posttoday

"ไลฟ์โค้ช" อาชีพทำเงิน 6 หลักที่เฟื่องฟูที่สุด

29 มิถุนายน 2563

จากกรณีฌอน บูรณะหิรัญทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า "ไลฟ์โค้ชคือใคร ทำแล้วรวยไหม?"

1. คำถามสั้นๆ ที่หลายคนอาจจะอยากรู้ในช่วงเวลาที่เกิดกรณีของฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชชื่อดังที่โดนขุดคุ้ยไม่หยุดหย่อนหลังจากถูกกระหน่ำจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก โทษฐานไปชมพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณว่า "น่ารัก"

2. จากการชื่นชม "บิ๊กป้อม" นำไปสู่การกล่าวหาต่างๆ นานาต่อฌอน บูรณะหิรัญ โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสของเงินบริจาคสู้ไฟป่าเชียงใหม่ที่ฌอนขันอาสารับหน้าที่เป็นผู้ระดมทุนจากผู้ติดตามและประชาชนทั่วไป จากนั้นยังเกิดเรื่องทวงถามเงินค่าใช้บริการไลฟ์โค้ชที่ลูกค้าบางคนรู้สึกผิดหวัง ที่ไม่ได้อะไรเต็มเม็ดเต็มหน่วยจากการสัมมนา

3. เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับความอู้ฟู่ของอาชีพไลฟ์โค้ช เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคนทำอาชีพไลฟ์โค้ชไม่ได้รับประกันว่าทุกคนผ่านการโค้ชชิ่งแล้วจะรวย และการเป็นไลฟ์โค้ชดังๆ ไม่ได้แปลว่าจะต้องสร้างกรณีอื้อฉาวเสมอไป (เหมือนกรณีผู้กองเบนซ์หรือครูอ้อย) และในต่างประเทศอาชีพนี้เป็นที่นิยมกันมากในหมู่ภาคธุรกิจ

4. ไลฟ์โค้ชคืออะไร? พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionary) ให้คำจำกัดความของไลฟ์โค้ชว่าคือ “บุคคลที่ทำหน้าที่แนะนำและสนับสนุนลูกค้าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชีพหรือความท้าทายส่วนตัว”

5. บางคนบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องเสียเงินมากๆ ให้กับไลฟ์โค้ชเพราะคนเหล่านี้แค่ขึ้นมาพูดในเรื่องที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้ว บางคนอาจจะลอกคำคมจากหนังสือมาพูดซ้ำแล้วรับเงินไปง่ายๆ กัน บางคนถึงกับบอกว่าไลฟ์โค้ชที่ดีที่สุดคือ "แม่" ของเรา 

6. ปัญหาสำคัญของไลฟ์โค้ชคือใครจะมาทำอาชีพนี้ก็ได้ ไม่ต้องมีดีกรีปริญญาสูงล้ำหรือไม่ต้องขอใบอนุญาตจากใคร ดังนั้นไลฟ์โค้ชจึงต่างจาก "วิชาชีพ" อื่นๆ ที่ทำงานคล้ายๆ กันเช่น นักบำบัด, ที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือนักจิตวิทยา

7. สิ่งที่ต่างจาก "ที่ปรึกษาทางใจ" ก็คือไลฟ์โค้ชจะเน้นกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพผลผลิตขององค์กรหรือตัวบุคคลนั้นๆ หรือพูดง่ายๆ คือปลุกเร้าให้ขยันแล้วหาเงินให้มากขึ้น

8. เรื่องสรรพคุณนี้ Institute of Coaching อ้างว่ากว่า 70% ของบุคคลที่ผ่านการโค้ชชิ่งมีประสิทธิภาพการทำงานและความสัมพันธ์ดีขึ้น และบริษัทยักษ์ใหญ่ 86% "รู้สึกว่า" เมื่อจ้างโค้ชมาสอนพนักงานแล้ว สามารถทำรายได้มาทบค่าใช้จ่ายด้านนี้แล้วยังมีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย พูดง่ายๆ คือคุ้่มทันและยังมีกำไรกลับมา

9. ความที่โค้ชชิ่งใกล้เคียงกับงานด้านจิตวิทยา ดังนั้นสถาบันโค้ชชิ่งชั้นนำของโลก คือ Institute of Coaching จึงเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวกับจิตวิทยาโดยตรง โดยเป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาลแมคลีน (McLean Hospital) อันป็นโรงพยาบาลจิตเวชในสังกัดของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

10. Institute of Coaching พยายามทำให้การโค้ชชิ่งเป็น "ศาสตร์" ที่เชื่อได้ถือและมีการออกใบรับรองให้กับผู้เข้ารับการอบรม ดังนั้นจึงสามารถแก้ปัญหาเรื่องใครก็ไม่รู้มาทำอาชีพโค้ชชิ่ง และยังทำให้อาชีพโค้ชชิ่งสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น "วิชาชีพ" หรือ professional ได้

11. งานที่เป็น professional นั้นจะต้องเป็นอาชีพที่ผ่านการศึกษาและการฝึกฝนแบบมาตรฐานและต้องมีทักษะพิเศษ และที่สำคัญอาชีพที่เป็น professional จะต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณอย่างเข้มงวด และมีพันธะผูกพันด้านศีลธรรม

12. หมายความว่าโค้ชจะไป "คุยฟุ้ง" หรือ "โม้" เพื่อหาเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความรับผิดชอบต่อลูกค้าและสังคมอย่างมากด้วย

13. หากไลฟ์โค้ชไม่มีความเป็น professional ก็เป็นได้แค่คนขายฝันที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจอะไรเลย หนักเข้าอาจถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกสิบแปดมงกุฏเอาง่ายๆ

14. นี่คือหนึ่งในเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับไลฟ์โค้ช ไม่เฉพาะแต่คนทั่วไป แม้แต่ไลฟ์โค้ชบางคนเองก็ฉวยโอกาสใช้คำว่า "ไลฟ์โค้ช" เพื่อกอบโกยจนทำลายความน่าเชื่อถือของอาชีพนี้

15. ไลฟ์โค้ชจึงเป็นอาชีพที่เต็มไปด้วยเรื่องเข้าใจผิดมากมาย เพราะ "บางคน" มีพฤติกรรมทำให้คนอื่นเข้าใจผิดมหันต์ เช่น ไลฟ์โค้ชต้องมีจุดขายอย่างการพูดคำหยาบ ไลฟ์โค้ชจะต้องโลกสวยจนไม่ติดอยู่กับความจริง และไลฟ์โค้ชบางคนชวนนั่งสมาธิลูกเดียวแล้วชวนเชื่อว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตได้ แบบนี้ไม่น่าจะใช่ไลฟ์โค้ชมืออาชีพ (professional life coaching)

16. รอเบิร์ท แพกเลียรินี (Robert Pagliarini) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินได้เขียนบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "มายาคติ" (หรือเรื่องเข้าใจผิด) เกี่ยวกับไลฟ์โค้ชเอาไว้และค่อนข้างได้รับความนิยมในหมู่ผู้อ่าน เช่นบทความเรื่อง "10 เรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับไลฟ์โค้ชมืออาชีพ"

17. แพกเลียรินีบอกว่า ไม่ใช่ไลฟ์โค้ชทุกคนที่เป็น professional และทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ นั่นก็เพราะปัญหาใหญ่ของอาชีพนี้ก็คือใครๆ ก็มาเป็นได้ ใครๆ ก็อ้างได้ว่าตัวเองเป็น professional

18. ไลฟ์โค้ชอาจดูอบอุ่นละมุนละไมเหมือนเพื่อนหรือคนใกล้ชิด แต่แพกเลียรินีบอกว่า "โค้ชของคุณอาจจะเป็นมิตร แต่พวกเขาไม่ใช่มิตรของคุณ" เพราะหน้าที่ของโค้ชคือผลัดดันคุณไปสู่เป้าหมายแม้ว่าจะต้องใช้วิธีที่คุณอาจรู้สึกไม่สบายใจ

