posttoday

โควิดทำพิษเศรษฐกิจเอเชียหดตัวครั้งแรกในรอบ 58 ปี

15 กันยายน 2563

เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียหดตัวครั้งแรกในรอบ 58 ปี คาดปีหน้าก็ยังเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนการแพร่ระบาดของ Covid-19 แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวก็ตาม  

ยาซุยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) เผยว่า ปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีของเอเชียจะหดตัว 0.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มิ.ย.ว่าจะขยายตัว 0.1% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1962

ซาวาดะยังเผยอีกว่า “ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ยังคงรุนแรง เนื่องจากการระบาดระลอกแรกที่ยืดเยื้อหรือการระบาดในระลอกที่ 2 อาจทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่เชื้ออีกครั้ง” การหดตัวของเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียเกิดขึ้นเป็นวงกว้างกว่าวิกฤตครั้งก่อนหน้า โดยครั้งนี้เศรษฐกิจ 3 ไตรมาสของปีนี้มีแนวโน้มหดตัว

ขณะที่จีนสวนกระแสของภูมิภาค โดย ADB คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะโต 1.8% ในปีนี้ เนื่องจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งตรงกับที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ส่วนในปี 2021 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 7.7% จากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 7.4%

ส่วนอินเดียซึ่งมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลกระทบกับการใช้จ่ายอย่างรุนแรง ADB ประมาณการว่า จีดีพีจะหดตัวถึง 9% ฟิลิปปินส์หดตัว 7.3% และไทยหดตัว 8%

ทั้งนี้ การหดตัวนี้ ADB พิจารณารวมถึงการแพร่ระบาดของ Covid-19 ร้ายแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ตอนแรก และตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ภายในปีนี้

ซาวาดะยังกล่าวอีกว่า เงินกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่สามารถบรรเทาผลกระทบและเป็นฐานสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

ADB คาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา ซึ่งไม่นับรวมประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตที่ 6.8% ในปี 2021 แต่ถึงอย่างนั้นการขยายตัวของเศรษฐกิจก็ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาด ซึ่งบ่งบอกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่

“การควบคุมไวรัสมีส่วนสำคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ และระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นของการแพร่ระบาดยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำหรับปีนี้และปีหน้า” ซาวาดะกล่าว นอกจากนี้ ความตึงเครียดด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมทั้งภาวะเปราะบางทางการเงินก็เป็นตัวแปรสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย