posttoday

ความผิดพลาด ที่อาจทำให้คนไทยระแวงคนต่างชาติ

14 กรกฎาคม 2563

สำหรับประเทศที่พึ่งพาเงินของคนต่างชาติในสัดส่วนถึงเกือบ20% ความกลัวต่างชาติจะกระทบถึงปากท้องของประชาชนแบบที่จินตนาการกันไม่ออกเลยทีเดียว

เมื่อครั้งที่พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางขอแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง New normal และรับฟังความเห็นของสื่อมวลชนด้วยตัวเอง (เป็นครั้งแรก) ที่บางกอกโพสต์-โพสต์ทูเดย์ พล.อ. ประยุทธ์ได้เอ่ยถึงการทำงานเชิงบูรณาการมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นคำที่ "เฝือ" ไปสักหน่อย แต่เราต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ

คำว่า "บูรณาการ" พูดกันมาหลายสิบปีแล้วแต่มองไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดๆ สักที เพราะพื้นฐานที่เบสิกที่สุดของบูรณาการคือการประสานงานทุกหน่วยงาน ทำงานแบบน้ำหนึ่งใจเดียว และที่สำคัญ "ไม่โยนความรับผิดชอบ"

แต่กรณีทหารอียิปต์-เด็กซูดานที่สั่นประสาทคนไทยไปทั่วประเทศ แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลยังห่างไกลกับคำว่าบูรณาการ ที่ชัดๆ ก็คือประชาชนคนไทยยังไม่รู้เลยว่า "ใครคือผู้รับผิดชอบที่ปล่อยปละละเลยเรื่องนี้?" แต่ละหน่วยงานโยนกันไปโยนกันมา เหมือนระบบราชการเมื่อศตวรรษที่แล้ว

คำว่า บูรณาการ ในภาษอังกฤษคือคำว่า Integration เป็นคำที่ใกล้เคียงกับคำว่า Integrity ที่แปลว่า ความซื่อตรงและคงเส้นคงวา ไม่ใช่มือถือสากปากถือศีล

ประชาชนไม่ได้หวังให้รัฐบาลต้องบรรลุ Integration (เพราะมันยังยาก) แค่มี Integrity ให้ประชาชนอุ่นใจก็พอว่า แม้จะเกิดความผิดพลาดขึ้น แต่รัฐบาลเป็นคนที่ประชาชนเชื่อใจได้ว่าเป็นความผิดพลาดโดยสุจริต และไม่โยนกันไปโยนกันมาจนประชาชนเพลียใจ

เรื่องที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าภาครัฐยังไม่พร้อมที่จะรับคนภายนอกเข้ามา เพราะแค่บุคคลระดับอภิสิทธิ์ทางการทูตไม่กี่คนยังไม่สามาถควบคุมได้ ดังนั้นแผนการเปิดประเทศให้คนเข้ามาจะต้องชะลอไปก่อน

ประชาชนอาจจะพอใจที่เราปิดบ้านอยู่กันเองไปก่อน แต่ขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย เพราะขณะที่เรารอดจากโควิด-19 จากภายนอก (ที่อาจเป็นสายพันธุ์ที่รุนแรงกว่า) เศรษฐกิจของเราจะยิ่งแย่ลง และอาจทำให้บางคน "อดตายก่อนจะเป็นโควิด"

คนบางกลุ่มนี้คือภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพราะจากการประเมินโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าหากเราไม่เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้ามาภายในสิ้นปีนี้ มีความเสี่ยงที่ธุรกิจท่องเที่ยว 60% จะต้องปิดกิจการไป

คนที่ไม่ได้หากินกับการท่องเที่ยวก็คงรู้สึกไกลตัว เพราะเขามองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากแค่ไหน และเงินจากส่วนนี้หมุนเวียนไปพยุงภาคอื่นด้วย เมื่อท่องเที่ยวทรุด ธุรกิจอื่นๆ ก็อยู่ลำบาก

อย่าลืมเมื่อปีที่แล้วว่าความมั่งคั่งของประเทศ (GDP) ถึง 18% มาจากการท่องเที่ยว ในปีนี้มันจะเหลือแค่ 6-7%

ดังนั้นการขอให้ปิดประเทศเพื่อปกป้องตัวเองจึงเป็นความลักลั่น เพราะยิ่งไทยปิดไทยยิ่งเจ็บ ไม่มีไทยคนไหนที่จะชนะหากเราอยู่ในภาวะลักลั่นแบบนี้

ถ้าทำ travel bubble ได้ทันในปีนี้ เราจะมีรายได้เข้ามามากที่จะทำเงินได้หลักล้านล้านในปีนี้ แล้วเงินเหล่านั้นจะช่วยหมุนเวียนให้คนมีกินมีใช้ มีพลังในการจับจ่าย ไม่ใช่ภาวะฝืดเคืองจนธุรกิจอื่นๆ เจ๊งกันระนาวตามกันไปเป็นแถบๆ เหมือนตอนนี้

แต่ก็เพราะความหละหลวมจากกรณีทหารอียิปต์-เด็กซูดาน ทำให้แผนการนี้อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้ว

อย่าว่าแต่รับนักคนนอกเข้ามาเที่ยวเลย แม้แต่รับคนไทยกลับเข้ามาก็อาจจะเกิดแรงต้านด้วยซ้ำ

