ราว 419,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหากคิดเป็นวัน สายการบินจะสูญเสียรายได้วันละ 230 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะลดลงจากปีที่แล้วครึ่งหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้เงินจึงเป็นกุญแจสำคัญในการพยุงสายการบินให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ดังที่ คาร์สเทน สปอห์ร ซีอีโอสายการบินลุฟท์ฮันซาของเยอรมนี และโยฮัน ลุนด์เกรน ซีอีโอสายการบินอีซีเจ็ทของอังกฤษพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าความช่วยเหลือจากรัฐบาลคือความหวังเดียวของสายการบิน

บรรดาสายการบินแห่งชาติต่างก็ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลไม่มากก็น้อย อาทิ สายการบินลุฟท์ฮันซาของเยอรมนี ได้รับเงินช่วยเหลือ 9,000 ล้านยูโร เพื่อแลกกับการให้รัฐบาลเยอรมันถือหุ้น 20% และได้เก้าอี้คณะกรรมการควบคุมดูแลและให้คำปรึกษา (supervisory board) 2 ตำแหน่ง ส่วนแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส 7,600 ล้านเหรียญสหรัฐ

รัฐบาลบางประเทศยังออกนโยบายที่ช่วยให้สายการบินแห่งชาติได้เปรียบสายการบินโลว์คอสต์ของเอกชนด้วย อาทิ สายการบินออสเตรียน แอร์ไลนส์ ที่นอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรีย 450 ล้านยูโรแล้ว รัฐบาลยังปรับเปลี่ยนภาษีการเดินทางทางอากาศ โดยเที่ยวบินส่วนใหญ่จะถูกเก็บภาษี 12 ยูโร แต่หากเป็นเที่ยวบินระยะทางน้อยกว่า 350 กิโลเมตรซึ่งเป็นระยะทางการให้บริการของสายการบินโลว์คอสต์ ภาษีจะสูงถึง 30 ยูโร

ส่วนสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ ได้ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เวียดนาม แอร์ไลนส์ขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 518 ล้านเหรียญสหรัฐ มาเลเซีย แอร์ไลนส์ ได้รับ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ การูดาของอินโดนีเซียได้รับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และการบินไทย กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น 54,000 ล้านบาท และเพิ่มทุนอีก 80,000 ล้านบาทก่อนจะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ในขณะที่สายการบินโลว์คอสต์และสายการบินที่ไม่ใช่สายการบินแห่งชาติหลายสายการบินไม่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจนต้องล้มละลาย ประเดิมด้วยฟลายบี สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปยุโรป แม้จะเพิ่งรอดจากการล้มละลายด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอังกฤษเมื่อเดือน ม.ค. แต่ในเดือน มี.ค.ก็เจอพิษ Covid-19 กระหน่ำซ้ำจนต้องยื่นล้มละลายในที่สุด

ต่อมาเป็นสายการบินเวอร์จิน ออสเตรเลีย ของริชาร์ด แบรนสัน มหาเศรษฐีชื่อดัง นับเป็นสายการบินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของออสเตรเลีย และสายการบินแรกในเอเชียแปซิฟิกที่ยื่นล้มละลาย เพราะรัฐบาลออสเตรเลียไม่อนุมัติเงินกู้ ส่วนสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก ของเจ้าของเดียวกันที่อยู่ในอังกฤษก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน

ขณะที่สายการบินโลว์คอสต์ฝั่งเอเชียก็ไม่ดีไปกว่ากัน โดยสายการบินนกสกู๊ตตัดสินใจยุติกิจการในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่วนสายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกของเอเชียอย่างแอร์ เอเชียของมาเลเซียขาดทุนในไตรมาสแรกของปีนี้ถึง 187 ล้านเหรียญสหรัฐ

สถานการณ์นี้ทำให้เอินส์ทแอนด์ยัง บริษัทผู้ตรวจบัญชีของแอร์ เอเชียระบุว่า อนาคตทางการเงินของแอร์ เอเชียน่ากังวลอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการบิน

ล่าสุด แอร์ เอเชียประกาศยุติการดำเนินกิจการในญี่ปุ่นแล้ว โดยพนักงานราว 300 คนจะถูกปลดภายในเดือน พ.ย.นี้ โดย จุน ไอดะ กรรมการฝ่ายปฏิบัติการของแอร์เอเชียแจแปนเผยว่า แม้จะพยายามลดต้นทุนแล้ว แต่สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า การดำเนินกิจการต่อในขณะที่ยังมองไม่เห็นความแน่นอนและชัดเจนเกี่ยวกับการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากสำหรับแอร์เอเชีย

สำหรับธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์ เงินหมุนเวียนคือตัวขับเคลื่อนธุรกิจ ยูเซฟ วาราดี ซีอีโอสายการบินโลว์คอสต์ วิซ แอร์ ของอิตาลีเผยว่า หากไม่นับรวมสายการบินที่มีผลประกอบการดีและมีเงินทุนสำรองเพียงพอรับเหตุไม่คาดฝัน ธุรกิจสายการบินส่วนใหญ่มักจะขาดเงินสดและขาดสภาพคล่อง

วาราดียังบอกอีกว่า ปัญหาสำคัญตอนนี้คือ เงินกำลังไหลออกจากกระเป๋าของสายการบินเหล่านี้โดยที่แทบจะไม่มีรายรับ การจอดเครื่องบินไว้เฉยๆ มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ ค่าบำรุงรักษา ค่าช่าง เงินเดือนพนักงาน และหากกลับมาบินอีกครั้งแน่นอนว่าต้องมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอีก หนำซ้ำยังไม่สามารถขายตั๋วได้เต็มความจุ และอาจต้องขายตั๋วในราคาถูกในช่วงแรกเพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของสายการบิน

ซีอีโอสายการบินวิซ แอร์มองว่า สายการบินส่วนใหญ่ไม่น่าจะรอดจากวิกฤตนี้ และราว 2 ใน 3 ของสายการบินทั่วโลกที่มีอยู่กว่า 3,000 สายการบินอาจล้มละลายภายใน 12 เดือน

ความลำบากของสายการบินโลว์คอสต์ก็คือ ส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดกันเอง เนื่องจากรัฐบาลไม่ให้เงินช่วยเหลือเหมือนกับสายการบินแห่งชาติ

และที่ดูเหมือนจะเป็นฝันร้ายของสายการบินเหล่านี้ก็คือ การฟื้นตัวของธุรกิจการบินจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ โดย IATA คาดว่า ความต้องการการเดินทางท่องเที่ยวจะไม่กลับสู่ภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดจนกว่าจะถึงปี 2024

ขณะที่ ไบรอัน เพียร์ซ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IATA เผยว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคท่ามกลางความกังวลว่าเศรษฐกิจจะถดถอยยิ่งดึงให้การฟื้นตัวช้าลงไปอีก

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าสายป่านของใครจะยาวพอขับเคลื่อนให้สายการบินอยู่รอดได้นานที่สุดเท่านั้น