posttoday

เมื่อทรัมป์ไม่แคร์โลก เดินหน้าถอนตัวจากองค์กรนานาชาติต่อเนื่อง

12 มิถุนายน 2563

นโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์ กำลังจะทำให้สหรัฐโดดเดี่ยว

ท่าทีต่อองค์กรนานาชาติของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ยังร้อนแรงไม่หยุด ล่าสุดทรัมป์ได้จรดปากกาลงนามคำสั่งพิเศษ (executive order) อนุมัติการคว่ำบาตร อายัดทรัพย์สินและอสังหาริมทรัพย์ และห้ามเจ้าหน้าที่ของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนอาชญากรรมสงครามของทหารสหรัฐในอัฟกานิสถานเดินทางเข้าสหรัฐ

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ต้องย้อนไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ขณะนั้น ฟาทู เบ็นซูดา พนักงานอัยการของ ICC ขอเปิดการสืบสวนกรณีกองทัพสหรัฐก่ออาชญากรรมสงครามอิรักเมื่อปี 2003 และ 2004 ทำให้เมื่อปีที่แล้วทางการสหรัฐได้เพิกถอนวีซ่าของเบ็นซูดาเพื่อเป็นการตอบโต้ และจอห์น โบลตัน อดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของทรัมป์ ยังเคยข่มขู่ว่าสหรัฐจะคว่ำบาตร ICC ด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐจะไม่เคยลงนามเป็นรัฐภาคีของ ICC แต่ที่ผ่านมาสหรัฐให้ความร่วมมือในการสอบสวนคดีของ ICC และพลเมืองของสหรัฐก็อยู่ภายใต้อำนาจการสอบสวนของ ICC

ทว่าครั้งนี้สหรัฐยืนยันว่ามีกระบวนการสอบสวนและดำเนินคดีกับทหารหรือเจ้าหน้าที่หน่วยหน่วยข่าวกรองสหรัฐเองอยู่แล้ว

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เพราะนับตั้งแต่สาบานตนรับตำแหน่งตั้งแต่ต้นปี 2017 ทรัมป์พาสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงและองค์กรนานาชาติ และตัดงบประมาณที่ช่วยเหลือองค์กรเหล่านี้มาแล้วหลายครั้ง โดยมีครั้งที่สำคัญๆ ดังนี้

ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)

หลังนั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐไม่นาน ทรัมป์ก็ขอถอนตัวจาก TPP ทันทีภายใต้นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) เพื่อหวังจะดึงการจ้างงานกลับสู่สหรัฐ และยังวิจารณ์ว่าข้อตกลงนี้เป็นข้อตกลงที่แย่มากสำหรับสหรัฐ เพราะประเทศสมาชิกจะต้องตัดภาษีนำเข้าระหว่างกันภายในปี 2030 ซึ่งจะทำให้สินค้าจากประเทศอื่นหลั่งไหลเข้าสหรัฐอย่างไร้ข้อจำกัด

ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

เดือน มิ.ย. 2017 ทรัมป์ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่ปี 2015 ว่าจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส แต่ทรัมป์อ้างว่าภายใต้ข้อตกลงนี้ สหรัฐต้องแบกรับภาระทางการเงินและเศรษฐกิจมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนและอินเดีย จึงต้องถอนตัว แต่จะเจรจากลับเข้ากลุ่มอีกครั้งภายใต้เงื่อนไขใหม่ที่สหรัฐกำหนดขึ้น

ยูเนสโก (UNESCO)

เดือน ต.ค. 2017 สหรัฐประกาศถอนตัวจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หลังความสัมพันธ์ระหว่างกันตึงเครียดมาหลายปี เพราะสหรัฐกล่าวหาว่า UNESCO มีอคติกับอิสราเอล และคัดค้านที่ UNESCO ยอมรับให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐเอกราช

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน

เดือน เม.ย. 2018 ทรัมป์ตัดสินใจฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 2015 โดยอ้างว่าข้อตกลงนี้เอื้อประโยชน์ให้กับรัฐบาลของประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่านมากเกินไป แล้วคว่ำบาตรอิหร่านทันที เมื่อสหรัฐถอนตัว อิหร่านจึงกลับมาผลิตและสะสมยูเรเนียมอีกครั้ง

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC)

เดือน มิ.ย. 2018 นิกกี้ เฮลีย์ ทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติประกาศว่า สหรัฐจะถอนตัวจาก UNHRC เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีอคติ เอนเอียง และลบหลู่สิทธิมนุษยชน

องค์การอนามัยโลก (WHO)

เดือน พ.ค. 2020 ทรัมป์ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลกและตัดงบประมาณที่เคยช่วยเหลือไปให้องค์กรสาธารณสุขอื่นๆ แทน โดยให้เหตุผลว่า WHO รับมือการระบาดของ Covid-19 ภายใต้อิทธิพลของจีน และยังล้มเหลวในการปฏิรูปองค์กร