ในระยะสั้นจะเกิดความกลัวคนต่างชาติ (Xenophobia) ขึ้นในหมู่คนไทย

เช่น ในเว็บไซต์ข่าวสารต่างประเทศในไทย เช่น Bangkok Post มีชาวต่างชาติในไทยจำนวนหนึ่งรู้สึกกลัวว่ากรณีทหารอียิปต์-เด็กซูดานจะปลุกกระแสต่อต้านชาวต่างชาติในไทยขึ้นมา

อาจไม่ถึงขั้นรังเกียจจนไม่ต้อนรับ แต่ความมีน้ำจิตน้ำใจของคนไทยต่อคนต่างชาติจะลดน้อยลงไป หรืออย่างร้ายที่สุดมีต่างชาติบางคนกลัวว่ารัฐบาลอาจรับลูกกระแสนี้ด้วยการบั่นทอนสิทธิที่คนต่างชาติพึงมีในช่วงเวลายากลำบาก เช่น ระเบียบด้านตรวจคนเข้าเมืองที่ยุ่งยากมากขึ้นเพื่อ "บีบ" ให้คนต่างชาติออกไป

เมื่อคนต่างชาติรู้สึกไม่ถูกต้อนรับในไทย อะไรๆ ที่ยุ่งยากอาจตามมาเช่น ความอยากลงทุน อยากใช้ไทยเป็นที่ทำงาน และความรู้สึกอยากมาเที่ยวในอนาคต

New mormal ที่จะเกิดขึ้นในยุคหลังโควิดไม่ใช่แค่เรื่องใกล้ตัวอย่างการสวมหน้ากาก การทำงานระยะไกล หรือการจับจ่ายออนไลน์ ฯลฯ แต่ยังรวมถึงสิ่งไม่พึงประสงค์อย่าง การเหยียดเชื้อชาติ การปิดประเทศ การปกป้องสินค้าตัวเอง การทำลายโลกาภิวัฒน์ และการกลัวคนต่างชาติ

ยิ่งโลกของเราตัดขาดกับการพบหน้าค่าตาคนจริงๆ เพราะการล็อคดาวน์ จะทำให้เราด่วนสรุปได้ง่ายๆ ว่า คนนอกหรือ "คนอื่น" ที่ไม่ใช่คนไทยเป็นพวกไม่ควรต้อนรับให้เข้ามา

ความเกรี้ยวกราดของคนไทยในโลกโซเชียลอาจะระเบิดออกมาเป็นการแสดงจริงๆ ก็ได้

มีงานวิจัยจากสถาบัน Kellogg ที่สำรวจผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในรัสเซียพบว่า ยิ่งผู้ใช้หมกมุ่นกับกระแสต่อต้านคนต่างชาติออนไลน์มากเท่าไร เขายิ่งจะกลายเป็นคนรุนแรงมากขึ้น สุดท้ายก็จะกล้าก่อความรุนแรงกับคนจริงๆ นอกโลกออนไลน์

ความเกลียดคนต่างชาติ การเหยียดเชื้อชาติ และความเกลียดชัง คือโรคระบาดทางใจที่เกิดขึ้นซ้อนกับโรคระบาดโควิด-19 แต่เรามักจะมองข้ามมันไป

พวกนี้คือ New mormal ที่เราแทบไม่ได้พูดถึงกันในบ้านเรา แต่ในหลายประเทศมันเกิดขึ้นแล้ว คำถามคือรัฐบาลจะรับมืออย่างไร?

หากประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมีประชาชนที่กลัวคนต่างชาติขึ้นมาคงดูไม่จืด

แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเราจะพึ่งพาการท่องเที่ยวแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วในโลกที่เกิด New mormal อย่างที่บอกไว้ข้างต้น (คือระแวงคนต่างชาติ) เราต้องลดการพึ่งพาการท่องเที่ยว แล้วโยกพลังของเราไปพัฒนาเรื่องอื่นที่ยั่งยืนกว่านี้

ตอนนี้คงทำลำบาก แต่มันควรเป็นโรดแมประยะยาวในการพัฒนาประเทศ ก่อนอื่นนายกรัฐมนตรีต้อง "เอาให้ชัด" ว่า New mormal ที่ท่านโฆษณานั้นมันคืออะไรกันแน่ และแผนระยะยาวรับมือกับโลกหลังโควิด (Post-Covid World) มีอะไรบ้าง ท่านต้องแจกแจงให้ชัดๆ

สรุปก็คือรัฐบาลจะต้องมี Integration (การบูรณาการ) ที่มีการประสานงานจริงๆ ไม่ใช่แยกกันทำแบบไร้มาตรฐาน ไม่ใช่ว่ากระทรวง A รับคนเข้ามาแล้วดูแลกันเองโดยไม่ใช้มาตรฐานกลาง

จะต้องมี Integrity (ความคงเส้นคงวา) ให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าไม่ใช่คนกลับกลอกหรือโยนกันไปโยนกันมา ไม่ใช่ว่าหน่วยงาน B รับรองแล้วโบ้ยให้เอกชนรับผิดชอบ

และต้องเป็น Visionary (มีวิสัยทัศน์) ต้องอ่านเกมในอนาคตอย่างแตกฉาน เช่น มองให้ออกว่าถ้าเปิดประเทศแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่รอให้เกิดเรื่องแล้วบอกว่า "คาดไม่ถึง"

ถ้ารัฐบาลมีคุณสมบัติเหล่านี้แล้ว อย่าว่าแต่แขกเมืองไม่กี่คน จะให้รับนักท่องเที่ยวเข้ามาให้เป็นโขยงคนไทยก็มั่นใจได้ว่ารัฐบาลเอาอยู่

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP