posttoday

เบลเยี่ยมรื้ออนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ เพราะเป็นสัญลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ

10 มิถุนายน 2563

ราชานุสาวรีย์พระเจ้าเลออปอลที่ 2 อดีตกษัตริย์เบลเยี่ยมถูกทำลายหลายแห่ง จนท้องถิ่นต้องรื้อถอน

เมืองแอนต์เวิร์ป เมืองท่าสำคัญของเบลเยี่ยมทางเหนือของกรุงบรัสเซลล์ ได้รื้อถอนอนุสาวรีย์อายุ150ปีของสมเด็จพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม (Leopold II of Belgium) ออกจากพื้นที่จตุรัสกลางเมืองเมื่อวันอังคาร(9 มิ.ย.)ที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นจากที่ในช่วงหลายปีก่อนหน้านี้มี ชาวเบลเยี่ยมโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เคลื่อนไหวต่อต้านการมีอยู่ของอนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ผู้อื้อฉาวที่ใช้อำนาจเผด็จการปกครองภูมิภาคแอฟริกาจากการที่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เบลเยี่ยมเข้าปกครองประเทศคองโก

ประกอบกับกระแสประท้วงเหตุตำรวจสหรัฐสังหารนายจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีรายงานว่าบรรดาพระราชานุสาวรีย์และอนุสรณ์หลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าเลออปอลที่ 2 ถูกกลุ่มผู้ต่อต้าน พ่นสีทำลายในหลายแห่งทั้งอนุสาวรีย์ที่ตั้งในเมืองแอนต์เวิร์ป และในกรุงบรัสเซลล์

ภาพจากสถานีโทรทัศน์ ATV-Antwerp สื่อในท้องถิ่นเผยให้เห็นกลุ่มคนงานได้ใช้เครนยกพระราชานุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ซึ่งถูกพ่นสีแดงออกจากบริเวณที่เคยประดิษฐาน ขณะที่ช่วงสัปดาห์ที่แล้วราชานุสาวรีย์แห่งเดียวกันนี้เคยถูกจุดไฟเผามาแล้ว เช่นเดียวกับราชานุสาวรีย์แห่งอื่นๆที่ตั้งอยู่ในเมืองเกนต์ก็ถูกพ่นทำลายด้วยสีแดงเช่นกัน อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงอดีตกษัตริย์มือเปื่อนเลือดผู้เคยใช้อำนาจกดขี่ปกครองชาวคองโก ในฐานะรัฐอาณานิคมของเบลเยี่ยม จนมีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีชาวแอฟริกันผิวสีต้องเสียชีวิตภายใต้การปกครองของอดีตกษัตริย์เบลเยี่ยมนับล้านคน

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีชาวเบลเยี่ยมกว่า 65,000 คนร่วมกันลงชื่อเสนอเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของพระองค์ที่ประดิษฐานอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่ช่วงระหว่างการเดิมขบวนประท้วงเหตุจอร์จ ฟลอยด์ในกรุงบรัสเซลล์ ชาวเบลเยี่ยมนับ10,000 ได้รวมตัวรอบราชานุสาวรีย์ของอดีตกษัตริย์เลออปอลที่สอง ขณะที่บางคนได้ปีนขึ้นไปบนรูปปั้นดังกล่าวพร้อมโบกธงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก โดยอนุสาวรีย์ที่รื้อจากเมืองแอนต์เวิร์ปจะถูกนำไปเก็บรักษายังพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีนำออกจัดแสดงด้วยหรือไม่หลังการปรับปรุงเสร็จสิ้น

ทั้งนี้ แม้ช่วงเวลาที่เบลเยี่ยมปกครองคองโก จะนำความเป็น"อารยะ"มากมายมาสู่ประเทศในแถบแอฟริกาทั้งการวางรากฐานผังเมือง การสร้างถนน และสวนสาธารณะต่างๆซึ่งปัจจุบันกรุงกินชาซาเมืองหลวง ยังคงร่องรอยเชิงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับอดีตกษัตริย์เบลเยี่ยม แต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 พระเจ้าเลออปอลที่2 ซึ่งได้รับการช่วยเหลือจากเฮนรี มอร์ตัน สแตนลีย์ นักสำรวจชาวอังกฤษในแสวงหาทรัพยากรมากมายจากคองโก ทั้งงาช้าง สวนยาง รวมถึงใช้กองกำลังทหารรับจ้างแบ่งแยกกดขี่และค้าทาสจนมีชาวคองโกนับสิบล้านคนต้องสังเวยชีวิต จนนำไปสู่ขบวนการเรียกร้องปลดปล่อยคองโกเป็นเอกราช

เบลเยี่ยมรื้ออนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ เพราะเป็นสัญลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ

เบลเยี่ยมรื้ออนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ เพราะเป็นสัญลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ

เบลเยี่ยมรื้ออนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ เพราะเป็นสัญลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ

เบลเยี่ยมรื้ออนุสาวรีย์อดีตกษัตริย์ เพราะเป็นสัญลักษณ์เหยียดเชื้อชาติ