posttoday

สหรัฐสนับสนุนรัฐประหารในไทยอย่างไร?

16 กันยายน 2563

มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าสหรัฐมีส่วนพัวพันกับการทำรัฐประหารในหลายประเทศ เฉพาะในยุคสงครามเย็นสหรัฐเข้าไปมีบทบาทในการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้ง

1. เอาเฉพาะแค่เพื่อนบ้านของไทยก็เช่น การสนับสนุนจอมพล ลอน นอล ก่อการรัฐประหารล้มอำนาจของเจ้าสีหนุในปี 1969 แล้วสถาปนาระบอบสาธารณรัฐ มีหลักฐานว่าลอน นอลเสนอแนวคิดเรื่องการก่อรัฐประหารกับหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐเพื่อขอความยินยอมจากรัฐบาลสหรัฐขอการสนับสนุนทางทหาร เมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้วรัฐบาลลอน นอล ไฟเขียวให้สหรัฐทิ้งระเบิดในกัมพูชาเพื่อตัดเส้นทางของพวกเวียดนามเหนือที่อ้อมเข้ามาใช้พื้นที่แทรกซึมเข้าไปยังเวียดนามใต้

2. ในปี 1965 CIA สนับสนุนนายทหารหนุ่มชื่อซูฮาร์โตให้ทำรัฐประหารโค่นล้มประธานาธิบดีซูการ์โน หลังจากยึดอำนาจได้แล้วซูฮาร์โตกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดนีเซียอย่างขนานใหญ่จนกลายเป็นการสังหารหมู่ที่มีคนตายถึง 500,000 - 1,000,000 คน ทูตสหรัฐยังกระตุ้นให้รัฐบาลทหารจัดการฝ่ายตรงข้ามด้วยวิธีการรุนแรง และมีเอกสารยืนยันว่ารัฐบาลสหรัฐรับรู้และช่วยเหลือการสังหารหมู่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐเองในช่วงสงครามเย็น

3. นี่เป็นเพียงตัวอย่างแค่เล็กน้อยมากๆ เท่านั้นกับการที่สหรัฐเข้าไปบงการชะตากรรมของประเทศอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง คำถามก็คือสหรัฐเข้ามาก้าวก่ายไทยมากแค่ไหนในช่วงสงครามเย็น? เพราะช่วงสงครามเย็นเป็นช่วงที่ไทยทำรัฐประหารถี่ที่สุดช่วงหนึ่ง โดยที่ไทยยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ "โลกเสรี" ในการต้านทานกับฝ่ายคอมมิวนิสต์

4. บันทึกช่วยจำจากเสนาธิการร่วมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โรเบิร์ท แมคนามารา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2507 ว่าด้วยโอกาสที่จะมีการก่อรัฐประหารในไทย ซึ่งในเวลานั้นนายกรัฐมนตรีของไทยคือจอมพล ถนอม กิตติขจร และสงครามเย็นกำลังคุกรุ่น โดยบันทึกบอกว่าแม้ไทยจะทำรัฐประหารจนเป็นเรื่องปกติ แต่ "ในแง่ของสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน อาจสร้างปัญหาทางการเมืองที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสถานะทางการของสหรัฐในพื้นที่นั้นอย่างมากที่สุด"

5. บันทึกชี้ว่า "ลักษณะของรัฐบาลไทยที่อาจเกิดขึ้นจากการรัฐประหารควรจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนสหรัฐ ไม่เช่นนั้นสถานะของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเสียหายอย่างหนัก" และ "ไม่ว่าลักษณะของการรัฐประหารจะเป็นอย่างไร สหรัฐควรดำเนินการเพื่อรับประกันความต่อเนื่องของสถานะที่เป็นอยู่ ตราบเท่าที่กำลังทหารและปฏิบัติการของสหรัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง"

6. ดังนั้นเสนาธิการร่วมจึงแนะนำกับแมคนามาราว่า ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีจุดยืดต่อต้านคอมมิวนิสต์และโปรสหรัฐ ประเทศไทยที่มีสเถียรภาพมีความสำคัญยิ่งยวดต่อสถานะทางทหารของสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากมีผู้แจ้งกับสหรัฐเรื่องการรัฐประหาร สหรัฐควรสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทำเช่นนั้นด้วยวิธีการที่เหมาะสม

7. แต่ทว่า "หากมีการรัฐประหารที่สนับสนุนตะวันตก สหรัฐควรดำเนินการในทันทีเพื่อรับประกันการยืนยันสิทธิในการปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐในประเทศไทยและยังคงให้ความร่วมมือและการสนับสนุนทางทหารของไทยต่อไป" หมายความว่าแม้จะมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น แต่หากรัฐบาลใหม่โปรสหรัฐ สหรัฐก็จะสนับสนุน

8. ในกรณีที่รัฐบาลใหม่มีจุดยืนต่างจากสหรัฐ เสนาธิการร่วมแนะนำว่า "หากกลุ่มสนับสนุนแนวคิดไม่ฝักฝ่ายใดหรือฝ่ายโปรคอมมิวนิสต์ก่อรัฐประหารเกิดขึ้น สหรัฐควรพยายามคืนอำนาจให้รัฐบาลเดิมหรือตัวแทนที่ยอมรับได้โดยให้การสนับสนุนกลุ่มนั้นๆ หรือกลุ่มต่อต้านรัฐประหารที่คาดว่าจะเกิดขึ้นซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว"

