posttoday

ถ้ายุโรปไม่เอาด้วย ความหวังเล่นงานจีนของทรัมป์ก็ถึงทางตัน

11 มิถุนายน 2563

ความพยายามหาแนวร่วมในเวทีโลกเพื่อสกัดจีนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่อแววล้มไม่เป็นท่า เพราะยุโรปแสดงท่าทีชัดเจนว่ากำลังให้ความสนใจกับการรักษาความสัมพันธ์โดยเฉพาะทางการค้ากับจีนไว้มากกว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี แองเกล่า แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่ประกาศชัดเจนว่า ยุโรปมีผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์ที่ดีกับจีน และย้ำอีกครั้งในการปราศรัยเปิดตัวองค์กรคลังสมอง Konrad-Adenauer Stiftung ว่า จะให้ความสำคัญกับจีนเป็นอันดับแรกหลังจากตำแหน่งประธานสหภาพยุโรป (EU) หมุนเวียนมาถึงเยอรมนีในวันที่ 1  ก.ค.นี้

แมร์เคิลยังกล่าวอีกว่า แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศในยุโรปจะยังกังขาต่อท่าทีที่แข็งกร้าวของจีน แต่เยอรมนีจะยังคงรักษาความร่วมมือที่ดีกับจีนไว้ รวมทั้งจะทำให้สัญญาการค้าการลงทุนกับจีนบรรลุผล

คำพูดของผู้นำเยอรมนีเหมือนเป็นการทำลายความหวังของทรัมป์ที่จะใช้เวทีการประชุม G7 เพื่อสร้างพันธมิตรกดดันจีนอย่างจัง

หรือจะพูดง่ายๆ คือ ยุโรปมองว่าการประกาศเพิ่มสมาชิกกลุ่ม G7 แต่เพียงฝ่ายเดียวของทรัมป์เป็นการกระทำที่ขาดการไตร่ตรองที่มีมาต่อเนื่องนับตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายระเบียบโลกแบบพหุภาคีที่ผู้นำสหรัฐคนก่อนๆ พยายามสร้างขึ้นมาตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แม้ว่ายุโรปจะไม่เห็นด้วยกับจีนในประเด็นร่างกฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง แต่ทั้งสหภาพยุโรปและรัฐบาลยุโรปหลายประเทศได้พยายามถอยห่างออกจากการโจมตีจีนของสหรัฐ

อีกทั้ง โจเซพ บอร์เรลล์ ผู้แทนระดับสูงด้านนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป ยังย้ำกับ หวังอี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนว่า สหภพยุโรปไม่ต้องการก่อสงครามเย็นกับจีน

บทสรุปก็คือ การทำตามอำเภอใจของทรัมป์กรณีการเชิญเกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลียเข้าร่วมประชุม G7 เพื่อหวังขยายขนาดของกลุ่มเดิมมาใช้จัดการจีนจึงไม่มีชาติไหนในยุโรปร่วมหัวจมท้ายด้วย เพราะแต่ละประเทศต่างก็ให้ความสำคัญกับการรักษาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจโลกมากกว่า ในยุคหลังโควิดที่เศรฐกิจโลกสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

เรียบเรียงจาก Trump’s China policy at a cul-de-sac