posttoday

ชำแหละเครื่องจับวิญญาณรายการดัง ผีจริงหรือผีเก๊?

01 กรกฎาคม 2563

ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ที่สร้างความโด่งดังให้กับรายการจับผียอดฮิตของเมืองไทย มันคือของจริงหรือของกำมะลอกันแน่?

ผีมีจริงหรือไม่เป็นคำตอบที่ยากพอๆ กับการถามว่าเครื่องจับผีมันจับผีได้จริงหรือไม่? ทั้งการมีอยู่ของผีและความมีประสิทธิภาพของเครื่องจับผีจึงขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคลล้วนๆ

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์พวกนี้จะอิงกับหลักการวิทยาศาสตร์ แต่มันถูกจัดให้เป็น "วิทยาศาสตร์เทียม" (Pseudoscience) ที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์และอิงกับข้อเท็จจริง แต่กระบวนการให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงกลับไม่เป็นวิทยาศาสตร์

เหมือนกับเครื่องจับผีที่อ้างว่าเป็นวิทยาศาสตร์ แต่กระบวนการพิสูจน์ว่าผีมีจริงยังเป็นไปไม่ได้

ต่อไปนี้เราจะมาทำความรู้จักกับอุปกรณ์จับผียอดนิยมกัน

จุดเด่นของรายการ "ช่องส่องผี" นอกจากแม่หมอตาทิพย์ที่ชื่อเรนนี่แล้ว ยังมีกล้องจับผีที่เมื่อส่องไปตามจุดที่เชื่อกันว่ามีผีจะเกิดโครงร่างคร่าวๆ เป็นเเส้นลำตัว แขน ขาปรากฎขึ้นบนหน้าจอ ลักษณะคล้ายกับรูปคนง่ายๆ ที่วาดโดยเด็กอนุบาล

อุปกรณ์นี้ประกอบขึ้นมาจาก Kinect ซึ่งเป็นเครื่องโปรเจกเตอร์แสงอินฟราเรดที่จะจับความเคลื่อนไหวและตรวจจับโครงร่างของร่างกายและเสียงเพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถบังคับอุปกรณ์หนึ่งๆ (เช่นเครื่อง Xbox) จากระยะไกลได้

แต่หลังจากจำหน่ายออกมาไม่นานเมื่อปี 2010 เกมเมอร์สก็หันไปใช้มันเล่นอย่างอื่นแทนที่จะเเล่นเกมส์ นั่นคือใช้มัน "จับผี"

ในปี 2012 เมื่อภาพยนต์เขย่าขวัญเรื่อง Paranormal Activity 4 ออกฉายและมีฉากหนึ่งใช้เครื่องอินฟาเรดของ Kinect จับการปรากฎตัวของสิ่งลี้ลับได้ ยิ่งทำให้คนเชื่อกันว่า Kinect จับผีได้จริงๆ ถึงขนาดที่มีกลุ่มตั้งขึ้นมาโดยใช้ Kinect เพื่อจับผีโดยเฉพาะ

จากบล็อกของกลุ่มหนึ่งที่โพสต์ไว้เมื่อปี 2013 ระบุว่า "นับตั้งแต่เปิดตัวคอนโทรลเลอร์ Kinect Motion Sensor ในปี 2010 นักเล่นเกมได้โพสต์คลิป "Kinect Ghosts" ที่ตรวจพบโดย Xbox 360 ของพวกเขา Kinect จะแจ้งให้คุณทราบเมื่อมีคนอื่นเข้ามาในห้อง ปรากฏการณ์ส่วนใหญ่ถูกปัดว่าเป็นแค่ความผิดปกติของเครื่องหากพวกเขาอยู่คนเดียว อย่างไรก็ตามมีวิดีโอหลายร้อยรายการบน youtube ไม่เพียงตรวจพบ 'คนบางคนที่ไม่ควรจะอยู่ที่นั่น' แต่พวก 'ผี' เหล่านี้ยังใช้ตัวควบคุมการเคลื่อนไหวเพื่อใช้งานระบบอีกด้วย"

มีคลิปจำนวนไม่น้อยเลยใน youtube ที่ใช้อุปกรณ์นี้จับภาพ "ผี" ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ และเหมือนกับที่กลุ่มจับผีข้างบนอ้างไว้ มีผู้อ้างว่า "ผี" เหล่านี้ยังแทรกแซงระบบของ Xbox เหมือนกับว่าผีเหล่านี้พบวิธีที่จะสื่อสารกับมนุษย์ได้

นับจากนั้นไม่ใช่แค่เกมเมอร์เท่านั้นที่เล่นจับผี แต่นักจับผีมืออาชีพยังได้อาวุธใหม่ในการตามล่าสิ่งลี้ลับ และยังมีการปรับปรุงอุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (ตามความเชื่อของพวกเขา)