9. "ในกรณีที่มาตรการดังกล่าวล้มเหลวในการต่อต้านการทำรัฐประหารโดยฝ่ายโปรคอมมิวนิสต์ สหรัฐควรเตรียมพร้อมที่จะดำเนินการทางทหารที่เหมาะสมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของสหรัฐในพื้นที่และ/หรือเพื่อฟื้นฟูรัฐบาลไทยที่สนับสนุนสหรัฐ ให้กลับมามีอำนาจ"

10. นี่คือท่าทีที่สหรัฐจะใช้กับไทย หากรัฐประหารในไทยไม่สมประโยชน์กับจุดยืนของสหรัฐ เช่นมีรัฐบาลที่เอนเอียงไปทางฝ่ายตรงข้ามของสหรัฐ หรือแม้แต่รัฐบาลที่วางตัวเป็นกลางก็เอาไว้ไม่ได้ ซึ่งกรณีหลังเราจะเห็นการสนับสนุนของสหรัฐเพื่อโค่นล้มรัฐบาลไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในกัมพูชาและอินโดนีเซียอย่างที่กล่าวไปข้างต้น

11. แต่ในช่วงระยะกลางของสงครามเย็น ท่าทีของสหรัฐต่อการทำรัฐประหารของไทยเปลี่ยนไปโดยพยายามรักษาความเป็นกลางมากขึ้นเพราะการเมืองในไทยมีพัฒนาการไปในทางเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กอปรกับในช่วงนั้นสหรัฐพยายามลดบทบาทลงในสงครามเวียดนามจนกระทั่งถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามในปี 2518

12. จากเอกสารวันที่ 9 เมษายน 2517 หรือหลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มาได้ประมาณ 6 เดือนบรรยากกาศในไทยก็เริ่มคุกรุ่นขึ้น แม้จะเพิ่งมีการโค่นล้มจอมพลถนมและพลพรรค "สามทรราช" มาได้หมาดๆ แต่กลุ่มผู้มีอำนาจเริ่มที่จะไม่พอใจขบวนการนักศึกษามากขึ้น จนมีข่าวว่าอาจจะมีการทำรัฐประหาร ทาง CIA ได้เตรียมพร้อมสถานการณ์โดยหัวหน้าฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ส่งบันทึกแนะนำมายังผู้อำนวยการ CIA

13. ข้อแนะนำระบุว่า "เรา (รัฐบาลสหรัฐ) ควรตระหนักว่าเรามีความสนใจที่จะสานต่อความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเกือบทุกรัฐบาลที่อาจจะตั้งขึ้นโดยการรัฐประหาร" หากดูเผินๆ เหมือนกับว่ารัฐบาลสหรัฐ "ยอมรับ" รัฐบาลจากการทำรัฐประหาร

14. อย่างไรก็ตามบันทึกแนะนำว่า "หากผู้วางแผนรัฐประหารบอกเราล่วงหน้าถึงแผนการของพวกเขาและขอการสนับสนุนจากเราเราควรระงับการสนับสนุนดังกล่าว [ข้อความไม่เปิดเผย]" ซึ่งจากข้อความนี้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐอาจจะยอมรับรัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่ไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยทำให้การยึดอำนาจสำเร็จ

15. และสหรัฐยังไม่กล้าเข้ามาแทรกแซงแผนการก่อรัฐประหารของไทยโดยบอกว่า "หากเราแทรกแซงในทางใดทางหนึ่งเพื่อป้องกันการรัฐประหาร แล้วการรัฐประหารทำสำเร็จ ก็รังแต่จะทำให้ความบาดหมางต่อความสัมพันธ์ในอนาคตของเรากับรัฐบาลไทยชุดใหม่"

16. โดยสรุปก็คือหากเกิดรัฐประหารในไทยใดๆ ก็ตาม "สหรัฐควรรักษาความเป็นส่วนตัวและหลีกเลี่ยงจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ควรดำเนินโครงการความช่วยเหลือและการติดต่อกับรัฐบาลต่อไปในระดับปัจจุบัน" และ "เมื่อการรัฐประหารประสบความสำเร็จและความวุ่นวายได้สงบลงแล้วสหรัฐควรยอมรับสถานการณ์นี้อย่างชัดเจน"

17. เอกสารเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยนิดเท่านั้นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐในช่วงที่สถานการณ์โลกหมิ่นเหม่ ยังมีข้อมูลอีกมากที่ยังไม่ได้เปิดเผย หรือเปิดเผยแล้วมีสถานะผิดกฎหมายเช่นเอกสารของ Wikileaks ซึ่งกล่าวถึงการทำรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2549 เอาไว้ แต่โดยธรรมชาติของมันยังเป็นเอกสารลับของรัฐบาลอยู่

18. อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์ของบทความนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงท่าทีของสหรัฐต่อไทยในช่วงสงครามเย็น และในเวลานี้สงครามเย็นครั้งใหญ่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ไทยตกอยู่ท่ามกลางการแย่งชิงผลประโยชน์ระหว่างสหรัฐและจีน เหมือนเมื่อครั้งสงครามเย็น (ครั้งแรก) ยกเว้นแค่ว่าสงครามเย็นครั้งนี้ไม่ใช่การต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ (เสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์) แต่เป็นการแย่งชิงอิทธิพลกัน

19. จากเอกสารเหล่านี้ บางทีเราอาจนำมาใช้เป็นบทเรียนได้ว่าในสถานการณ์โลกที่หมิ่นเหม่อีกครั้ง หากประเทศไทยเกิดสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงขึ้นมา จะเป็นโอกาสให้มือที่สามเข้ามาแทรกแซงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง บรรดา "ตัวละครทางการเมือง" ต่างๆ ในเมืองไทย จะถูกชักใยและสนับสนุนโดยต่างชาติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของต่างชาติ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของไทย

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน