posttoday

แม่น้ำโขงคือจุดอ่อนยิ่งกว่าทะเลจีนใต้

18 กันยายน 2563

การแข่งกันขยายอิทธิพลระหว่างจีนกับสหรัฐลามมาถึงสมรภูมิแห่งใหม่อย่างแม่น้ำโขงแล้ว และมีแนวโน้มว่าจีนอาจพ่ายแพ้ในสมรภูมิแห่งนี้

เมื่อเร็วๆ นี้ ไมค์ พอมเพโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐกล่าวหาว่าการควบคุมแม่น้ำโขงของจีนเป็นการซ้ำเติมปัญหาความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงช่วงท้ายน้ำ พร้อมย้ำว่าสหรัฐพร้อมจะอยู่เคียงข้างกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจะจัดสรรเงินช่วยเหลือ 153 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4,769 ล้านบาทให้กับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งได้แก่ เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามเพื่อพัฒนาภูมิภาคร่วมกัน

บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเจ้าหน้าที่รัฐบาลในภูมิภาคต่างมองตรงกันว่า ขณะนี้แม่น้ำโขงได้กลายเป็นสมรภูมิความขัดแย้งแห่งใหม่ระหว่างสหรัฐกับจีนเรียบร้อยแล้ว

เมื่อสองมหาอำนาจสู้รบปรบมือกัน แล้วประเทศอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศท้ายน้ำอย่างเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมทั้งไทยจะรับมือสงครามนี้อย่างไร

บิลาฮารี คอสิคาน อดีตนักการทูตชาวสิงคโปร์แนะนำว่า ควรแก้ปัญหาความแห้งแล้งในแม่น้ำโขงผ่านประเทศอาเซียนเหมือนที่แก้ปัญหาในทะเลจีนใต้

อดีตนักการทูตชาวสิงคโปร์บอกว่า ประเทศอาเซียนที่เดือดร้อนจากภาวะความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงจะมีอำนาจต่อรองมากกว่าหากหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพูดในเวทีพหุภาคีอย่างเวทีอาเซียน แทนที่แต่ละประเทศจะต่างคนต่างเจรจากับจีน

แต่บิลาฮารี บอกว่า ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นประเทศอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม และไทย ต้องวางความขัดแย้งไว้ก่อนแล้วสร้างมุมมองร่วมกันเกี่ยวกับวิกฤตน้ำโขงที่มีมายาวนานให้ได้เสียก่อน

พูดอีกอย่างก็คือ ประเทศอาเซียนที่เคยอยู่แบบตัวใครตัวมัน ต้องหันมาสามัคคีกันเพื่อสู้กับมหาอำนาจอย่างจีน

การตอบโต้กันไปมาระหว่างจีนและสหรัฐเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และข้อกล่าวหาของสหรัฐล่าสุดที่บอกว่าจีนกักเก็บน้ำในแม่น้ำโขงไว้เพื่อประโยชน์ของตัวเองผ่านการสร้างเขื่อน 11 แห่งบนตอนบนของแม่น้ำโขงที่จีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง ทำให้คอสิคานเปรียบเทียบกรณีนี้กับความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ว่าเป็นโรงละครแห่งใหม่ของการแข่งขันกันของมหาอำนาจ

บิลาฮารีเผยว่า ในขณะที่วิกฤตแม่น้ำโขงมักจะถูกพูดถึงในแง่ของ “สารัตถประโยชน์” ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม แต่จริงๆ แล้วปัญหาแม่น้ำโขงสร้างความท้าทายด้านยุทธศาสตร์ให้กับประเทศที่ได้รับผลกระทบมากกว่าที่คิด

บิลาฮารีบอกว่าต้องยกระดับให้ประเด็นปัญหาในแม่น้ำโขงเป็นประเด็นระดับโลก

อดีตนักการทูตชาวสิงคโปร์ยกตัวอย่างกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการยกระดับให้ปัญหาแม่น้ำโขงเป็นประเด็นระดับโลกจะเป็นประโยชน์กับประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างไร

บิลาฮารีเผยว่า สำหรับข้อพิพาททะเลจีนใต้ การหารือภายใต้กรอบอาเซียนได้ข้อสรุปว่า ข้อเรียกร้องหรือสิทธิพิเศษของประเทศอาเซียนต้องมาก่อนคำสั่งทางกฎหมาย ส่วนจีนก็ทำท่าว่าจะไม่ยอมสละสิทธิเหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้ ทำให้สถานการณ์ถึงทางตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนไม่สามารถห้ามสหรัฐหรือพันธมิตรปฏิบัติการในทะเลจีนใต้โดยที่ไม่ต้องเสี่ยงก่อสงครามที่จีนไม่มีทางชนะ

ขณะที่การสร้างเขื่อนกั้นตอนบนของแม่น้ำโขงทำให้สถานการณ์ในแม่น้ำโขงไม่สมดุล

อดีตนักการทูตแนะนำให้ประเทศท้ายน้ำโขงทั้ง 5 ซึ่งได้แก่ กัมพูชา เมียนมา ลาว เวียดนาม และไทย เป็นแกนนำในการนำปัญหาแม่น้ำโขงสู่ที่ประชุมอาเซียนด้วยการบรรจุในระเบียบวาระการประชุมครั้งต่อไปที่ประเทศท้ายน้ำเป็นประธานการประชุม

“หากประเทศชายฝั่งแม่น้ำโขงเป็นแกนนำจะสามารถขอความช่วยเหลือจากประเทศอาเซียนที่อยู่ติดทะเล ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเวีย หรือประเทศอื่น” บิลาฮารีกล่าว

อย่างไรก็ดี บิลาฮารียอมรับว่า ประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 5 ยังลังเลที่จะลากกลุ่มอาเซียนเข้ามาพัวพันกับปัญหาเฉพาะของแม่น้ำโขงนี้ ในขณะนี้ทั้ง 5 ประเทศจึงรับมือกับปัญหาผ่านกลุ่มอนุภูมิภาคเท่านั้น อาทิ กลุ่มความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (LMC) ที่นำโดยจีน ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (LMI) ที่สหรัฐเป็นแกนนำ

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ข้อพิพาททะเลจีนใต้ถือเป็นศูนย์กลางของอาเซียนซึ่งขับเคลื่อนโดยประเทศที่มีอาณาเขตทางทะเลที่อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้

เมื่อถูกถามว่าประเทศอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาแม่น้ำโขงจะรับมือกับจีนที่แข็งแกร่งอย่างไร บิลาฮารีตอบว่า ประเทศอาเซียนควรพยายามระมัดระวังไม่ให้ “อิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญ” กลายเป็น “อิทธิพลผูกขาด” ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือ ใช้การทูตรูปแบบอื่นร่วมกับการปฏิสัมพันธ์แบบทวิภาคี

แม่น้ำโขงตอนล่างที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนของจีนเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงกว่า 60 ล้านชีวิตใน 5 ประเทศที่ไหลผ่าน เมื่อเทียบกับพื้นที่พิพาททางทะเลจีนใต้แล้ว แม่น้ำโขงมีความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนมากกว่า ผลกระทบจึงมีมากกว่าการแย่งชิงพื้นที่ในทะเลจีนใต้

เมื่อปีที่แล้วน้ำในแม่น้ำโขงแห้งแล้งที่สุดในรอบกว่า 50 ปีจนสันดอนทรายโผล่ ทั้งยังน้ำยังเปลี่ยนเป็นสีฟ้าครามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เนื่องจากตะกอนดินถูกกักไว้เหนือเขื่อน

ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องกับผลวิจัยของ Eyes on Earth บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยที่เชี่ยวชาญเรื่องน้ำในสหรัฐที่พบว่า จีนกักเก็บน้ำไว้ในเขื่อนกว่า 47,000 ล้านคิวบิกเมตร ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำโขงช่วงท้ายน้ำลดลง

ทว่า ทางการจีนโต้กลับว่า เขื่อนในจีนจะช่วยลดความแห้งแล้งของแม่น้ำโขง แต่ที่ปีที่แล้วมีน้ำน้อยเป็นเพราะต้นน้ำโขงมีฝนตกน้อย และพื้นที่มณฑลยูนนานก็ประสบภาวะแห้งแล้งเช่นกัน

แต่จากภาพถ่ายทางดาวเทียมของ Eyes on Earth ในมณฑลยูนนานซึ่งแม่น้ำโขงตอนบนไหลผ่าน กลับพบว่าในปี 2019 พื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณฝนและน้ำที่ละลายจากหิมะสูงกว่าระดับปกติในช่วงฤดูฝน

ผิดกับระดับน้ำโขงบริเวณชายแดนไทย-ลาวที่ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็นถึง 3 เมตร นั่นหมายความว่า จีนไม่ปล่อยน้ำลงมาแม้ว่าประเทศท้ายน้ำจะต้องเผชิญกับความแห้งแล้งก็ตาม

ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรมและประมงของชาวบ้าน ซึ่งเฉพาะการจับปลาในแม่น้ำโขงอย่างเดียวมีสัดส่วนถึง 20% ของปลาน้ำจืดที่จับได้ทั่วโลก

เพียงเท่านี้ก็สร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลในอาเซียน ดังนั้นหากจีนยังใช้ความเป็นประเทศต้นน้ำโขงสร้างอิทธิพลเหนือประเทศท้ายน้ำอยู่เช่นนี้ สุดท้ายอาจเป็นการบีบบังคับให้ประเทศเล็กๆ รวมทั้งไทยซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง หันมาจับมือกันต้านอิทธิพลจีนจนกลายเป็นศัตรูกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้จีนอาจไม่เหลือพันธมิตรในภูมิภาคอาเซียนเลย เพราะนอกจากจะเป็นศัตรูกับประเทศลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังขัดแย้งกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ในกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ด้วย