posttoday

ประเทศถังแตกเป็นอย่างไร?

15 กันยายน 2563

การล้มละลายของประเทศหนึ่งเป็นแบบไหน และอาการถังแตกต้องแก้อย่างไร และเราถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง?

1. อาการ "ถังแตก" อาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ในบางประเทศบางคนอาจเข้าใจว่าการที่รัฐบาลหาเงินมาใช้ไม่ทันก็คืออาการของถังแตก แต่ถ้าเงินสดในมือไม่พอแล้วถ้าเงินเก็บ (เช่นทุนสำรองระหว่างประเทศ) มีอยู่มากมายจะถือว่าถังแตกได้หรือไม่

2. โดยทั่วไปเวลาที่ประเทศหนึ่งอยู่ในภาวะถังแตกหรือล้มละลาย คือการที่ประเทศนั้นๆ ชำระหนี้ไม่ไหวแล้ว (sovereign default) จนเกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ เมื่อถึงจุดนี้ประเทศนั้นๆ จะขอความช่วยเหลือลูกเดียวจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น IMF

3. ประเทศไทยเคยผ่านจุดนี้มาแล้วเมื่อครั้งวิกฤตการเงินเอเชีย "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เมื่อปี 2540 และต้องผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ลากยาวไปจนถึงปี 2550 ด้วยค่าเงินบาทที่ดิ่งลงฉับพลันทำให้การชำระหนี้ต่างประเทศมีมูลค่ามหาศาลในชั่วข้ามคืนจนจ่ายกันไม่ไหว

4. วิกฤตต้ำยำกุ้งมีพื้นเพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฟองสบู่ของไทยที่ปั่นกนขึ้นมาตั้งแต่ยุคของพล. อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่มาแตกโพละเมื่อเงินบาทถูกโจมตีจากนักเก็งกำไรเมื่อวันที่ 14 - 15 พฤษภาคม 2540 รัฐบาลของพล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธถูกบีบให้ต้องลอยค่าเงินบาท

5. สาเหตุที่ต้องลอยค่าเงินบาทเพราะในกระเป๋าเงินของเรามีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอที่จะนำเงินบาทไปตรึงกับเงินดอลลาร์ ผลก็คือเมื่อลอยค่าเงินแล้วเงินบาทดิ่งลงอย่างต่อเนื่องจนทำให้การชำระหนี้ต่างประเทศแทบเป็นไปไม่ได้ เช่น จากหนี้หนึ่งล้านบาทกลายเป็นหลายสิบล้านบาทเพราะค่าเงินลอยละลิ่ว

6. เมื่อประเทศหนึ่งตกอยู่ในสภาพนี้แล้วเศรษฐกิจย่อมมีปัญหา การตกงานขนานใหญ่จะเกิดขึ้น เมื่อคนตกงาน รัฐก็ไม่สามารถเก็บภาษีมาเป็นรายได้เแผ่นดิน หากไม่กระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวประเทศก็จะจมปลักอยู่อย่างนั้น แต่โชคดีที่เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2543 ทำให้มีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น

7. นอกจากปัญหาแบบวิกฤตต้มยำกุ้งแล้ว ประเทศหนึ่งๆ จะถังแตกได้เพราะใช้จ่ายมือเติบมาตลอดหลายปีด้วยการกู้หนี้ยืมสินมาพัฒนาประเทศหรือจ่ายเงินเพื่อการบริหารประเทศ แต่หากเศรษฐกิจแย่ก็จะเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า ทำให้ชำระหนี้ไม่ได้กลายเป็นประเทศล้มละลายไป

8. ในยุคก่อน หากประเทศหนึ่งผิดนัดชำระนี้อาจทำให้ประเทศเจ้าหน้าต้องใช้กำลังทหารบีบบังคับ (ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นไปได้อยู่) แต่วิธี "ศิวิไลซ์" กว่าคือการเจรจาต่อรอง ประเทศล้มละลายไม่อาจใช้คำว่าถังแตกแล้วเลี่ยงไม่จ่ายเงินไม่ได้ แต่ประเทศเจ้าหนี้ก็จะไปยึดประเทศก็ไม่ได้อีก

9. วิธีการก็คือการ "เล็มผม" (Haircut) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางการเงินหมายถึงการที่ลูกหนี้จ่ายคืนให้เจ้าหนี้ด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยที่น้อยกว่าราคาพาร์เพราะความสามารถมีแค่นั้น เช่นกรณีการล้มละลายของกรีซเจ้าหนี้พันธบัตรของกรีซได้เงินคืนแค่ 50%

10. ดังนั้นประเทศถังแตกจึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องสิ้นชาติหรือต้องขายแผ่นดินกิน (แม้จะมีตัวอย่างของการขายแผ่นดินเพื่อใช้หนี้มาแล้ว เช่น กรณีของรัสเซียที่ขายอะแลสก้าเอาเงินมาใช้หนี้สงครามไครเมีย) วิธีการแก้ปัญหาถังแตกที่ตรงจุดที่สุดคือทำให้รัฐมีเงินให้มากที่สุดและเร็วที่สุด

11. วิธีหาเงินมี 2 แบบคือกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนมีงานและมีเงินและรัฐมีรายได้เข้ามาหรือกระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อเก็บเงินตราต่างประเทศ แต่วิธีการนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้น ดังนั้น ประเทศที่ถังแตกจึงต้องใช้วิธีที่สอง คือขอเงินช่วยเหลือจากองค์กรอย่าง IMF

12. แต่การขอเงินจาก IMF มีเงื่อนไขพ่วงมาด้วย ในกรณีของไทยคือการบีบให้ไทยต้องเปิดเสรีภาคการเงินมากขึ้นแน่นอนว่าทำให้ความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนไทยออกไปอยู่ในมือประเทศที่ "ทุนหนา" มากกว่า อีกเงื่อนไขยอดฮิตคือการบีบให้รัฐบาลต้องลดการใช้งบประมาณลง

13. การลดงบประมาณหรือการรัดเข็มขัดทางการคลัง (austerity) ทำให้รัฐต้องตัดรายจ่ายที่จำเป็นต่อประชาชน ผลที่ตามมาคือประชาชนไม่พอใจจนเกิดการก่อหวอดต่อต้านทั้งรัฐทั้งคนให้เงินรัฐ ดังนั้นการขอเงินโดยมีเงื่อนไขแม้จะช่วยประเทศได้ แต่รัฐบาลนั้นมักจะอยู่ต่อไม่ได้

14. แล้วไทยตอนนี้ถังแตกหรือไม่? สถานการณ์ของประเทศไทยในตอนนี้คือมีรายได้ลดลงด้วยเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่นโยบายการคลังที่ไม่ได้ผลไปจนถึงเศรษฐกิจที่ซบเซา แต่ยังดีที่ทุนสำรองอยู่ในระดับที่สูงมากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก

15. อันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิตของไทยโดย Fitch ยังอยู่ที่ BBB+ หรือมีสเถียรภาพ (Stable) ส่วนการจัดความน่าเชื่อถือโดย Moody’s เมื่อปีที่แล้วยกระดับไทยจากระดับ Stable ให้อยู่ที่ Positive

16. การเก็บภาษีไม่เข้าเป้าของรัฐบาลจะนำไปสู่ภาวะถังแตกหรือไม่? ตามปกติแล้วถ้าเงินไม่พอคลังก็ต้องกู้มาผ่านการขายพันธบัตร ซึ่งการกู้เงินนั้นเป็นเรื่องปกติของการบริหารการเงิน แต่การกู้นั้นอาจนำไปสู่ภาวะล้มละลายได้เหมือนหลายประเทศที่กล่าวไว้ข้างต้นเพราะประเทศเหล่านั้นกู้เงินมาใช้แล้วผลตอบแทนไม่ดีเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ 

17. แล้วไทยจะมีจุดจบแบบนั้นหรือไม่? ต้องตอบว่ารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการเก็บรายได้จริงๆ และมีมาหลายปีแล้ว แต่โชคดีที่หากย้อนกลับไปที่การประเมินโดย Moody’s ที่บอกว่าการลงทุนโดยภาครัฐในด้านสาธารณูปโภคโดยเฉพาะกับ EEC อาจจะช่วยยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจของไทย

18. หมายความว่าตราบใดที่รัฐบาลต้องกู้ ถ้ากู้มาแล้วลงทุนอย่างมีความหวังว่าจะได้กำไรกลับคืนมาเหมือนที่ Moody’s ก็เป็นสิ่งสมควรกู้และไม่ว่าคลังจะมีเงินมากหรือน้อย หากอนาคตของประเทศมีแวว ตราบนั้นโอกาสจะถังแตกจนล้มละลายก็มีน้อยเพราะเครดิตยังดีอยู่

19. อย่างไรก็ตาม การประเมินเครดิตของสถาบันต่างๆ ทำขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 และก่อน "วิกฤตกระทรวงการคลัง" ของรัฐบาลไทย ในช่วงสามสี่ปีนี้รายได้ของประเทศจะหายไปอย่างมหาศาลเพราะการท่องเที่ยวสะดุด เศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมานานจะเริ่มรุนแรงขึ้น ทำให้การเก็บรายได้จากภาษียิ่งไม่เข้าเป้า โอกาสที่จะใช้หนี้ที่กู้มาจึงยากขึ้น 

20. หากไทยยังไม่ถึงวันนั้นในเร็วๆ นี้ถามว่าตอนนี้ประเทศไหนที่ใกล้จะล้มละลายบ้าง ตอบว่าไม่ต้องมองไปไกล คือ "ลาว" ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยนั่นเอง เพราะตอนนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวน้อยกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีหนี้ต้องชำระมากว่า 1,000 ล้าน ซึ่งลาวใช้วิธีของความช่วยเหลือจากจีน

Photo by - / Mauritius Police Press Office / AFP