เช่น นักล่าผีชาวออสเตรเลียที่ชื่อ แกรฮ์ม ลิวอิส (Graham Lewis) อ้างกับสำนักข่าว ABC ว่าเขาจับภาพ (แบบเดียวกับรายการช่องส่องผี) ได้ระหว่างไปล่าท้าผีที่สถานกักกันโรคในซิดนีย์โดยเป็นโครงร่างเล็กๆ เหมือนเด็ก ลิวอิสปรับปรุงกล้องจับผีให้ดีขึ้นด้วยการติดตั้ง Kinect เข้ากับหน้าจอแทบเล็ตและฮาร์ดไดรฟ์สำหรับบันทึกภาพและยังติดตั้งเครื่องจับทิศทางและอื่นๆ

ในเว็บไซต์ Ghost Hunters Equipment มีการดัดแปลง Kinect เหมือนกับที่ลิวอิสทำแต่ด้วยออปชั่นที่มากกว่าและรูปลักษณ์ที่ดูล้ำพร้อมด้วยกล่องใส่สุดเท่ วางจำหน่ายในราคาประมาณ 12,000 บาท ประกอบด้วยแทบเล็ตกับ Kinect เป็นองค์ประกอบหลัก พร้อมด้วยซอฟแวร์ที่จำเป็นและมือจับกล้อง

แน่นอนว่านอกจากจะมีเว็บไซต์ขายกันเฉพาะกลุ่มแบบนี้แล้ว ยังมีขายกันในแพลตฟอร์มดังๆ เช่น eBay ด้วย

คำถามสำคัญก็คือ Kinect มันจับปีได้จริงหรือ? หรือเป็นแค่ความผิดปกติของอุปกรณ์?

ในเรื่องนี้เคนนี บริดเดิล (Kenny Biddle) แห่งเว็บไซต์นิตยสาร Skeptical Inquirer อธิบายว่า สิ่งที่เรียกว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นจริงๆ แล้วไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นการใช้ผิดวิธีโดยพวกนักล่าผีต่างหาก!

เพราะ Kinect ออกแบบมาให้ติดตั้งด้านบนหรือด้านล่างหน้าจอโทรทัศน์ ประมาณ 0.6 - 1.8 จากพื้นแต่ยิ่งสูงยิ่งดี มันถูกออกแบบมาเพื่อทำงานบนที่ตั้งเสถียรไม่ใช่ถือไปถือมา และยังต้องมีระยะห่างที่เหมาะสมที่จะจับความเคลื่อนไหวของผู้เล่น ไม่เช่นนั้นมันจะประมวลผลพลาด นั่นคือประมาณ 3 เมตร

เพราะ Kinect เกิดข้นจากการประมวลผลภาพความเคลื่อนไหวของมนุษย์ในสถานที่ต่างๆ นับหมื่นนับแสนแห่งแล้วใช้อัลกอริธึมประเมินความเคลื่อนไหวของคนในมุมต่างๆ แต่มันจะทำงานพลาดถ้าไปจับความเคลื่อนไหวอะไรที่คล้ายรูปร่างคนเข้า แม้ว่ามันจะไม่เหมือนคนแต่ซอฟแวร์จะประเมินว่ามันอาจเป็นคนแล้วเติมแขนขาให้จนกลายเป็นรูปโครงร่างอย่างที่บางคนเชื่อว่าเป็นผี

ดังนั้น ที่เราเห็นบางรายการนำ Kinect ไปถ่ายนอกสถานที่โดยเฉพาะตามต้นไม้ระเกระกะ อุปกรณ์ก็จะคิดว่าเป็นรูปร่างคนแล้วประมวลผลออกมาให้คนคิดว่าเจอผีเข้าให้แล้ว หรือถ้าไม่เห็นผู้ใช้แบบเต็มตัวเครื่องก็จะเดารูปร่างออกมา จนประมวลออกมาให้เข้าใจว่าเป็น "ผี" ไปอีกเช่นกัน เช่นเมื่อผู้เล่นนั่งลงหรือย่อตัวลงในจอ มันก็จะมวลผลเป็นรูปโครงร่างเล็กๆ ที่บางคนคิดว่าเป็น "ผีเด็ก"

เราจะต้องไม่ลืมว่าผียังเป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ อย่างน้อยก็ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการจับผีจึงเป็นเพียงแค่การ "สรุปเอาเอง" ว่าสิ่งที่เห็นหน้าจอคือของจริง โดยไม่ได้มีการตรวจสอบ ทดลอง ทบทวนตามกระบวนการวิทยาศาสตร์

นักจับผียังมีแนวโน้มที่จะเชื่อเอาไว้ก่อนและเชื่อมั่นกับอุปกรณ์ของตัวเองอย่างมากกว่าใช้การได้จริง ในต่างประเทศ นักจับผีให้ความสำคัญกับอุปกรณ์มากจนเรียกได้ว่า "เป็นนักจับผีต้องมีแกตเจ็ต" แต่พวกเขาไมได้มีเวลามาชำแหละความน่าเชื่อถือของแกตเจ็ตตัวเองสักเท่าไร

ยิ่งเมื่อความปลอมของเครื่องจับผีมาพบกับการปลอมประวัติศาสตร์และจินตนาการฟุ้งเฟื่องของบางคน

มันยิ่งทำให้คนหัวอ่อนเชื่อไปแล้วว่าสิ่งที่เห็นคือของจริง

ภาพประกอบจาก Ghost skeleton sur pc et kinect