posttoday

เศรษฐีฮ่องกงแห่ขอวีซ่าอยู่ไทยยาวหนีกฎหมายมั่นคงจีน

18 กรกฎาคม 2563

บรรดาเศรษฐีชาวฮ่องกงพากันขอวีซ่าอยู่ไทยระยะยาว หลังจากทางการจีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงเมื่อเดือนที่แล้ว

สมชัย สูงสว่าง ผู้จัดการใหญ่ บริษัท Thailand Privilege Card ตัวแทนจัดหาวีซ่าอีลิทการ์ด (Elite Card) สำหรับชาวต่างชาติฐานะดี เผยกับ เว็บไซต์ Nikkei Asian Review ว่า ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. ที่ผ่านมา มีชาวฮ่องกงยื่นขอวีซ่าอีลิทการ์ดเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากข้อมูลของ Thailand Privilege Card พบว่า ในช่วง 9 เดือนจนถึงวันที่ 31 มิ.ย. ชาวฮ่องกงถือวีซ่าอีลิทการ์ดของไทยเพิ่มขึ้นถึง 380%

แม้ทางบริษัทจะไม่เปิดเผยตัวเลขชาวฮ่องกงที่แท้จริง แต่ Nikkei Asian Review คาดว่ามีชาวฮ่องกงถือวีซ่านี้เพิ่มขึ้นกว่า 50 คนในช่วงเวลาดังกล่าว

ผู้จัดการใหญ่ Thailand Privilege Card คาดว่าจะมีชาวฮ่องกงมายื่นขอวีซ่าอีลิทการ์ดเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 20 คนในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้

นอกจากนี้ สมชัย สูงสว่าง ยังเผยอีกว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐีชาวฮ่องกงพากันยื่นขอวีซ่าเพื่อพำนักในไทยระยะยาวคือ การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงของจีนเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ซึ่งกำหนดความผิดไว้ 4 ประเภท ได้แก่ การแบ่งแยกดินแดน การล้มล้างการปกครอง การก่อการร้าย และการแทรกแซงจากต่างชาติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ

สมชัย สูงสว่าง เผยกับ Nikkei Asian Review อีกว่า ไทยจะต้องแข่งขันกับหลายชาติในการเปิดรับชาวฮ่องกงกระเป๋าหนัก อาทิ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แต่ไทยมีจุดเด่นทั้งสภาพอากาศที่ใกล้เคียงกัน วัฒนธรรมที่เป็นมิตร และความสะดวกในการทำธุรกิจ อีกทั้งการขอวีซ่าอีลิทการ์ดยังใช้เวลาเพียง 15 วันทำการ หลังจากผ่านการตรวจสอบประวัติจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว

ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2020 ตัวเลขชาวต่างชาติขอวีซ่าอีลิทการ์ดเพิ่มขึ้น 20% จาก 1,894 คนเป็น 10,363 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 38% ญี่ปุ่น 9% สหรัฐและสหราชอาณาจักรประเทศละ 7%

ทั้งนี้ อีลิทการ์ดริเริ่มโดยรัฐบาลไทยเมื่อปี 2003 เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติกระเป๋าหนัก โดยการเสนอให้พำนักในเมืองไทยได้ 5-20 ปี พร้อมกับสิทธิพิเศษอื่นๆ อาทิ ฟรีรถลีมูซีนรับส่งจากสนามบิน ช่องทางพิเศษตรวจคนเข้าเมืองในสนามบิน มีเจ้าหน้าที่ช่วยประสานงานการรายงานตัวทุกๆ 90 วัน และสิทธิใช้สนามกอล์ฟและสปาฟรี

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกตลอดชีพตั้งแต่ 500,000-2 ล้านบาท