posttoday

ไทยคุมโควิดได้ดี แต่ทำไมถึงไม่มีใครชื่นชม?

17 มิถุนายน 2563

ความร่วมมือของคนไทยและความอุตสาหะของบุคคลากรทางเแพทย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โรคระบาดไม่รุนแรง แต่ทำไม่ถึงไม่มีใครชื่นชมไทยในเรื่องนี้?

ในสายตาของคนทำข่าวต่างประเทศตลอดเกือบ 6 เดือนที่มีการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยเลยในการควบคุมโรคไม่ให้ขยายวงกว้าง ยิ่งเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียด้วยแล้วถือว่าผลงานของไทยนั้นดีมาก

แต่แปลกที่ไม่ค่อยมีสื่อต่างชาติยกย่องความสำเร็จของไทย

มีบทความในสื่อต่างประเทศไม่กี่แห่งที่ชื่นชมไทย เช่น บทความของ Shawn W. Crispin เรื่อง "เรื่องราวความสำเร็จเกี่ยวกับโควิด-19 ของไทยที่ไม่มีใครรู้" เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ชี้ว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมใจของคนไทยที่ปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคด้วยดี และระบบสาธารณสุขที่ครอบคลุม

แต่บทความนี้ชี้ว่าข้อด้อยของไทยคือไม่มีการตรวจเชื้อที่ครอบคลุมและเป็นระบบ จุดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยว่าไทยปิดข่าว แต่เมื่อดูจากเงื่อนไขแวดล้อม เช่น โรงพยาบาลที่ไม่มีคนไข้แออัด หรือสื่อที่ค่อนข้างเสรี และโลกโซเชียลที่เสรียิ่งกว่าเอามากๆ ก็ต้องยอมรับว่าไทยไม่มีการปิดข่าว

แต่คำชมไทยก็มีเท่านี้ แถมยังเป็นคำชมที่ไว้เชิง คือไม่ยอมชมแบบเต็มที่เพราะยังสงสัยว่าไทยไม่น่าจะเก่งขนาดนี้

ตรงกันข้ามในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน สื่อต่างประเทศชมเชยว่าสิงคโปร์ประสบความสำเร็จและเป็นโมเดลตัวอย่าง จนกระทั่งสถานการณ์เปลี่ยนไปเสียงชมก็กลายเป็นความกังขาที่สิงคโปร์มีผู้ติดเชื้อมากมาย แต่ก็ไม่ยักมีใครตำหนิว่าสิงคโปร์ล้มเหลว

ที่น่าตกใจก็คือถึงขนาดนี้แล้วยังมีสื่อนอกบางแห่งยังกล้าชมเชยว่าสิงคโปร์รับมือการระบาดได้ดีที่สุดในโลก เช่นบทความใน Time ที่ชื่นชมสิงคโปร์เสียหยดย้อย และยังจัดอันดับประเทศที่มีการติดเชื้อพอๆ กับไทยแต่มีผู้เสียชีวิตมากกว่าไทยอย่างกรีซให้อยู่ในระดับดีเยี่ยมด้วย

ในกรณีของสิงคโปร์นั้นยังเกิดความกังขาขึ้นในเมืองไทยเมื่อบริษัท Deep Knowledge Group หรือ DKG จัดให้อันดับให้สิงคโปร์อยู่ในกลุ่มรับมือการระบาดได้ดีมาก หรือ Tier1 ส่วนไทยอยู่ในระดับ Tier3 เกือบจะบ๊วย (Tier4) อยู่แล้ว จึงเป็นการตัดสินที่ค้านสายตาคนไทยเป็นอย่างมาก

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยเท่านั้น เมื่อเดือนเมษายนนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลโพสต์เฟซบุ๊คอวดว่าอิสราเอลปลอดภัยที่สุดในโลกระหว่างการระบาดโควิด-19 โดยอ้างข้อมูลจาก DKG แต่กลับถูกสื่อและประชาชนตั้งข้อสังสัยว่าองค์กรนี้มันน่าเชื่อถือหรือ?

