posttoday

โลกไว้ใจไทยเจ๋งรับมือโควิด แต่โลกหลังโควิดไทยจะไหวไหม?

02 กรกฎาคม 2563

แม้ว่าไทยจะได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกในที่สุดเรื่องมาตรการคุมโควิด แต่สิ่งที่ท้าทายกว่านี้คือโลกหลังโควิดต่างหาก

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม สหภาพยุโรป (EU) ประกาศรายชื่อ 14 ประเทศที่ปลอดภัยที่พลเมืองของประเทศนั้นๆ สามารถเดินทางมายังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้ หนึ่งในนั้นรวมถึงประเทศไทย

เกณฑ์การพิจารณาคือ สหภาพยุโรปเห็นแล้วว่าประเทศเหล่านี้มีมาตรฐานการควบคุมโควิด-19 ที่คล้ายคลึงกันกับสหภาพยุโรปหรือดีกว่าสหภาพยุโรป โดยพิจารณาจากอัตราผู้ป่วยต่อประชากร 100,000 คน

นอกจากนี้ ประเทศที่อยู่ในรายชื่อยังมีแนวโน้มการติดเชื้อใหม่ที่คงที่แล้วหรือลดลง ต้องมีการตรวจเชื้อที่เพียงพอ มีการติดตามผู้ที่ติดต่อกับผู้ติดเชื้อ มีศักยภาพการกักกันและความสามารถในการรักษาที่รับมือกับการระบาดใหญ่ได้ โดยเฉพาะการรับมือการระบาดจากการเดินทางทุกประเภท

ประเทศเหล่านี้ยังต้องทำให้สหภาพยุโรปพึงพอใจว่าข้อมูลของพวกเขานั้นเข้าถึงได้และเชื่อถือได้ ดังนั้น เพียงแค่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อจึงยังไม่เพียงพอ แต่ต้องทำให้สหภาพยุโรปเชื่อมั่นด้วยว่าไม่มีหมกเม็ดหรือตรวจไม่ทั่วถึงแล้วเคลมว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลย

การที่ไทยผ่านเกณฑ์เหล่านี้เท่ากับนานาประเทศยอมรับว่ามาตรการของไทยมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลโปร่งใสและเชื่อถือได้

โดยเฉพาะในเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ มีการถกเถียงกันมาตลอดว่าการที่ไทยมีผู้ติดเชื้อต่ำเพราะมีการตรวจที่ไม่ครอบคลุมพอ ส่วนประเทศที่มียอดติดเชื้อมากเพราะมีศักยภาพการตรวจโรคสูงกว่าไทยนั่นเอง

แต่ตรรกะนี้เหมือนจะสมเหตุสมผล ถ้าเกิดไทยมีผู้ป่วยจนแน่นโรงพยาบาล หรืออย่างน้อยก็ต้องมียอดคนเสียชีวิตด้วยโรคปอดที่มากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้เกิดเรื่องแบบนั้นกับไทย เราจึงสรุปได้ว่าถึงไทยจะตรวจไม่ได้มากเหมือนประเทศอื่น แต่เราก็ควบคุมการระบาดได้ดีพอในระดับที่สหภาพยุโรปเชื่อมั่นได้

เรื่องนี้ถือว่าเซอร์ไพรส์หลายๆ คนที่มองว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอาเซียน เพราะไม่มีผู้เสียชีวิตเลยสักคนเดียวและยังติดเชื้อน้อยที่สุดและคลายล็อคดาวน์เร็วที่สุด

ที่ผ่านมาสื่อต่างประเทศทึ่งและชมเชยเวียดนามที่รับมือโควิด-19 ได้อยู่หมัดและรวดเร็วมาก ในขณะที่อาเซียนส่วนใหญ่ยังเอาตัวไม่รอดจากการระบาด เวียดนามที่กลับมาสภาพปกติได้เร็วจึงถูกวางตัวว่าคงจะเป็นหนึ่งในมหาอำนาจใหม่ของอาเซียนเป็นแน่แท้

แต่แล้วเวียดนามไม่ติดอยู่ใน 14 ประเทศที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ไปเยือนยุโรปได้

ในช่วงแรกที่มีข่าวออกมามีชื่อของเวียดนามติดอยู่ในลิสต์ด้วยโดยมีทั้งหมด 54 ประเทศ แต่สุดท้ายเวียดนามก็หลุดไป คาดว่าเพราะเวียดนามไม่ยอดเปิดเที่ยวบินกับสหภาพยุโรปเพราะระแวดระวังมากนั่นเอง

ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรปและนานาประเทศเริ่มเรียกร้องให้เวียดนามเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศอีกครั้งเพราะควบคุมการระบาดได้แล้ว แถมยังเพิ่งจะอนุมัติข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน

จอร์โจ อาลิแบร์ติ (Giorgio Aliberti) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำเวียดนามบอกกับ Nikkei ว่า ตอนนี้บริษัทของสหภาพยุโรปอยากจะลงทุนในเวียดนามมากว่าเดิมเพราะข้อตกลงการค้าเสรีอีกสาเหตุหนึ่งก็เพื่อกระจายความเสี่ยงหลังการระบาด เพื่อลดการพึ่งพาจีนให้น้อยลง

แต่ปัญหาคือเส้นทางบินทุกเส้นที่เชื่อมต่อเวียดนามกับสหภาพยุโรปหยุดหมดตั้งแต่เดือนเมษายนแล้วและเที่ยวบินปกติไม่น่าจะให้บริการได้อีกครั้งจนกว่าจะถึงปี 2021

ด้วยสาเหตุนี้กระมังที่สหภาพยุโรปยังไม่รวมเวียดนามในสถานะประเทศปลอดภัย

กระทั่งไทยก็เรียกร้องให้เวียดนามเปิดน่านฟ้าอีก เช่นเดียวกับจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

แม้ว่าเวียดนามจะไม่ปรากฏในรายชื่อประเทศปลอดภัยของสหภาพยุโรป แต่เวียดนามไปอยู่ในรายชื่อประเทศที่จะทำข้อตกลงเปิดพรมแดนกับญี่ปุ่น คือ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นอาจจะหารือกับสหภาพยุโรปในเรื่องนี้ด้วย

เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนเที่ยวบินเที่ยวแรกระหว่างเวียดนามกับญี่ปุ่นก็เปิดให้บริการอีกครั้ง เป็นเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ เป็นการทำ Travel bubble ที่เน้นบุคคลากรทางธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเวียดนามในฐานะที่ยังพึ่งพาการผลิตอยู่มาก

แต่สถานการณ์ของไทยต่างออกไป ถึงแม้ว่าไทยจะได้รับความไว้วางจากประเทศต่างๆ แต่ Travel bubble ของไทยมีเป้าหมายสำคัญคือการดึงนักท่องเที่ยวกลับมาไม่ใช่แค่นำนักธุรกิจกลับมาเดินเครื่องจักรการผลิตเหมือนเวียดนาม

ไทยเรานั้นพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปจนเป็นอันตรายต่อตัวเอง

เวียดนามจะยังได้ประโยชน์จากสงครามการค้า ดังจะเห็นได้ว่าในปีนี้เวียดนามคาดว่าเศรษฐกิจจะยังโตต่อไปได้อีก 5% ตรงกันข้ามกับไทยที่จะติดลบ 5-6%

ไทยก็จะได้รับผลดีเช่นกันจากเรื่องนี้ แต่เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากกว่าการผลิต มันจึงไม่ช่วยให้เรารอดพ้นจากการติดลบไปได้ ดังนั้นคนในรัฐบาลจะเริ่มเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการท่องเที่ยวมาเน้นที่คุณภาพมากกว่าปริมาณ คงเพราะเห็นแล้วว่าการท่องเที่ยวเชิงปริมาณมันเป็นไปไม่ได้ในช่วง 2 - 3 ปีนี้เป็นอย่างน้อย

แต่ถ้ายังพึ่งการท่องเที่ยวจนเกินเหตุต่อไปต้องขอเตือนว่าคิดผิดมหันต์ เราต้องปรับทิศทางใหม่ให้เร็วที่สุด ปัญหาเร่งด่วนในตอนนี้คือต้องลดระดับหนี้สินครัวเรือน เพิ่มกำลังการบริโภคภายในประเทศ แต่ก็พยายามใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าให้มากที่สุด

เราต้องยอมรับว่าตอนนี้โอกาสของเวียดนามมีมากกว่าไทย แต่อย่างน้อยไทยก็ยังผงาดขึ้นมาจากการระบาดได้เร็ว ซึ่งช่วยบรรเทาความเสียหายต่อเศรษฐกิจไปได้มาก

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP