posttoday

เฟซบุ๊คเคยแพ้ "เผด็จการ" เวียดนามมาแล้ว

25 สิงหาคม 2563

ก่อนหน้าไทย เฟซบุ๊คเคยถูกรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามบีบบังคับให้เซ็นเซอร์เนื้อหาโจมตีรัฐบาลมาแล้ว

กรณีที่รัฐบาลไทยกดดันให้เฟซบุ๊คบล็อกกลุ่ม "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" กลุ่มวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้านคน จนเฟซบุ๊คโต้กลับว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับรัฐบาลไทยนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊คถูกแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลบหรือบล็อกเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล

ตัวอย่างใกล้บ้านเราก็คือ เวียดนาม

แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามจะเริ่มเปิดกว้างรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ยังควบคุมสื่อและกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยอย่างเข้มงวด องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ระบุว่าเสรีภาพสื่อของเวียดนามอยู่ในอันดับที่ 175 จาก 180 ประเทศ

ด้วยเหตุนี้เฟซบุ๊คซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมของชาวเวียดนามจึงถูกรัฐบาลจับตามองอย่างเลี่ยงไม่ได้ และที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามก็มักจะมีคำสั่งให้บริษัทโซเชียลมีเดียลบโพสต์หรือบัญชีที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์หรือผู้นำประเทศ หรือจัดตั้งขึ้นเพื่อยุยงให้เกิดการประท้วง หรือทำกิจกรรมอย่างอื่นที่เป็นการต่อต้านรัฐบาลอยู่บ่อยๆ

อีกทั้งยังมีกฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่มีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2019 กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียลบเนื้อหาโจมตีรัฐบาลภายใน 24 ชั่วโมงหลังได้รับคำร้องขอ

ทว่าที่ผ่านมาเฟซบุ๊คเคยปฏิเสธคำสั่งดังกล่าว แต่ก็ดำเนินการลบโพสต์ต่างๆ ไปหลายครั้ง

แต่สุดท้ายเฟซบุ๊คก็ต้องพ่ายแพ้ให้รัฐบาลเวียดนาม ยอมบล็อกโพสต์ที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาลหลังจากถูกกดดันอย่างหนัก

แหล่งข่าวเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า เซิร์ฟเวอร์ของเฟซบุ๊คในเวียดนามถูกปิด 7 สัปดาห์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ.-ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค รวมทั้งแอพพลิเคชั่นส่งข้อความเมสเซนเจอร์ อินสตาแกรม วอทส์แอพซึ่งเป็นของเฟซบุ๊ค บางรายใช้งานไม่ได้ บางรายเข้าใช้งานได้ช้าลง

ขณะนั้นสื่อของทางการเวียดนามระบุว่าสาเหตุมาจากการซ่อมบำรุงสายเคเบิลใต้ทะเล แต่กระนั้นก็ยังมีข้อกังขาว่าเหตุใดจึงเกิดเหตุขัดข้องเฉพาะกับเฟซบุุ๊คเท่านั้น

ในเวลาต่อมาคำถามนี้ก็ได้รับการชี้แจง โดยเฟซบุ๊คยอมรับว่า ช่วงเวลาที่มีปัญหาการเข้าใช้งานนั้น บริษัทกำลังเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม โดยทางรัฐบาลต้องการให้เฟซบุ๊คลบหรือเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ต่อต้านรัฐบาลหรือกระทบกับความมั่นคง แต่ทางเฟซบุ๊คไม่ต้องการทำ

อย่างไรก็ดี สุดท้ายหลังจากถูกกดดันอย่างหนัก เฟซบุ๊คจึงต้องยอมทำตามคำร้องขอ โดยให้เหตุผลว่า "เราต้องยอมรับคำร้องขอของรัฐบาล เพื่อให้ชาวเวียดนามนับล้านๆ คนได้ใช้เฟซบุ๊คต่อไป"

แหล่งข่าวเผยกับรอยเตอร์สว่า หลังจากเฟซบุ๊ครับปากรัฐบาลเวียดนาม บริการของเฟซบุ๊คก็กลับมาเป็นปกติ

เวียดนามคือตลาดใหญ่

นับตั้งแต่ปี 2016 เวียดนามกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชียของเฟซบุ๊ค จากข้อมูลของเว็บไซต์ statista พบว่า ปีนี้เวียดนามมีผู้ใช้เฟซบุ๊คราว 47.1 ล้านคน ขณะที่ไทยมีผู้ใช้ราว 52.37 ล้านคน

และแหล่งรายได้หลักของเฟซบุ๊คก็มาจากค่าโฆษณา ข้อมูลของ Ants บริษัทวิจัยตลาดในเวียดนาม พบว่า ปี 2018 มูลค่าโฆษณาออนไลน์ของเวียดนามอยู่ที่ 550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 17,318 ล้านบาท ในจำนวนนี้ 40% หรือเท่ากับ 235 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 7,400 ล้านบาทไหลเข้ากระเป๋าเฟซบุ๊ค

ขณะที่มูลค่าโฆษณาจากทั่วโลกของเฟซบุ๊คในปีเดียวกันอยู่ที่ 55,013 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเทียบสัดส่วนแล้วรายได้ของเฟซบุุ๊คในเวียดนามคิดเป็นประมาณ 0.42% ของรายได้ทั่วโลกเท่านั้น

แต่ถึงอย่างนั้นเฟซบุ๊คก็ไม่ยอมสูญเสียรายได้ก้อนนี้ไป และเลือกยอมทำตามคำขอ (แกมบังคับ) ของรัฐบาลเวียดนาม เพื่อรักษาธุรกิจ แทนที่จะทิ้งตลาดเวียดนามไป

ทั้งที่เคยปฏิญาณในฐานะสมาชิกโครงการเครือข่ายโลก (Global Network Initiative) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตและปกป้องสิทธิส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ว่าเฟซบุ๊คจะปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ใช้ เมื่อต้องเผชิญกับข้อเรียกร้องของรัฐบาลที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

เมื่อเฟซบุ๊คยอม "งอ" ไม่ยอม "หัก" กับรัฐบาลเวียดนาม องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างองค์กรนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) จึงกังวลว่ากรณีนี้จะเป็นตัวอย่างให้กับรัฐบาลอื่นทั่วโลกใช้วิธีบีบบังคับให้เฟซบุ๊คเซ็นเซอร์เนื้อหาตามที่รัฐบาลต้องการ