ปรากฎว่า DKG มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือและมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี่, การลงทุนเงินตราต่างประเทศ และการลงทุนอื่นๆ มากกว่าจะเป็นหน่วยงานด้านบิ๊กดาต้าทางสังคม ที่สำคัญคือเว็บไซต์ขององค์กรยังระบุว่า "DKG ไม่รับผิดชอบใดๆ กับความถูกต้องหรือความสมบูรณ์ของข้อมูลเหล่านั้น"

และ "เราเชื่อว่าเนื้อหาของเว็บไซต์นี้มีความถูกต้องสมบูรณ์และทันเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการรับประกันความถูกต้อง สมบูรณ์ หรือทันเหตุการณ์ของเนื้อหา มันเป็นความรับผิดชอบของคุณในการตรวจสอบข้อมูลใดๆ ก่อนที่จะเชื่อถือมัน"

เป็นไปได้หรือไม่ว่าบางประเทศพยายามซื้อพื้นที่ข่าวเพื่อโปรโมทตัวเองทั้งๆ ที่ตัวเองทำล้มเหลว หากเป็นแบบนั้นก็เท่ากับเป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่ออำพรางความจริงอย่างหนึ่ง

หรือไม่บางประเทศที่สื่อถูกควบคุมโดยรัฐก็พยายามประโคมว่าประเทศตัวเองควบคุมการระบาดได้สำเร็จ ทั้งๆ ที่ระบอบการปกครองของประเทศนั้นไม่เอื้อให้มีการตรวจสอบ ขาดความโปร่งใส และมีการลงโทษผู้เห็นต่างจากรัฐบาลแม้แต่ในช่วงที่เกิดการระบาด

ที่น่าวิตกคือบางประเทศมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อที่จะ "บลั๊ฟ" ประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด

ในภาพใหญ่เรายังเห็นการต่อสู้ระหว่าง "โมเดลเผด็จการ" กับ "โมเดลเสรีนิยม" เช่น มารีส เพน (Marise Payne) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียที่กล่าวหาจีนกับรัสเซียว่าทำสงครามข้อมูลข่าวสาร (infodemic) เพื่อที่จะบั่นทอนระบอบประชาธิปไตย โดยทำให้เห็นว่าประเทศประชาธิปไตยล้มเหลวในการควบคุมโควิด-19

เพนบอกว่า "เป็นเรื่องที่น่าขุ่นใจที่บางประเทศกำลังใช้การระบาดมาบั่นทอน (โมเดล) ประชาธิปไตยเสรีนิยมและโปรโมทโมเดลเผด็จการอำนาจนิยมของตัวเอง"

ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีรายงานว่ารัสเซียกับจีนเป็นตัวการปล่อยข่าวปลอมออกมาเพื่อบั่นทอนวิธีการควบคุมการระบาดตามโมเดลประชาธิปไตยและเพื่อทำให้สังคมแตกแยกแล้วสร้างภาพว่าตัวเองควบคุมการระบาดได้ดีกว่า

ไม่ว่ามันจะจริงหรือไม่ว่าก็ตาม เราจะเห็นว่าความสำเร็จและความล้มเหลวในการควบคุมโรคกลายเป็นอาวุธทางการเมืองไปแล้ว

แม้แต่ไทยเองก็อาจถูกลากเข้าไปร่วมในสงครามอุดมการณ์แบบนี้

วอลเดน เบลโล (Walden Bello) นักวิชาการชาวฟิลิปปินส์ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับสังคมไทยเรื่อง A Siamese Tragedy ได้เขียนบทความเรื่อง "ไทยควบคุมโควิด-19 อย่างไร?" โดยชี้ว่าในประเทศที่มีมรสุมทางการเมืองอย่างไทย สิ่งที่เป็นตัวแปรไม่ใช่ "โองการจากเบื้องบน" แต่เป็นระบบสาธารณสุขที่ประชาชนชื่นชม

เขาชี้ว่าการที่เอเชียคุมโควิด-19 ได้ดีว่าโลกตะวันตกทำให้มีคนสรุปว่าเพราะเอเชียมีรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมมากกว่า ส่วนไทยก็มีรัฐบาลที่เต็มไปด้วยอิทธิพลทหาร ทำให้ถูกมองได้ง่ายๆ ว่าใช้โมเดลเผด็จการแบบจีน

แต่เบลโลบอกว่าการมองแบบนี้มันผิวเผินไป เพราะแม้รัฐบาลไทยจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คนที่สู้ในสงครามกับโควิด-19 นั้นคือบุคลากรทางการแพทย์โดยใช้วิธีโน้มน้าวให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ บุคคลากรเหล่านี้รวมถึงผู้คนระดับรากหญ้าตามหมู่บ้านต่างๆ ด้วย

รัฐบาลไทยอาจไม่มีเวลามาโฆษณาความสำเร็จของตัวเอง ในแง่หนึ่งมันยังไม่อาจเรียกว่าเป็นความสำเร็จได้เพราะไม่รู้ว่าโรคมันจะหายไป 100% เมื่อไรกันแน่ อีกด้านหนึ่งการทำแบบนั้นจะยิ่งทำให้รัฐบาลถูกคนในประเทศโจมตีว่า "เอาหน้า"

แต่เราต้องแยกระหว่างการทำดีเอาหน้าและความมีประสิทธิภาพจริงๆ

และในสังคมไทยแตกแยกรุนแรง เรายังอาจต้องแยกระหว่างคนในทำเนียบกับคนทำงานภาคสนาม และหากเกลียดคนในทำเนียบจนอยากให้ล้มเหลวก็เป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ไม่ควรลากเอาบุคคลากรที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำมาสนองจริตทางการเมืองของตัวเอง

ส่วนรัฐบาลควรจะโปรโมท "ความสำเร็จ" ของไทยในเวทีโลกให้มากกว่านี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในอนาคตหากโลกของเราพร้อมที่จะเปิดประตูให้กันอีกครั้ง

หรือหากยังไม่มองไปไกลขนาดนั้น การโปรโมทเรื่องราวในไทยให้โลกได้รับรู้ จะช่วยป้องกันการแทงข้างหลังของบางประเทศ ที่อาจจะยกตัวเองให้ดูดีแล้วบิดเบือนว่าไทยล้มเหลว

และยังช่วยกำหนดจุดยืนของไทยให้ชัดเจน ในเวลาที่มหาอำนาจกำลังชิงดีชิงเด่นกันเรื่องโมเดลเผด็จการหรือโมเดลประชาธิปไตย

อย่างมุมมองของวอลเดน เบลโลที่เห็นว่าไม่ใช่รัฐบาลที่บงการความสำเร็จ แต่เป็นเพราะความร่วมมือร่วมใจของคนไทย เป็นผลงานของบุคลากรทุกระดับชั้นรวมถึงคนในท้องถิ่น แสดงว่าไทยไม่ได้ใช้โมเดลบีบบังคับสั่งการอย่างเดียว แต่เป็นการตัดสินใจของประชาชนที่จะเลือกปฏิบัติตาม "คำแนะนำ" ด้วย

นี่ไม่ใช่เรื่องขำๆ แต่มันเป็นการชิงไหวชิงพริบในเวทีการเมืองโลก

การแถลงข่าวภาษาอังกฤษมันไม่พอเสียแล้ว จะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงรุกเพื่อทำให้ไทยเป็นประเทศในกลุ่มสำเร็จ ไม่ใช่ในกลุ่มล้มเหลว หรือในกลุ่มที่โลกลืม

หากไม่ทำเชิงรุกแบบนี้ อย่างเบาะๆ ไทยจะถูกโลกลืม อย่างแย่ที่สุดคือถูกใส่ร้ายจากบางประเทศว่าล้มเหลว

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Mladen ANTONOV / AFP