posttoday

ทำไมคนจนถึงเข้าคุกง่ายกว่าคนรวย?

27 กรกฎาคม 2563

ทำไมคุกจึงมีแต่คนจน ทำไมคนรวยถึงมักจะรอดความผิด และทำไมกระบวนการยุติธรรมไม่ยุติธรรม?

1. คำกล่าวที่ว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะไม่เรียกว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ ทั่วโลก ตั้งแต่ในไทยถึงในสหรัฐซึ่งหนักกว่าไทยหลายเท่า

2. ไม่ได้หมายความว่าคนรวยทำผิดแล้วรอดคุก แต่เพราะคนรวยมีโอกาสทำความผิดน้อยกว่าคนจน ความผิดตามกฎหมายที่คนจนได้กระทำ ไม่ใช่เพราะพวกคนเป็นคนไม่ดี แต่เพราะระบบในสังคมมันไม่ดีต่างหาก นี่คือปรากฎการณ์ที่เรียกว่า criminalization of poverty หรือการทำให้ความจนเป็นอาชญากรรม

3. ยกตัวอย่างในสหรัฐ มีรายงานโดยสถาบัน Brookings Institution พบว่าเด็กผู้ชายที่เกิดในครอบครัวที่จนที่สุด 10% มีโอกาสที่จะติดคุกมากกว่าเด็กในครอบครัวรวยที่สุด 10% มากถึง 20 เท่า โดยจะติดคุกในช่วงไหนก็ได้ก่อนอายุถึง 30 ปี 

4. จากข้อมูลของ Prison Policy Initiative พบว่าคนที่เข้าคุกมีรายได้เฉลี่ย 19,185 เหรียญสหรัฐต่อปีโดยเฉลี่ย หรือ -41% น้อยกว่าคนในกลุ่มอายุเดียวกัน หมายความว่านักโทษคือกลุ่มคนที่จนที่สุดในสังคม 

5. องค์กร Equal justice under law ซึ่งต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของคนชนชั้นต่างๆ จึงกล่าวว่า "คนที่ประสบกับความยากจนมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกจับกุมและถูกจองจำเพราะความผิดเล็กน้อย มากกว่าคนอเมริกันที่มีอันจะกินมากกว่า" 

6. ปัญหาเรื่อง "รวยกระจุก จนกระจาย" ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่บีบให้คนอเมริกันที่ยากจนต้องทำผิดกฎหมาย ในรายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความยากจนและสิทธิมนุษยชนได้ข้อสรุปในรายงานล่าสุดว่าสหรัฐ “เป็นผู้นำของโลกที่พัฒนาแล้วในเรื่องความไม่เท่าเทียมของรายได้และความมั่งคั่ง และตอนนี้สหรัฐยิ่งทำให้ประเทศตัวเองเกิดความไม่เท่าเทียมกันหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น”

7. การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเกินไปเป็นสาเหตุที่ติดตามมา ในสหรัฐ (และในประเทศไทยด้วย) ยกตัวอย่างเช่นความผิดลหุโทษ (โทษเบา) เช่น เจ้าของรถที่เป็นคนจนต้องอาศัยรถยนต์ในการทำมาหากิน ต่อมาไฟท้ายเสียแต่เขาไม่มีเงินเปลี่ยน ทำให้เขาถูกปรับ (ด้วยค่าปรับที่เพิ่มขึ้นในหลายรัฐ) แต่เพราะเขาจนจึงไม่มีเงินจ่ายค่าปรับ ทำให้ต้องถูกระงับใบขับขี่

8. คนอเมริกันที่ยากจนเมื่อถูกระงับใบขับขี่ก็หากินไม่ได้ ทำให้ถูกบีบให้ต้องเลือกว่าจะต้องหางานไหม่ หรือเสี่ยงขับรถต่อไปโดยไม่มีใบขับขี่แต่หากถูกจับจะต้องติดคุก นี่คือสถานการณ์ที่กฎหมายบีบบังคบให้คนจนต้องทำผิดกฎหมายอย่างหนึ่ง และเป็นสาเหตุว่าทำไมสหรัฐจึงมีตัวเลขนักโทษสูงที่สุดในโลก 

9. ในสหรัฐยังมีความเลวร้ายเรื่องหนึ่ง คือการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองและธุรกิจด้านความปลอดภัยผ่านองค์กร ALEC กลุ่มนักการเมืองจะออกกฎหมายที่เอื้อต่อธุรกิจกลุ่มนี้ซึ่งรับสัมปทานดูแลเรือนจำ กฎหมายในสหรัฐตราออกมาเพื่อจับคนทำผิดเข้าคุกให้มากที่สุด แม้จะเป็นโทษเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่เว้น

10. ผลก็คือสหรัฐเต็มไปด้วยเรือนจำและเรือนจำเป็นเต็มไปด้วยนักโทษ และส่วนใหญ่ก็คือคนยากจนที่ถูกบีบให้ทำความผิด (แน่นอนว่ามีคนทำผิดโดยกมลสันดานอยู่ด้วย) แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือธุรกิจเรือนจำและนักการเมือง กรณีนี้เรียกว่า Prison–industrial complex หรือความพัวพันระหว่างเรือนจำและอุตสาหกรรม ที่ภาคธุรกิจหากินกับการจับคนเข้าคุกมากๆ

11. ดังนั้นเราจึงเห็นความพยายามที่จะให้รัฐบาลสหรัฐลดงบประมาณด้านเรือนจำลง และลดงงบประมาณให้ตำรวจเพราะตำรวจมีแนวโน้มที่จะลงโทษคนจนอย่างรุนแรง จากนั้นแก้กฎหมายที่เปิดช่องโหว่ทำร้ายคนจน แล้วทุ่มงบประมาณเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตคนจน ให้การศึกษาและโอกาสในชีวิต เพื่อที่จะทำให้พวกเขาปิดโอกาสที่จะทำความผิดเพราะความจนบังคับ

12. ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีนักโทษมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เราจึงต้องดู "ความผิดพลาด" ของสหรัฐเป็นตัวอย่างเอาไว้ว่าคนจนถูกกฎหมายรังแกอย่างไร

Photo by STR / AFP