posttoday

กลศึกของจีนหนีตายการปิดล้อมทางเทคโนโลยี

29 กันยายน 2563

จีนกำลังถูกสหรัฐและพันธมิตรปิดล้อมไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยี แต่จีนจะเอาตัวรอดจากกลศึกนี้ได้หรือไม่?

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐมีคำสั่งให้บริษัทในสหรัฐต้องยื่นขอใบอนุญาตในการส่งออกผลิตภัณฑ์บางอย่างไปยังผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของจีน คือ SMIC โดยอ้างว่ามีความเสี่ยงที่ชิปที่นำเข้ามาจากสหรัฐไปยังจีนนั้นจะถูกนำไปใช้ทางทหารในท้ายที่สุด

ปรากฎว่าอีกสองวันถัดมาซึ่งเป็นวันเปิดตลาดหุ้น (จันทร์ที่ 28 กันยายน 2020) หุ้นของ SMIC ดิ่งลงในทันที

ถึงแม้ว่าคำสั่งห้ามนี้จะไม่ร้ายแรงเท่ากับกรณีของ Huawei แต่มันเป็นการตัดกำลังจีนอย่างมาก และบั่นทอนความพยาามของตีนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชิปของจีน ซึ่งยังคงต้องพึ่งพาต่างประเทศอย่างมาก โดยเฉพาะส่วนประกอบจากสหรัฐ

ในสถานการณ์ที่จีนกับสหรัฐทำสงครามการค้าและสงครามเย็นแทบกระทันหันแบบนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จีนจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีชิปของตัวเองได้ทันหรืออย่างน้อยก็ลดการพึ่งพาต่างประเทศได้

แต้มต่อจึงอยู่ที่สหรัฐ

และจีนต้องรับประกันการอยู่รอดของตัวเองในด้านเทคโนโลยี แต่มีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้น คือยอมอ่อนข้อให้สหรัฐเพื่อขอซื้ออุปกรณ์ชิป กับสองคือยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง

โอกาสที่จีนจะยอมอ่อนข้อนั้นมีอยู่ แต่โอกาสที่สหรัฐจะยอมให้จีนนั้นมีน้อย ดูจากถ้อยคำที่ใช้ในแถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐที่บอกว่า บริษัทของจีนนั้นเป็น "unacceptable risk" (ความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้) กับ "military end use" (นำไปใช้ทางการทหารในท้ายที่สุด) แค่นี้ก็มีน้ำหนักพอแล้วที่สหรัฐจะไม่ยอม

ไม่ใช่ว่าสหรัฐจะไม่รู้ว่าจีนนำชิปไปใช้ทางการทหาร แต่รู้มานานหลายปีแล้ว และรู้ด้วยว่าจีนใช้สารพัดวิธีทั้งการส่งคนมาจารกรรมข้อมูลเทคโนโลยีหรือการทำสงครามแฮคเกอร์ เพียงแต่ก่อนหน้านี้ผลประโยชน์ทางการค้ามันค้ำคอ จนกระทั่งในระยะหลังสหรัฐถ่วงดูแล้วพบว่าผลประโยชน์ทางการค้ากับจีนมีน้ำหนักน้อยกว่าการที่จีนเป็นภัยคุกคามของสหรัฐ

อย่างที่ผู้เขียนเคยบอกไว้ว่า ในช่วงสงครามเย็น (ครั้งแรก) โซเวียตเป็นภัยคุกคามกับสหรัฐเฉพาะแต่เรื่องการเมืองการทหาร ดังนั้นวิธีการจะสู้กับโซเวียตจึงไม่ซับซ้อนและจบลงด้วยการที่โซเวียตแพ้ภัยตัวเองไปเพราะไม่มีเกราะคุ้มกันในเรื่องโลกาภิวัฒน์

ขณะที่ญี่ปุ่นเคยรุ่งเรืองมากในทศวรรษที่ 70 - 80 จนเป็นภัยคุกคามกับสหรัฐในด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ก็ไม่ซับซ้อนเช่นกันเพราะญี่ปุ่นมีแต่พลังทางเศรษฐกิจ และจัดการได้ด้วยข้อตกลงพลาซ่าแอคคอร์ด ทำให้ญี่ปุ่นเศรษฐกิจตกต่ำมาจนถึงบัดนี้

แต่จีนต่างกันมาก จีนเป็นทั้งภัยคุกคามทางการทหารและเศรษฐกิจ จีนปรับตัวเองจากคอมมิวนิสต์มาเป็นลุกครึ่งทุนนิยมและสร้างสังคมที่กึ่งปิดกึ่งเปิดที่โจมตีได้ยาก เป็นศัตรูแบบที่สหรัฐต้องกลัวมากที่สุด

แล้วจีนกลัวสหรัฐหรือไม่?

