posttoday

คุ้มไหมที่ขย้ำฮ่องกงในกำมือ เดิมพันระดับล้านล้านของจีน

01 กรกฎาคม 2563

โจชัว หว่องบอกว่าฮ่องกงไม่มีทางมั่งคั่งได้ หากปราศจากอำนาจปกครองตนเอง

1. ทันทีที่คณะกรรมาธิการถาวรแห่งสภาประชาชนจีนมีมติเป็นเอกฉันท์ ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง สิ่งที่ภาคธุรกิจกลัวมาตลอดก็เกิดขึ้นแทบจะในทันที เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศยุติสถานะพิเศษทางเศรษฐกิจของฮ่องกงอย่างที่ขู่มาตลอด แต่จีนไม่แคร์และสีจิ้นผิงก็ไม่รีรอจัดการลงนามในวันเดียวกันนั้น เป็นการตอบโต้แบบทันตาราวกับว่ากำลังวัดเชิงมวยกันว่าใครจะแน่กว่าใคร

2. สถานะพิเศษนี้เป็นตัวบทกฎหมายที่ชื่อ Hong Kong Policy Act ซึ่งสหรัฐผ่านออกมาในปี 1992 เพื่อปฏิบัติต่อฮ่องกงให้ต่างจากแผ่นดินใหญ่ในแง่การส่งออกและเรื่องเศรษฐกิจทั้งหลายทั้งปวง ในแง่หนึ่งเป็นการเตรียมตัวของสหรัฐที่จะค้าขายกับฮ่องกงต่อไปหลังจากที่ฮ่องกงกลับสู่จีนในปี 1997

3. แต่มีข้อแม้ว่าตราบใดที่ฮ่องกงยังมีอำนาจปกครองตนเอง กฎหมายนี้จะไม่ถูกแก้ และสหรัฐจะปฏิบัติต่อฮ่องกงตามข้อตกลงระหว่างประเทศโดยไม่สนใจว่าจีนจะมีส่วนร่วมหรือไม่ (ซึ่งเท่ากับว่าไม่เห็นหัวจีนนั่นเอง) แต่หากฮ่องกงเสียอำนาจปกครองตนเองไป ประธานาธิบดีสหรัฐมีอำนาจให้ทบทวนได้

4. ข้อสำคัญอีกเรื่องก็คือมีสินค้าส่งออกจากสหรัฐบางประเภทที่เป็นสินค้าเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงบหรือไปใช้ในการสงครามได้ สหรัฐตั้งเงื่อนไขว่าฮ่องกงจะต้องปกป้องไม่ให้มีการนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ในทางไม่เหมาะสม ในแง่หนึ่งเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีเหล่าตกอยู่ในมือจีนนั่นเอง ดังนั้นสหรัฐจำย้ำนักย้ำหนาว่า ตราบใดที่ฮ่องกงมีอำนาจปกครองตนเองก็ยังค้าขายกันต่อไปได้อย่างเสรี

5. สถานะพิเศษนี้ดูเหมือนจะเป็นอานิสงส์แก่จีนด้วยเพราะก่อนที่จีนจะรุ่งเรืองเหมือนทุกวันนี้ จีนใช้ฮ่องกงเป็นเมืองท่าระบายและรับสินค้าและใช้เป็นที่ดูดเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นสถานะพิเศษที่สหรัฐมอบให้ฮ่องกงน่าจะเป็นสิ่งที่จีนชอบอยู่ลึกๆ แต่ในฉากหน้าจีนไม่พอใจ Hong Kong Policy Act อย่างมากเพราะมันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในกันชัดๆ

6. จีนไม่พอใจเรื่องนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 เราจึงคาดเดาได้ว่าเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสมที่จีนพร้อมยืนอยู่บนลำแข้งตัวเองและไม่ต้องพึ่งฮ่องกงกง จีนจะไม่แยแสถ้าสหรัฐจะถอนสถานะพิเศษของฮ่องกง จีนรอโอกาสนี้มานานถึง 20 กว่าปี ในช่วงนี้จีนสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นมหาอำนาจขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับที่เกิดเมืองที่เป็นตัวตายตัวแทนฮ่องกงหลายแห่ง

7. จนกระทั่งจีนใหญ่ขึ้นจนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอย่างไม่อาจเลี่ยงได้อีกต่อไป พร้อมกับที่ฮ่องกงโรยราและเกิดกระแสต่อต้านจีนมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นหอกข้างแคร่ของจีน การประท้วงใหญ่ในฮ่องกงปี 2019 ทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องขยับครั้งแรกด้วยการผ่านกฎหมาย Hong Kong Human Rights and Democracy Act เพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่ฮ่องกงและจีนที่บั่นทอนสิทธิมนุษยชน

8. สหรัฐขยับรอบที่สองเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เมื่อไมค์ พอมพีโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐบอกว่าฮ่องกงไม่มีอำนาจปกครองตนเองอีกต่อไป ทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่าสหรัฐคงจะถอนสถานพิเศษของฮ่องกงในเร็วๆ นี้ แล้ว

9. สหรัฐขยับรอบที่สามในวันที่ 25 มิถุนายน เมื่อวุฒิสภาผ่านกฎหมาย Hong Kong Autonomy Act เพื่อเอาผิดกับบุคคลใดก็ตามที่ละเมิดปฏิญญาร่วมจีน-สหราชอาณาจักรเกี่ยวกับสถานะฮ่องกงและรัฐธรรมนูญฮ่องกง และยังเอาผิดธนาคารที่ทำธุรกิจกับคนที่ล่วงละเมิดเหล่านั้นด้วย