19. แต่มีสิ่งที่ต้องจำไว้ก็คือ แพกเลียรินีบอกว่า "โค้ชแย่ๆ หรือไม่มีประสบการณ์มักจะบอกลูกค้าให้ทำโน่นทำนี่แล้วคอยให้คำแนะนำตลอดเวลา แต่โค้ชที่ดีจะไม่ทำอย่างนั้น" เพราะลูกค้าไม่ต้องการพ่อแม่คนที่สองที่มาคอยเจ้ากี้เจ้าการ ดังนั้นโค้ชที่ดีจึงต้องรู้วิธีในการเปลี่ยนอุปนิสัยลูกค้าเพื่อผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าเรื่องนี้ "ไม่ใช่ถูกๆ"

20. มาที่คำถามสำคัญ "ไลฟ์โค้ชทำแล้วรวยไหม?" นิตยสาร Forbes บอกว่าอาชีพนี้คือ "หนึ่งในอาชีพทำเงิน 6 หลักที่เติบโตเร็วที่สุดอาชีพหนึ่ง" 

21. เมื่อเราพูดถึงรายได้ระดับเลข 6 หลักเราหมายถึงเงินเหรียญสหรัฐไม่ใช่เงินบาท หรือหากจะแปลงเป็นเงินบาทมันจะสูงถึงหลักล้าน และนี่ยังเป็นคำกล่าวเมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้วอีกด้วย 

22. ในสหรัฐ การโค้ชระดับผู้บริหาร (Executive coaching) อาจทำรายได้สูงถึง 3,500 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 108,000 บาท) แต่ถามว่าคุ้มไหม? ต้องมาดูที่สถิติของ MatrixGlobal ที่สำรวจบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำ 500 แห่งในนิตยสาร Fortune พบว่าการโค้ชระดับนี้มีผลตอบแทนจากการลงทุนถึง 529%

23. แต่โค้ชทั่วไปคิดค่าบริการราวๆ 190 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง รวมๆ แล้วปีหนึ่งมีรายได้ 62,000 เหรียญสหรัฐ ถือเป็นรายได้ที่ไม่ธรรมดา เพราะคนอเมริกันเฉลี่ยทำเงินได้ 27.16 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมงปีหนึ่งๆ ได้ 31,099 เหรียญสหรัฐต่อปี

24. ส่วนรายได้เฉลี่ยของไลฟ์โค้ชทั่วโลกจากสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐ (BLS) พบว่าอยู่ที่ 27,019 - 210,933 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 834,000 - 6,510,000 บาท) ส่วนตัวเลขของสหพันธ์โค้ชนานาชาติ (International Coach Federation) อยู่ที่ 51,000 เหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,575,000 บาท)

25. แค่โค้ชธรรมดาก็ถือว่าทำเงินไม่ใช่น้อยแล้ว ยังไม่นับโค้ชระดับตัวท็อป เช่น ในเมืองไทยก็เช่นคุณฌอน บูรณะหิรัญ หรือ "ครูอ้อย" ฐิตินาถ ณ พัทลุง

26. แพกเลียรินีบอกว่าด้วยเงินขนาดนี้ "ถ้าไม่มีคนโง่สุดๆ ที่ผลาญเงินเล่นไปกับการโค้ชชิ่งในแต่ละเดือน ไม่งั้นก็เป็นเพราะคนเหล่านี้ได้ผลลัพธ์ที่อย่างน้อยคุ้มการลงทุนไปกับการจ้างโค้ช"

27. ดังนั้นในทัศนะของแพกเลียรินี จึงมีคน 2 ประเภทที่ใช้บริการโค้ชชิ่งคือ 1. คนที่ "really stupid" (โง่มากๆ) กับ 2. คนที่ "getting results" (ได้ผลเรื่อยๆ) ดังนั้นลูกค้าหรือผู้ติดตามโค้ชทั้งหลายต้องถามใจตัวเองว่าเราเป็นคนประเภทไหนหลังจากผ่านการกล่อมเกลาโดยโค้ชต่างๆ ทั้งที่เป็นตัวจริงและตัวปลอมกันแล้ว

ภาพจากคลิปที่สร้างปัญหาให้ฌอน บูรณะหิรัญ จากเพจ Sean Buranahiran - ฌอน บูรณะหิรัญ