บทบรรณาธิการของ Global Times ซึ่งเป็นสื่อหัวสีของทางการจีนแสดงอาการไม่ครั่นคร้ามและโจมตีสหรัฐตรงๆ (ดูเหมือนว่าจีนจะเลิกโจมตีฝ่ายตรงข้ามโดยใช้สื่อทางการกว่านี้เช่น China Daily)

บทบรรณาธิการตอนหนึ่งบอกว่า "นี่คือสมรภูมิใหม่ของสหรัฐหลังจากการปิดล้อม Huawei อย่างเต็มที่เพื่อทำให้อุตสาหกรรมไฮเทคของจีนเป็นอัมพาต อุตสาหกรรมข้อมูลทั้งหมดถูกสร้างขึ้นจากรากฐานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และสหรัฐเป็นผู้ควบคุมมันอย่างมั่นคง ดังนั้นจึงสามารถควบคุมความได้เปรียบของสงครามเทคโนโลยีกับจีนได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสหรัฐใช้ข้อได้เปรียบนี้แบบผิดๆ ต่อไป"

แต่ Global Times บอกว่า "เรา (จีน) จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับ "การเดินทางไกลครั้งใหม่" เราถูกกำหนดให้ต้องเผชิญกับความยากลำบากในอนาคตข้างหน้า แต่เราไม่ต้องตกใจ สหรัฐไม่สามารถบดขยี้เราได้ สงครามเทคโนโลยีที่เปิดฉากกับจีนได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบที่ครอบคลุมในวงจำกัดเท่านั้น เป็นเวลากว่าสองปีครึ่งแล้วที่สหรัฐยิงปืนนัดแรกเข้าใส่ ZTE แต่ความเป็นจริงแสดงให้เราเห็นว่าไม่ว่าจะทำอะไรสหรัฐก็ไม่สามารถหยุดยั้งการพัฒนาของจีนได้"

"การเดินทัพทางไกลครั้งใหม่" หรือ "new long march" เป็นการพาดพิงถึงหน้าประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกศัตรูโจมตีจนต้องยกขบวนอพยพครั้งใหญ่ข้ามประเทศฟันฝ่าอุปสรรคนานาจนกระทั่งไปถึงฐานที่มั่นได้สำเร็จ เหตุการณ์นี้เรียกว่า "การเดินทัพทางไกล" หรือ long march

หมายความจีนไม่กลัวเพราะลำบากกว่านี้ก็เจอมาแล้ว

ไม่ต้องเอ่ยถึงช่วงเดินทัพทางไกล หลังจากที่คอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะแล้ว เหมาเจ๋อตงเห็นว่าจีนควรจะมีโครงการนิวเคลียร์และจรวดของตัวเอง จึงเริ่มโครงการพัฒนาโดยอาศัยความรู้จากนักวิทยาศาสตร์จีนที่ถูกเนรเทศจากสหรัฐและสหภาพโซเวียตก็ช่วยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ในฐานะมิตรสหายร่วมอุดมการณ์

แต่เมื่อสหภาพโซเวียตเกิดทะเลาะกับจีนจนตัดความสัมพันธ์และถอนตัวนักวิทยาศาสตร์ของตนออกไป จีนต้องเริ่มคลานต้วมเตี้ยมด้วยตัวเองเพราะขาดที่พึ่งทางเทคโนโลยี แต่สุดท้ายจีนก็สามารถต่อยอดทคโนโลยีของโซเวียตได้สำเร็จ มีทั้งระบิดนิวคเลียร์และขีปนาวุธของตัวเองที่ต่อมาต่อยอดเป็นโครงการอวกาศได้สำเร็จ

เราจะเห็นได้ว่าหากจีนมี "พิมพ์เขียว" แล้วการจะต่อยอดเป็นเรื่องไม่เกินความสามารถ ยิ่งในสถานการณ์กดดันด้วยแล้วจีนยิ่งต่อยอดเทคโนโลยีได้เร็วเหมือนช่วงที่โซเวียตแปรสภาพจากมิตรกลายเป็นศัตรูทำให้จีนถูกโดดเดี่ยว

แต่เบื้องหลังความสำเร็จของการต่อยอดยังเกิดจากการทำจารกรรมขนานใหญ่ด้วย ตั้งแต่การล้วงข้อมูลเรื่องระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐไปจนถึงข้อมูลการสร้างอาวุธแบบต่างๆ ไม่เฉพาะสหรัฐเท่านั้นจีนยังล้วงเพื่อนบ้านอย่างรัสเซียด้วย

กับการล้วงข้อมูลนวัตกรรมของภาคธุรกิจจากจึงเป็นเรื่องเล็กน้อย โดยเป้าหมายสำคัญของจีนคือไต้หวัน ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นหลักในการล้วงข้อมูลด้านเทคโนโลยีวงจรรวม

ในทางหนึ่งรัฐบาลไต้หวันพยายามปิดกั้นไม่ให้บริษัทชิป-เซมิคอนดักเตอร์ของตนไปลงทุนที่จีนเพื่อทำการปิดล้อมจีนและช่วยเหลือสหรัฐ แต่บางบริษัทก็มีท่าทีเหยียบเรือสองแคม เช่น TSMC ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของไต้หวัน ที่ในทางหนึ่งก็ไปเปิดโรงงานที่แอริโซนาในสหรัฐ

แต่ทางหนึ่ง บอสใหญ่ของ TSMC ยังบอกเสียดายที่สหรัฐกับจีนทำสงครามเย็นกัน เพราะทำลายเส้นทางการแลกเปลี่ยนไอเดียในการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะเป็นเวลาถึง 40 ปีที่แล้ว (นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศ) ที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์จากการค้าเสรีและโลกที่ปลอดจากความขัดแย้ง

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ไม่มีทางที่ไต้หวันจะยอมปล่อยเทคโนโลยีชิปไปอยู่ในมือจีน แต่จีนก็เข้าทำทุกวิถีทางจนได้ โดยเมื่อเดือนสิงหาคมมีครายงานข่าวว่า โครงการผลิตชิปของรัฐบาลจีนกำลังจะจ้างอดีตวิศวกรและผู้จัดการของ TSMC กว่าร้อยคนมาร่วมโครงการด้วย

เป็นไปได้ไหมว่าจีนได้กลิ่นเรื่องสหรัฐกับไต้หวันจะปิดทางตีจีนเรื่องชิป จึงชิงดึงตัวทีมงานเก่าจากไต้หวันมาร่วมงานก่อน?

แต่จีนอาจจะทำมากวก่าแค่ดึงตัวหัวกะทิมาร่วมงานด้วย Wired Magazine รายงานเมื่อเดือนสิงหาคมว่า แฮ็คเกอร์จีนได้ล้วงข้อมูลของธุรกิจเซมินคอนดักเตอร์ของไต้หวันและขโมยเอาพิมพ์เขียวการออกแบบและรหัสต้นฉบับชิป

เรื่องนี้บริษัท CyCraft ในไต้หวันรู้มาตั้งแต่เดือนเมษายน แต่ระบุตัวตนได้ว่าเป็นแฮคเกอร์จีนในเดือนสิงหาคม แต่ไม่ใช่แค่ CyCraft เพราะยังมีบริษัทชิปอีก 7 แห่งหนึ่งในเมืองซินจู๋ของไต้หวันที่ถูกเล็งเป้าหมายด้วย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไต้หวันถูกล้วงความลับเรื่องชิป เมื่อปี 2018 The Wall Street Journal ได้รายงานตีแผ่นการทำจารกรรมของพนักงานและวิศวกรในบริษัทเทคโนโลยีของไต้หวันแล้วนำไปมอบให้กับธุรกิจของจีนที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ

กรณีเหล่านี้เรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจีนลงมือทำจริงหรือไม่ แต่ในการทำสงครามย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการทำจารกรรม ซุนอู่ (ซุนวู) นักพิชัยสงครามผู้ยิ่งใหญ่ของจีนและของโลกยังกล่าวว่า การจารกรรมคือตัวชี้ขาดผลลัพธ์การรบ

พิชัยสงครามซุนอู่กล่าวว่า "มีแต่ผู้ปกครองผู้ปราดเปรื่องและขุนพลผู้ปรีชาเท่านั้นที่จะใช้หน่วยสืบราชการลับสูงสุดของกองทัพเพื่อจุดประสงค์ในการสอดแนม และจึงได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม สายลับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในสงคราม เพราะความสามารถของกองทัพในการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับสายลับ"

นี่คือรูปแบบของสงครามเทคโนโลยีที่จีนกำลังทำอยู่

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Noel CELIS / AFP