posttoday

จับสังเกตเรื่อง Ferrari FF ของบอส อยู่วิทยา

29 กรกฎาคม 2563

รถรุ่นนี้บอกอะไรเราได้บ้าง ยังมีหลักฐานเหลืออยู่หรือไม่? โพสต์ทูเดย์เอ็กซ์คลูซีฟค้นมาให้พิจารณา

รถยนต์ของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส คือ Ferrari FF ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีมาตั้งแต่ตอนทีเกิดอุบัติเหตุแล้วและมีการนำเสนอรายละเอียดของรถรุ่นไปพอสมควร แต่เราจะชี้จุดน่าสังเกตเกี่ยวกับรถรุ่นนี้โดยเทียบกับกรณีใกล้เคียงกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

1. เมื่อตอนที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2555 รถ Ferrari FF เพิ่งจะออกจำหน่ายแบบหมาดๆ ในตอนนั้นค่ายรถยืนยันว่ามันคือรถยนต์ที่เร็วที่สุดในโลก ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 335 กม./ชม. สามารถทำความเร็วได้จาก 0 - 100 กม.ในเวลา 3.7 วิทาที

2. ในประเด็นเรื่องความเร็วของรถ สำนวนคดีเดิมระบุว่านายวรยุทธขับรถมาด้วยความเร็ว 177 กม./ชม. แต่เมื่อจู่ๆ มีพยานใหม่เข้ามา 2 รายอ้างว่ารถวิ่งด้วยความเร็ว 80 กม./ชม. ทำให้ต้องเปลี่ยนข้อมูลในสำนวนฟ้อง แต่เป็นที่น่ากังขา

3. Ferrari เริ่มนำระบบ Telemetry ซึ่งเป็นระบบแบบเดียวกับเนวิเกเตอร์และโหดการขับรถ F1 มาใช้ในปี 2014 ระบบนี้สามารถเก็บบันทึกความเร็วได้ แต่โชคร้ายที่รถรุ่น FF ที่ออกมาในปี 2011 ไม่มีการบันทึกข้อมูลความเร็วที่ทำไว้

4. เมื่อไม่มีบันทึก ผู้เชี่ยวชาญต้องวิเคราะห์ความเร็วในที่เกิดเหตุจากกล้องวงจรปิด เช่น นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งทีมพิสูจน์หลักฐานที่เคยลงพื้นที่ตรวจสอบความเร็วรถของนายวรยุทธบอกกับ PPTV ว่า รถของนายวรยุทธ ใช้เวลาผ่านหน้ากล้องประมาณ 0.63 วินาทีดังนั้นรถต้องวิ่งด้วยความเร็ว 177 กม./ชม.

5. ตัวถังของ Ferrari FF ทำจากอลูมิเนียมเหมือนรถรุ่นใหม่ๆ จากค่ายเดียวกัน ข้อดีคือรถมีความเบาขึ้นมาก (เบากว่ารุ่นก่อน 10%) แต่มีความแข็งแกร็งเชิงบิด (Torsional Rigidity) มากขึ้น 6% หมายความรถมีความมั่นคงขึ้น ตรงกันข้ามกับความเชื่อของบางคนที่อาจจะคิดว่าโครงสร้างที่เบาจะทำให้รถไม่เสถียร

6. รถยนต์ส่วนมากในปัจจุบันใช้คาร์บอนไฟเบอร์เป็นตัวถัง ส่วน Ferrari ใช้อลูมิเนียมมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1940s และตอนที่เข็นรุ่น FF ออกมาก็ยังยึดติดกับอลูมิเนียม แต่เป็นอลูมิเนียมพิเศษที่ผ่านการผสมโลหะและวัสดุพิเศษในแบบของค่ายรถนี้ช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 15-20 %

7. Aluminium Insider บอกว่า อลูมิเนียมปลอดภัยกว่าและซ่อมง่ายกว่าเวลาเกิดอุบัติเหตุรถชนเมื่อเทียบกับ CFRP หรือคาร์บอนไฟเบอร์เสริมโพลีเมอร์ เวลาเกิดอุบัติเหตุอลูมิเนียมจะบุบบี้ แต่คาร์บอนไฟเบอร์จะแตก

8. มาถึงสภาพ Ferrari FF ของบอส อยู่วิทยา จากการพิจารณาด้วยสายตาจะเห็นว่ากระโปรงรถได้รับความเสียหายแค่เล็กน้อยๆ ทั้งๆ ที่มีรายงานว่าผู้ขับลากศพผู้เสียชีวิตไปไกลนับร้อยเมตร เป็นไปได้หรือไม่ว่ารถจะชนด้วยความเร็วต่ำ?

9. เรื่องนี้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าสภาพบุบบี้ของรถยนต์ไม่เกี่ยวความเร็วของรถ เมื่อเทียบกับกรณีอุบัติเหตุของรุ่น FF ในต่างประเทศบางกรณีจะเห็นความแตกต่าง เช่น เมื่อปี 2018 เกิดอุบัติเหตุรถ Ferrari FF ชนกับ Peugeot ที่นิวแฮมเชียร์ ประเทศอังกฤษบนทางหลวงที่จำกัดความเร็วที่ 40 ไมล์/ชม. (ราว 64 กม./ชม.) หากอนุมานว่า Ferrari FF วิ่งมาด้วยความเร็ว 64 กม./ชม จากภาพพบว่าความเสียหายรุนแรงกว่ารถของของบอส อยู่วิทยาเล็กน้อย แต่เราไม่สามารถสรุปได้เพราะเราไม่ทราบความเร็วที่แท้จริง (เช่นเดียวกับกรณีของบอส อยู่วิทยา)

10. อีกกรณีคืออุบัติเหตุ Ferrari FF บนทางหลวงของเยอรมนีเมื่อปี 2015 ผู้ขับขี่ชาวดัตช์ 2 คนเร่งความเร็วถึง 200 กม./ชม. จนชนเข้ากับรถยนต์และแนวกั้น และชนต้นไม้ จากนั้นเกิดเพลิงไหม้ สภาพรถเรียกได้ว่าแทบไม่เหลือซาก แต่เราต้องย้ำอีกครั้งว่าความเร็วและอาการบุบบี้ของรถไม่ใช่เรื่องตายตัว และกรณีของชาวดัตช์ชนหลายตลบมาก การที่รถเสียหายยับเยินจึงไม่น่าแปลก

11. ส่วนข้อสังเกตเรื่องการทำงานของถุงลมนิรภัย (airbag) ก็อาจจะยากที่จะใช้วัดความเร็วตอนรถชน เพราะหลายปีก่อน Ferrari เรียกคืนรถมาแก้ไขปัญหาถุงลมนิรภัย เพราะมีการทำงานที่ผิดปกติ (เช่นกระแทกนิดหน่อยก็ทำงาน) หนึ่งในรุ่นที่ถูกเรียกซ่อมคือ FF

12. ข้อสังเกตทั้งหมดนี้ต่อให้ละเอียดแค่ไหนก็ไม่มีประโยชน์อะไร ในเมื่อทางการไทยปล่อยให้นายวรยุทธ อยู่วิทยาลอยนวลจนกระทั่งข้อหากระทงต่างๆ หมดอายุความ โดยเฉพาะข้อหาที่เกี่ยวกับรถยนต์โดยตรงนั่นคือข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย ที่หมดอายุความในปี 2556 และข้อหาไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ถูกชนตามสมควรและไม่แจ้งต่อเจ้าพนักงานในทันทีที่ชน ที่หมดไปตั้งแต่ปี 2560