10. คำถามก็คือสหรัฐมีสิทธิที่จะไปกะเกณฑ์อำนาจปกครองตนเองของฮ่องกงตั้งแต่เมื่อไร? แถมยังล่วงล้ำไปถึงปฏิญญาร่วมจีน-สหราชอาณาจักรซึ่งไม่ใช่ปฏิญญาที่ตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้องอะไรด้วยเลย การทำเช่นนี้ยิ่งทำให้จีนมีความชอบธรรมยิ่งขึ้นที่จะกล่าวหาสหรัฐว่าแทรกแซงกิจการภายใน

11. จนกระทั่งจีนผ่านความเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในวันที่ 30 มิถุนายน สหรัฐจึงขยับรอบที่สี่ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศระงับสถานะพิเศษของฮ่องกง และหากพิจารณาลดสถานะพิเศษของฮ่องกงต่อไปอีก และจะระงับการส่งออกสินค้าเกี่ยวกับความมั่นคงไปยังฮ่องกงในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับขู่ให้จีนรีบเปลี่ยนใจในทันที

12. แน่นอนว่าจีนไม่มีวันเปลี่ยนใจ เพราะนี่คือโอกาสที่สุกงอมเต็มที่ที่จะกำจัดสถานพิเศษที่บั่นทอนเกียรติภูมิของประเทศเอกราชไปให้พ้นๆ เสียที อย่างที่เกริ่นไว้ว่าจีนไม่ได้พอใจกับสถานะพิเศษที่สหรัฐยัดเยียดให้เพราะมันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในกันเห็นๆ

13. ในแง่หนึ่ง การที่สหรัฐปฏิบัติต่อฮ่องกงเหมือนกับจีนทุกอย่างในทางเศรษฐกิจ เท่ากับยอมรับว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่โดยบริบูรณ์แล้ว หากจีนไม่เสัยดายเงินที่จะหายไป (ไม่ใช่น้อย) จีนก็ควรจะดีใจว่าตอนนี้ฮ่องกงไม่ได้ถูกปฏิบัติราวกับเป็น "ประเทศ" ที่เป็นเอกเทศจากจีน

14. ในฉากหน้าดูเหมือนว่าสหรัฐกำลัง "ลงโทษ" จีน แต่เมื่อเราดูกันอย่างละเอียดจะพบว่าสถานะพิเศษนี้ครอบคลุมภาคการผลิตเป็นหลัก ซึ่ง เคิร์ท ทอง (Kurt Tong) อดีตกงสุลของสหรัฐในฮ่องกงกล่าวกับรอยเตอร์ว่า ฮ่องกงไม่ใช่ดินแดนที่เน้นอุตสาหกรรมพวกนี้แล้ว หลายปีที่ผ่านมาฮ่องกงผันตัวเองมาเป็นภาคบริการ-การเงิน

15. ปัญหาที่จะตามมาคือภาคการผลิตของจีนที่ระบายสินค้าผ่านทางฮ่องกงไปยังสหรัฐจะต้องเสียภาษีมากขึ้น แค่เรื่องนี้จีนก็คงเตรียมตัวเตรียมใจอยู่แล้วเพราะมันคือเงื่อนไขหนึ่งของสงครามการค้า นี่นับเป็นเรื่องเล็กๆ เนื่องจากจีนปรับทิศทางการค้าขายใหม่โดยมาเน้นการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก

16. แต่ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีผลเสียมหาศาล Bloomberg Intelligence ประเมินว่าธนาคารขนาดใหญ่ของจีนมีความเสี่ยงที่จะถูกเล่นงานฐานทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล หากสหรัฐเล่นงานด้วยการใช้ Hong Kong Autonomy Act หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นจะสร้างความสั่นคลอนต่อกองทุนมูลค่า 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน เพราะสหรัฐจะห้ามธนาคารจีนเข้าถึงตลาดการเงินสหรัฐ

17. ธนาคารชั้นนำของจีนที่อาจจะถูกเล่นงานคือธนาคารดังๆ และมีชื่อเสียงระดับโลกทั้ง 4 แห่ง คือ Industrial & Commercial Bank of China Ltd., China Construction Bank Corp., Bank of China Ltd. และ Agricultural Bank of China Ltd ธนาคาที่เสี่ยงที่สุดคือ ICBC ไม่เฉพาะในจีน ธนาคารสัญชาติอื่นๆ ที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่จีนและคนในครอบครัวก็จะถูกสหรัฐเล่นงานไปด้วย

18. สหรัฐเคยเล่นงานภาคธุรกิจที่ไปเอี่ยวกับประเทศศัตรูของสหรัฐมาแล้ว เช่น ปี 2562 ธนาคาร Standard Chartered Plc ต้องเสียค่าปรับ 600 ล้านเหรียญสหรัฐเพราะไปทำธุรกรรมกับเมียนมา, คิวบา, อิหร่าน ซูดาน และซีเรีย และเมื่อปี 2014 บริษัท BNP Paribas SA เคยถูกเล่นงานหนักที่สุดฐานทำธุรกิจกับประเทศที่สหรัฐขึ้นบัญชีดำถูกปรับเป็นเงินถึง 8,900 ล้านเหรียญสหรัฐ

19. แต่ในโลกที่ทุกอย่างโยงใยเข้าด้วยกัน มาตรการคว่ำบาตรแบบที่สหรัฐชอบใช้มันได้ผลเฉพาะประเทศ "ปิด" เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน หรือแม่แต่เมียนมา  ทว่ากับประเทศที่เศรษฐกิจของสหรัฐเกี่ยวข้องแบบแยกไม่ออกอย่างจีน ยิ่งสหรัฐคว่ำบาตรสหรัฐยิ่งจะเจ็บตัวเอง และเป็นอีกครั้งที่มีเสียงเตือนในทำนองนี้ แต่สหรัฐไม่ยอมฟัง

บทความโดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP